x close

จับสัญญาณ รู้ทัน มะเร็ง

มะเร็ง



จับสัญญาณ รู้ทัน"มะเร็ง" (ข่าวสด)

          เนื่องใน "วันมะเร็งโลก" 4 กุมภาพันธ์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และสมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดงานเสวนา "มะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อ" โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากสมาคมวิชาชีพแพทย์สาขาต่าง ๆ มาร่วมให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์

          ภายในงานมี นิทรรศการความรู้เรื่อง "5 ทำ 5 ไม่ ห่างไกลมะเร็ง" "7 สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็ง" รวมถึงบริการทางการแพทย์ อาทิ ชั่งน้ำหนัก วัดความดัน วัดดัชนีมวลกาย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก

          น.พ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเปิดงานว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาใหญ่ของโลก มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงถึง 7.6 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ การป้องกันมะเร็งจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากร้อยละ 40 ของมะเร็งทั้งหมด "ป้องกันได้"

          สัญญาณอันตราย 7 ประการเตือนล่วงหน้า ได้แก่ มีเลือดหรือสิ่งผิดปกติออกจากร่างกาย เช่น มีตกขาวมากเกินไป มีก้อนหรือตุ่มขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกาย และก้อนนั้นโตเร็วผิดปกติ มีแผลเรื้อรัง มีการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะผิดปกติ หรือเปลี่ยนไปจากเดิม เสียงแหบหรือไอเรื้อรัง กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปาน เช่น โตผิดปกติ ดังนั้น ควรตรวจและสำรวจร่างกายสม่ำเสมอ โดยควรให้แพทย์ตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง หรือหากพบอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

          รศ.พ.ญ.ดวงพร ทองงาม สมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร ว่า เป็นน้องใหม่ ในเรื่องของสาเหตุ ปัจจุบันเราคิดว่าเป็นเรื่องของอาหารและกรรมพันธุ์ แต่ความจริงมาจากโรคติดเชื้อที่เป็นกันอยู่เป็นสาเหตุสำคัญ เพราะมีเชื้อโรคและแบคทีเรียอยู่ชนิดหนึ่งที่มาจากอาหาร น้ำดื่ม ผักและผลไม้ที่ไม่สุกไม่สะอาดและไม่สด เมื่อกินเข้าไปจะได้รับเชื้อ เกิดกระเพาะอาหารอักเสบตามมา ทำให้ผิวกระเพาะอาหารมีการเปลี่ยนแปลงและกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด

          สาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร คือ เชื้อแบคทีเรีย อาหารเป็นเพียงปัจจัยเสริม แต่หากลดได้ก็จะดี โดยเฉพาะอาหารที่เค็มมาก เกลือเข้มข้น จะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ รวมถึงอาหารที่ทำด้วยสารเร่งเนื้อแดง ไส้กรอก แหนม กุนเชียง ส่วนอาหารเผ็ด อาหารหมักดองนั้น ไม่ทำให้เกิดมะเร็ง แต่เป็นความสัมพันธ์กับอาการไม่สบายในท้อง

          รศ.พ.ญ.ดวงพร กล่าวด้วยว่า มะเร็งกระเพาะอาหารไม่ได้เกิดกันได้ง่าย ๆ จะมีอาการเตือน อันดับแรก คือ น้ำหนัก อาการที่หนักขึ้นที่พบ คือ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ซีด ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ซึ่งเป็นระยะบานปลาย ส่วนใหญ่จะเจอกับคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ในผู้ที่อายุเกิน 40 ปี ให้ลองสังเกตว่าถ้ามีอาการไม่สบายในท้องเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ซื้อยากินและพบแพทย์มาแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้นใน 4 สัปดาห์ ให้พิจารณาพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองด้วยการเอกซเรย์ หรือส่องกล้องต่อไป ทั้งนี้ ควรเข้ามาตรวจคัดกรองให้เร็วที่สุด เพราะหากพบในระยะแรก สามารถผ่าตัดและจะอยู่ได้ยืนยาว หากมาระยะหลังที่กระจายมาก ๆ จะรักษาได้เพียงประคับประคองเท่านั้น

          สำหรับผู้รู้ตัวว่าเป็น มะเร็งในกระเพาะอาหาร แล้วนั้น อันดับแรกต้องยอมรับและทำใจก่อนว่าเป็นมะเร็งต้องต่อสู้ เมื่อรักษาอย่างถูกต้องต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ปฏิบัติตัวเหมาะสม ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอก็จะทำให้ร่างกายดีขึ้น

มะเร็ง




          น.พ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล สมาคมมะเร็ง นรีเวชแห่งประเทศไทย ให้ความรู้ในเรื่องมะเร็งปากมดลูก ว่า ร้อยละ 99 เกิดจากเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่มีคนเป็นมากอันดับ 1 เมื่อ 7 ปีที่แล้ว

          ทุก ๆ 1 ปี มีคนไข้ใหม่ 6 พันกว่าคน เสียชีวิตครึ่งหนึ่งเสมอ เฉลี่ย 7 วันต่อคน ในปี 2007 เฉลี่ย 9 รายต่อวันที่เสียชีวิต การติดเชื้อนั้น มาจากการสัมผัสทางผิวหนังที่ง่ายที่สุด นั่นคือเพศสัมพันธ์ แต่ผู้ที่ไม่มีเพศสัมพันธ์ก็สามารถติดเชื้อได้เหมือนกัน แต่โอกาสจะน้อย แต่ถ้าไม่สบายใจอยากตรวจสักครั้งในชีวิตตอนอายุ 35 ขึ้นไปก็ได้ เพื่อความสบายใจ โดยทั่วไปควรไปตรวจทุก ๆ 5 ปี ถ้าไปตรวจทุก 2-3 ปีได้ก็จะดี

          ถ้าเรามีผู้หญิง 1 ล้านคนที่ติดเชื้อ HPV ก็จะมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ไปตรวจมะเร็งปากมดลูก แค่ร้อยละ 0.8 ที่จะเกิดระยะก่อมะเร็งหรือ 1,600 คนเท่านั้น ดูตัวเลขไม่มาก แต่โดยรวมนั้นไม่น้อย

          สำหรับวิธีการตรวจนั้นมีหลายวิธี แต่วิธีที่แพร่หลายที่กระทรวงสาธารณ สุขสนับสนุนให้ตรวจฟรี คือ อายุ 30-60 ปี ถ้าเข้าไปตรวจทุกระยะจะได้รับการตรวจฟรี เรียกว่า ตรวจแปปสเมียร์ เป็นการเอาเซลล์บริเวณปากมดลูกไปตรวจว่าติดเชื้อไวรัสตัวนี้เข้าไปหรือไม่ วิธีการนี้ไม่เจ็บไม่ปวด หากพบว่ามีไวรัสก็จะมีขั้นตอนการรักษาต่อไป

          น.พ.วิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยเสี่ยงนั้นมาจากการสูบบุหรี่และอาหาร มีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หากตรวจเจอระยะแรก รักษาตรงบริเวณปากมดลูก ทำให้ไม่ต้องสูญเสียอวัยวะใด ๆ เวลาเพียง 5 นาที ทำได้เกือบทุกโรงพยาบาล แต่หากเป็นมะเร็งปากมดลูก การรักษาจะต้องผ่าตัด ส่วนระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ต้องรักษาโดยการใช้รังสี และอาจใช้ร่วมกับเคมีบำบัด ซึ่งใช้ระยะเวลานานในการรักษามากกว่า

          อาการที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก อาทิ มีการผิดปกติของตกขาว ทั้งกลิ่นทั้งสีและลักษณะ มีเพศสัมพันธ์แล้วเลือดออก ณ เวลานี้ยังไม่มียาฆ่าไวรัสตัวนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือการตรวจคัดกรอง ถ้าอายุน้อย ๆ ในทุกช่วงวัย ไปฉีดวัคซีนป้องกันได้ร้อยละ 70-80 ยิ่งถ้ายังไม่มีเพศสัมพันธ์โอกาสมีภูมิต้านทานสูง ทำให้โอกาสการเป็นมะเร็ง ปากมดลูกลดลงไป

          ด้าน รศ.น.พ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี สมาคมโรค ตับแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมะเร็งตับว่า พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้ชาย ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ผู้ที่เคยเป็นโรคอักเสบอันเนื่องมาจากไวรัสตับอักเสบบีและซี หากพบว่าเรื้อรังจะมีอัตราการเกิดมะเร็งตับสูง พบได้ในผู้ป่วยภาวะตับแข็ง เป็นปัจจัยสูง ซึ่งอาจเกิดจากไวรัสหรือสาเหตุอื่น ๆ โดยเฉพาะการดื่มแอลกอฮอล์ทุกวัน ติดต่อกันระยะเวลาหลายปี รวมถึงการกินอาหาร ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา มีมากในอาหารจำพวกถั่ว แป้งสาลี ข้าวโพด พริกแห้ง ที่เก็บเอาไว้นานหรือไม่ถูกสุขลักษณะ มะเร็งชนิดนี้กว่าจะรู้ว่าเป็นมักจะมีอาการมากแล้ว และถ้าไม่ได้รับการรักษาจะอยู่ได้ไม่เกิน 4 เดือน

          หลังจบการเสวนา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานถามข้อสงสัย อาการของโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ นับเป็นก้าวหนึ่งของการรณรงค์ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึง และเข้าใจโรคมะเร็งกันมากขึ้น





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จับสัญญาณ รู้ทัน มะเร็ง อัปเดตล่าสุด 9 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 18:10:52 1,134 อ่าน
TOP