x close

รู้ทันข่าวสารสุขภาพ อย่าลืม เช็ก ก่อนแชร์ !


เช็กก่อนแชร์


          เช็กก่อนแชร์สำคัญมาก โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ ถ้าแชร์ข้อมูลมั่ว ๆ ออกไป อาจเป็นอันตรายกับคนอื่นได้อย่างไม่ตั้งใจ

          "เอ๊ะ...เคล็ดลับสุขภาพเรื่องนี้น่าสนแฮะ เตือนภัยสุขภาพเรื่องนี้ก็แจ่ม แบบนี้ต้องรีบแชร์ จะได้ดูมีสาระกับเขาบ้าง !"

          เชื่อว่าหลายคนกำลังเป็นมนุษย์แชร์ มีอะไรก็แชร์กระจาย โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ กินแล้วอ้วน กินแล้วป่วย ที่พออ่านปุ๊บก็ต้องรีบแชร์ปั๊บ แต่ฉุกคิดสักหน่อยก่อนกดแชร์ซิว่า เรื่องที่เราจะแชร์ไปเนี่ย จริงหรือมั่ว? แล้วเราควรทำอย่างไรถึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง เว็บไซต์ สสส. มีบทความดี ๆ ที่พูดถึงเรื่องนี้มาบอก

          ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ถูกนำมาใช้ในการเผยแพร่ข่าวสารด้านต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวที่มักได้รับความนิยมในการส่งต่อเห็นจะเป็นเรื่องของโรคภัยต่าง ๆ รวมไปถึงการดูแลรักษาสุขภาพ และอาหารการกิน
          
          วันนี้มีโอกาสได้พูดคุยกับ "หมอแมว" หรือ "นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา" นายแพทย์อายุรศาสตร์ เจ้าของเพจดัง "ความรู้สนุก ๆ แบบหมอแมว" ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและวงการแพทย์ จึงได้ขอคำแนะนำในการเลือกรับข่าวสารสุขภาพจากสื่อสังคมออนไลน์ทั้งในฐานะผู้ผลิตเนื้อหา และผู้รับสาร
          
          ก่อนอื่นหมอแมวเล่าถึงข้อดีในการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อสื่อสารข่าวสุขภาพไว้ว่า ข้อมูลข่าวสารจะกระจายออกไปได้อย่างรวดเร็วมาก ช่วยทำให้เรื่องบางเรื่องที่ปกติไม่มีพื้นที่ในการนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลัก ส่งไปถึงผู้รับสารได้ทันท่วงที

          "ยกตัวอย่างเช่นตอนที่มีข่าวอีโบล่าระบาด คือในช่วงแรกสื่อกระแสหลักอาจจะยังไม่มีการนำเสนอ แต่ในสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ต่อมาก่อนสักหนึ่งสัปดาห์ได้ ดังนั้นในวงการแพทย์ หรือคนทำงานด้านสาธารณสุขอาจจะให้ข้อมูลกับประชาชนทางสังคมออนไลน์ และสร้างกระแสผ่านช่องทางนี้ได้" หมอแมว อธิบาย

         
เช็กก่อนแชร์


ผู้รับสารควร "เช็ก" ก่อนแชร์
         
          สำหรับผู้รับสารหรือผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ หมอแมวแนะนำว่า ทุกครั้งที่ได้รับข่าวมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ควรจะค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจส่งต่อหรือเผยแพร่ออกไป ซึ่งการค้นข้อมูลง่าย ๆ เลยคือ "ดูว่าข้อมูลนี้มีคนเคยพูดจริงหรือไม่"
         
          ถัดมาให้ดูที่ "แหล่งอ้างอิง" ถ้าในข่าวนั้นมีแหล่งอ้างอิงชัดเจน ให้ตามไปอ่านที่แหล่งอ้างอิงว่าเขาพูดไว้จริงไหม และพูดตรงกับที่แชร์ไว้หรือไม่ เพราะทุกวันนี้ที่แชร์กันในสังคมออนไลน์คือ แชร์ตามไลน์ เฟซบุ๊ก เป็นลักษณะเหมือนคัดลอกต่อ ๆ กันมาซึ่งอาจทำให้มีความคลาดเคลื่อนได้ง่าย
          
          ต่อไป "เช็กว่าใครเป็นคนพูด" เพราะบางทีคนเขียนบทความหรือข้อความที่แชร์กันนั้นก็อาจเป็นหมอ เป็นพยาบาล หรือเป็นคนทำงานด้านสุขภาพ แต่เขาอาจจะไม่ได้เรียนจบสาขานั้น ๆ มาโดยตรง ดังนั้นข้อมูลตรงนี้อาจจะต้องหาแหล่งที่มาจากหมอที่จบสาขานั้นด้วย เพื่อเช็กว่าคำพูดหรือข้อมูลเชื่อถือได้จริงหรือไม่ โดยเช็กมากกว่า 1 ครั้งนั่นเอง
          
          สุดท้ายให้ดูด้วยว่า "คนที่ส่งข้อมูลให้เรา" หรือคนที่เป็นเจ้าของบทความนั้น มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับข้อมูลที่แชร์มาหรือไม่ เช่น คนที่แชร์อาจจะพูดไปในเชิงที่ต่อต้าน ไม่อยากให้รักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ปรากฎว่าคนนี้อาจจะเป็นหมอจริง แต่เปิดคลินิกการแพทย์ทางเลือก ในเรื่องนี้ก็คงต้องระวังมากขึ้นอีกนิด
          
เช็กก่อนแชร์

ผู้ส่งสาร เน้นถูกต้อง เชื่อถือได้
          
          สำหรับคนที่ทำงานในโรงพยาบาลหรือระบบสาธารณสุข หรือคนทำงานด้านสุขภาพที่มีสื่อออนไลน์ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ก็อยากจะให้ระวังการให้ข้อมูล ต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานความรู้ งานวิจัย และข้อมูลที่จับต้องได้จริง

          "บางทีถ้าเราเล่นโซเชียลอยู่และเห็นมีคนแชร์ข่าวมา หรือเห็นคนในสังคมสงสัยเรื่องไหน เราเองก็ควรมีส่วนค้นหาข้อมูลมาเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งคือเอาไว้เพิ่มความรู้ของตัวเอง และอีกส่วนหนึ่งคือเอาไปใช้ประโยชน์ในการแบ่งปันให้คนอื่น ๆ"
          
          สุดท้ายหมอแมวยังฝากด้วยว่า ข้อควรระวังอีกเรื่องสำหรับบุคลากรด้านการแพทย์หรือคนที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ก่อนจะแชร์ข่าวออกไปให้ระวังข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยเป็นพิเศษด้วย อย่าละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มข่าวที่เป็นเรื่องโรคติดต่อ กลุ่มโรคร้ายแรง หรือเรื่องสุขภาพของคนบางคน อยากให้คำนึกถึงสิทธิผู้ป่วย และสิทธิผู้อื่นให้มาก ๆ
          
          สื่อสังคมออนไลน์นั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นเหมือนดาบสองคม เมื่อมีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียตามมา และด้วยความที่ข่าวสารมักจะถูกแชร์ต่อและกระจายไปอย่างรวดเร็ว ในบางครั้งก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจหรือข่าวลือเกิดขึ้นได้ง่าย
          
          ดังนั้นสำคัญที่สุดคือ "การมีสติ" และคำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาให้มากที่สุด
 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องโดย ภาวิณี เทพคำราม Team content www.thaihealth.or.th






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ทันข่าวสารสุขภาพ อย่าลืม เช็ก ก่อนแชร์ ! อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2560 เวลา 16:02:37
TOP