ถุงยางอนามัย ความปลอดภัยที่วัยรุ่นเลือกได้ (สสส.)
เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ปัจจุบันความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเพศศึกษาในสังคมไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย อีกทั้งหญิงชายจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ยังไม่ค่อยใส่ใจในสุขภาพอนามัยของตนเองเท่าที่ควร สิ่งเหล่านี้ทำให้ปัญหาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมยังคงมีอยู่ในสังคมไทย
โดยเรื่องนี้มีคำแนะนำและข้อห่วงใยจาก นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผอ.ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ก่อตั้ง "โครงการถุงยางอนามัย 100%" นพ.วิวัฒน์ เริ่มต้นอธิบายว่า ถุงยางอนามัยถือเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตจริง ๆ ถือเป็นอุปกรณ์แห่งความสำเร็จในการป้องกันเอดส์ในประเทศไทย ซึ่งอัตราการใช้ถุงยางอนามัยในหญิงบริการทางเพศในปี 2532-2544 สูงมากเกือบ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ลดลงร้อยละ 90 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน
ทั้งนี้ต่างประเทศให้การยอมรับประเทศไทยในเรื่องนี้มาก เพราะช่วยวัยรุ่นไม่ให้ติดเชื้อเอดส์ได้จำนวนมาก และถ้าไม่มีการใช้ถุงยางอนามัยปัจจุบันอาจมีผู้ติดเชื้อเอดส์กว่า 10 ล้านคน นอกจากนี้มีหลักฐานชัดเจนว่า ถุงยางอนามัยยังมีบทบาทสำคัญในการแก้ป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อมด้วย
สถานการณ์ของปัญหาในปัจจุบันเป็นอย่างไร
นพ.วิวัฒน์ บอกว่า ปัจจุบันแนวโน้มของผู้ติดโรคทางเพศสัมพันธ์ในประเทศไทยลดลง เพราะมีการใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าระยะหลังการรณรงค์ป้องกันเริ่มชะลอตัวไม่มากเหมือนแต่ก่อน ทำให้บางโรคที่เคยควบคุมได้เหมือนจะย้อนมากลับอีกครั้ง เช่น กามโรคที่ตรวจพบในกลุ่มแรงงานต่างด้าวมากขึ้น
ขณะที่โรคเอดส์พบว่า กลุ่มเสี่ยงที่เป็นสถานบริการอาบอบนวด โดยเฉพาะหญิงบริการและผู้ใช้บริการ ต่างให้ความสำคัญกับถุงยางอนามัยมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์จากกลุ่มนี้ลดลงอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามกลุ่มที่น่าเป็นห่วงกลับกลายเป็นกลุ่มชายรักชาย และกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมจับคู่กันเอง
โดยมีข้อมูลว่าทั้งสองกลุ่มนี้กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ไม่นิยมใช้ถุงยางอนามัย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์และการท้องไม่พร้อมเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุการไม่ใช้ถุงยางอนามัย น่าจะมาจากการไม่เห็นความสำคัญ หรือคิดว่าคู่นอนของตัวเองสะอาด หรืออาจมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับการป้องกัน เช่น การซื้อยาคุมกำเนิดมากินเอง การใช้วิธีหลั่งข้างนอก หรือใช้วิธีการนับวันของการมีประจำเดือน ซึ่งวิธีเหล่านี้ไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
ถุงยางอนามัยที่แจกฟรีก็มีคุณภาพ
นพ.วิวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า หลายคนไม่รู้ว่าถุงยางอนามัยที่แจกฟรีหรือที่อยู่ในตู้ขายอัตโนมัตินั้น มีคุณภาพเท่าเทียมกับถุงยางอนามัยที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อ เพราะผู้ผลิตถุงยางจะใช้เครื่องผลิตตัวเดียวกัน ถุงยางที่ผลิตจึงออกมาจากเบ้าหลอมเดียวกัน เพียงแต่ถุงยางอนามัยแบบที่ต้องซื้อนั้นจะมีกล่องห่อหุ้มดูน่าใช้กว่าเท่านั้น แต่ยืนยันได้ว่าคุณภาพเหมือนกันทุกประการ
ส่วนการติดตั้งตู้แจกถุงยางอนามัยไว้ตามโรงเรียนหรือหอพักนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ซึ่งในต่างประเทศก็มีบริการถุงยางอนามัยไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่นกัน เพราะเขามองเป็นเรื่องของสุขภาพอนามัย อย่างไรก็ตามการจะแจกฟรีหรือคิดราคาด้วยนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แต่คงต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่อาจไม่มีเงินซื้อ ดังนั้นถ้าจะคิดราคาก็ต้องดูให้เหมาะสมด้วย
เร่งแก้ไขวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย
ผอ.ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ บอกว่า เป็นเรื่องจริงที่วัยรุ่นสมัยนี้มีเพศสัมพันธ์กันเร็วขึ้น โดยเฉพาะเด็กนักเรียนระหว่าง ม.2-ม.5 ซึ่งพบว่ามีกว่า 2 แสนกว่ารายที่ท้องไม่พร้อมและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเราจะต้องสอนให้เขารู้จักต่อรอง หรือรู้จักปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ เช่น อ้างว่ามีประจำเดือน หรือพ่อแม่สั่งห้ามไว้ เป็นต้น ซึ่งถ้าผู้หญิงยิ่งปฏิเสธเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นในสายตาของผู้ชาย นอกจากนี้จะต้องหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ลับตาผู้คนแบบสองต่อสอง เพราะจากสถิติพบว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์เด็กวัยรุ่นมักจะแอบไปมีเพศสัมพันธ์กันที่บ้าน
ใส่ถุงยางกันโรคร้ายสื่อความรับผิดชอบ
นพ.วิวัฒน์ ระบุว่า เราต้องปรับภาพลักษณ์ของถุงยางอนามัย ดังนี้
1. ให้รับรู้กันทั่วไปว่า ถุงยางอนามัยเป็นเครื่องมือที่ให้ผลดีในการป้องกันปัญหาสุขภาพ สามารถป้องกันได้หลายโรคในคราวเดียวทั้งโรคเอดส์ กามโรค มะเร็งปากมดลูกและป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์
2. ให้รู้ว่าถุงยางอนามัยเป็นเครื่องมือสากลในการเสริมสร้างสุขภาพ
3. ถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์ที่แสดงถึงความรับผิดชอบในการมีเพศสัมพันธ์
4. การใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องของความทันสมัย และสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้
"เราต้องมองภาพลักษณ์ถุงยางเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องของการช่วยชีวิต และส่งเสริมสุขภาพ การซื้อถุงยางเป็นเรื่องที่ควรได้รับคำชมเชยด้วยซ้ำไป เพราะถือเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นหากจะมีเพศสัมพันธ์ ควรคิดถึงปัญหาที่จะตามมาก่อนทุกครั้ง ถุงยางอนามัยเป็นทางออกทางหนึ่งที่ดีมากในการป้องกันโรค ตราบใดที่เราไม่อาจลดการมีเพศสัมพันธ์ได้ จึงอยากให้มองภาพลักษณ์ถุงยางอนามัยเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับการใช้ผ้าอนามัยของผู้หญิง" นพ.วิวัฒน์ บอกทิ้งท้าย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก