รู้แล้วทึ่ง 25 เรื่องจริงเกี่ยวกับดวงตา ไม่บอกไม่รู้นะเนี่ย !
พบความอัศจรรย์ของดวงตาที่อาจยังไม่เคยรู้ รู้หรือไม่ว่า ดวงตาที่ทำให้เรามองเห็นนั้นมีความลึกลับซับซ้อนและน่าทึ่งสุด ๆ ไปเลยล่ะ
ดวงตา อวัยวะสำคัญที่ช่วยในการมองเห็น อวัยวะที่เรารู้กันดีว่าควรจะดูแลและทะนุถนอมอย่างดีเพื่อไม่ให้เสื่อมสภาพไปก่อนเวลาอันควร แต่รู้กันหรือเปล่าว่าดวงตานั้นมีความลึกลับซับซ้อนมากมาย จนทำให้เราต้องทึ่งไปกับความอัศจรรย์ของดวงตาคู่นี้ที่ติดตัวเรามาไม่แพ้กับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกายเลยเชียวล่ะ
อย่างที่เว็บไซต์ List25 ได้สืบเสาะและรวบรวมเรื่องที่เราอาจจะไม่เคยรู้เกี่ยวกับดวงตามาฝากกัน เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าเรากะพริบตาวันละกี่ครั้ง แล้วทำไมคนอายุมากถึงต้องใส่แว่นอ่านหนังสือ คำถามเหล่านี้มีคำตอบให้คุณแล้วค่ะ ไปดูกันเลยจ้า
ตาของเราเปลี่ยนสีได้
สีของดวงตาของเรานั้นจริง ๆ แล้วก็คือของเหลวที่อยู่ในตาค่ะ ดังนั้นสีตาของเราอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะคนที่มีตาสีเขียวหรือสีฟ้านั้นจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด โดยการเปลี่ยนของสีตานั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในร่างกาย แต่เป็นสภาพของแสงต่างหากล่ะ ฉะนั้นอย่าแปลกใจถ้าเกิดอยู่ดี ๆ คุณจะเห็นคนที่มีสีตาอ่อน ๆ ดูเปลี่ยนไป
คนที่มีตาสีฟ้ามีบรรพบุรุษคนเดียวกัน
อาจจะดูแปลกไปเสียหน่อย แต่ว่ามนุษย์ที่มีตาสีฟ้าคนแรกบนโลกนั้นได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงระหว่าง 6,000-10,000 ปีที่แล้ว แต่หลังจากนั้นก็แทบจะเป็นคนที่มีตาสีน้ำตาลทั้งนั้น ดังนั้นรู้ไว้เลยค่ะว่า คนที่มีตาสีฟ้าก็เป็นพี่น้องร่วมบรรพบุรุษทั้งนั้นเลยล่ะ
ตาของเราประกอบด้วยเซลล์กว่า 107 ล้านเซลล์ และเซลล์ทั้งหมดไวต่อแสง
เซลล์ที่อยู่ในตาของเราทั้งหมด 107 ล้านเซลล์นั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 7 ล้านเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการบอกรายละเอียดของสีสันต่าง ๆ และอีก 100 ล้านเซลล์นั้นแยกแยะความแตกแต่งระหว่างสีดำกับสีขาวค่ะ ดังนั้นเชื่อได้เลยว่าภาพสีที่คุณเห็นตรงกับสีสันจริง ๆ น้อยกว่า 1 ใน 10 เสียอีก
20/20 คือคนสายตาปกติ
สงสัยใช่ไหมล่ะว่า 20/20 คืออะไร นั่นก็คือระยะที่จักษุแพทย์จัดว่าคนเราที่มีสายตาปกติสามารถอ่านชาร์ตตัวอักษรได้ชัดเจนในระยะ 20 ฟุต หากน้อย หรือมากกว่านี้ นั่นแปลว่าคุณมีปัญหาสายตาแล้วล่ะค่ะ
ถึงแม้ว่าคุณจะมองเห็นภาพกลับด้าน แต่สมองของคุณก็จะแก้ไขให้คุณเห็นภาพที่ถูกต้องได้
หลาย ๆ คนต้องเคยก้มหัวลงแล้วเห็นภาพตีลังกาไปหมดใช่ไหมล่ะค่ะ แต่ไม่นานเราก็ชินกับมัน นั่นก็เป็นเพราะว่าเมื่อเราเห็นภาพที่กลับด้านจากที่เป็นจริง แต่สมองของเราก็จะปรับให้คุณเคยชินกับสิ่งที่เห็น รวมทั้งในสมองของคุณก็จะไม่ได้เห็นภาพที่กลับด้านอีกด้วย
คนเรากะพริบตา 17 ครั้งต่อนาที 14,280 ครั้งต่อวัน และ 5.2 ล้านครั้งต่อปี
การกะพริบตาเป็นกลไกร่างกายที่เกิดขึ้นอัตโนมัติไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่ก็ตาม และจะกะพริบมากขึ้นในขณะที่คุณกำลังพูดอีกด้วย
การกะพริบตาเป็นสิ่งที่รวดเร็วที่สุดในร่างกาย
การกะพริบตาของคนเรากินเวลาเพียง 100-150 มิลลิวินาที ซึ่งถ้าเทียบแล้วภายใน 1 วินาทีคนเราสามารถกะพริบตาได้ถึง 5 ครั้งเลยทีเดียว
คนส่วนใหญ่ต้องใช้แว่นตาอ่านหนังสือเมื่ออายุมากขึ้น
กว่า 99% ของประชากรทั้งโลก เมื่อมีอายุมากขึ้นจำเป็นต้องพึ่งพาแว่นตา โดยคนเราจะเริ่มใช้แว่นตาสำหรับอ่านหนังสือในช่วงอายุประมาณ 43 - 50 ปีขึ้นไป นั่นก็เป็นสาเหตุมาจากดวงตาของเราเริ่มโฟกัสภาพได้ช้าลงนั่นเอง
เลนส์ตาของเรามีความเร็วกกว่าเลนส์กล้องทุกตัวบนโลก
เมื่อเทียบกับเลนส์ของกล้องถ่ายรูปแล้วดวงตาของเราจะมีการปรับโฟกัสที่เร็วมากกว่าเลนส์ของกล้อง ดวงตาของคนเราสามารถปรับโฟกัสได้ทันทีที่อยู่ในสถานที่ที่สภาพแสงเปลี่ยนไป ต่างจากกล้องที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 วินาทีในการปรับโฟกัส
การกะพริบตาเป็นกลไกของดวงตาที่สำคัญ
การกะพริบตาเป็นกลไกที่สำคัญของร่างกายนะจะบอกให้ เพราะจะช่วยให้เศษฝุ่นต่าง ๆ ที่ติดในตานั้นหลุดออกไปด้วยการกระจายน้ำตาในดวงตา ซึ่งน้ำตาจะช่วยหล่อเลี้ยงไม่ให้ดวงตาแห้ง และหล่อลื่นให้ดวงตาสามารถกลอกไปได้อย่างปกติ อีกทั้งน้ำตายังมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่สำคัญอีกด้วย
ทุกคนหนีไม่พ้นโรคต้อกระจกเมื่อแก่ตัวลง
ต้อกระจกที่หลาย ๆ คนหวาดกลัว จริง ๆ แล้วก็เป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้นเช่นเดียวกับการเกิดผมหงอกนี่ล่ะค่ะ ดังนั้นจึงเป็นได้ทุกคน โดยส่วนใหญ่ต้อกระจกจะเกิดกับคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปค่ะ
โรคเบาหวานมักจะตรวจพบได้ง่ายจากการตรวจตา
คนที่เป็นโรคเบาหวานในประเภทที่ 2 ส่วนใหญ่มักจะมีอาการของเบาหวานขึ้นตา โดยเมื่อทำการตรวจตาผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะพบจุดเลือดเล็ก ๆ ที่เกิดจากการร่วมของเส้นเลือดด้านหลังดวงตาค่ะ
เรามองเห็นด้วยสมองไม่ใช่ดวงตา
ได้ยินแบบนี้แล้วอาจจะแปลกใจ แต่นี่คือความจริงค่ะ เพราะสมองเป็นศูนย์กลางในการควบคุมการมองเห็นอย่างแท้จริง อาการตามัวหรือการมองไม่ชัดในหลาย ๆ ครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากดวงตาหรอก แต่เกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนควบคุมการมองเห็นต่างหาก
ดวงตาของเราสามารถปรับตัวเข้ากับจุดบอดของดวงตาได้
ปัญหาเกี่ยวกับดวงตาอย่างเช่นโรคต้อหิน อาจจะทำให้เกิดจุดบอดในดวงตาได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าดวงตาของเราจะไม่สามารถปรับตัวได้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปสมองของเราก็จะเกิดการปรับตัวเช่นเดียวกับการที่เราเห็นภาพกลับด้านค่ะ
20/20 ไม่ได้แปลว่าสายตาดีที่สุด
จากข้อก่อนหน้าที่บอกว่า 20/20 นั้นคือระยะของสายตาคนปกติ แต่ไม่ได้บอกว่าคนเราที่สามารถมองเห็นได้ในระยะ 20 ฟุตจะสายตาดีที่สุด หรือคนที่สามารถมองได้ในระยะที่น้อยกว่าหรือมากกว่านั้นจะมีปัญหาสายตาเสมอไป เพราะปัจจัยของระยะในการมองเห็นก็ขึ้นอยู่กับสภาพแสง ขนาดของตัวอักษร หรือความสามารถในการโฟกัสของดวงตา
ตัวอย่างเช่น หากวิสัยทัศน์ของดวงตาเป็น 20/8 นั่นก็แปลว่าคุณสามารถมองเห็นสิ่งที่คนทั่วไปเห็นในระยะ 8 ฟุต แต่คุณสามารถมองเห็นได้ในระยะ 20 ฟุต ดังนั้นอย่าตกใจค่ะ เพราะ 20/20 นั้นเป็นเพียงแค่ระยะที่คนเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเท่านั้นเอง
น้ำตาจะเกิดขึ้นเมื่อตาแห้ง
โดยปกติแล้วน้ำตาของเราจะประกอบด้วยส่วนประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ ไขมัน เมือก และน้ำ ซึ่งถ้าหากส่วนประกอบใดในดวงตาลดลงละก็ ตาของคุณจะแห้งลง และสมองก็จะตอบสนองด้วยการสร้างส่วนประกอบที่ขาดหายไปให้มากขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาของน้ำตาในขณะที่ตาแห้งนั่นเอง
ดวงตารักษาตัวเองได้เร็ว
ร่างกายของเรามีกลไกในการซ่อมแซมตนเอง โดยเฉพาะดวงตา หากเกิดรอยขีดข่วนบนดวงตา ดวงตาของเราจะใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมงในการซ่อมแซมจนเป็นปกติเท่านั้นเองค่ะ
ทารกไม่มีน้ำตา
เด็กทารกมักจะร้องไห้บ่อย แต่สังเกตดูสิว่าเวลาที่เด็กทารกร้องไห้จะไม่มีน้ำตาเลย นั่นก็เป็นเพราะว่าดวงตาจะเริ่มผลิตน้ำตาครั้งแรกหลังจากแรกเกิด 4 - 13 สัปดาห์
แพทย์ยังคงหาวิธีในการเปลี่ยนถ่ายดวงตา
เส้นประสาทดวงตาที่เชื่อมต่อระหว่างดวงตาและสมองเป็นส่วนที่ละเอียดอ่อนมากจึงทำให้การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหรือเปลี่ยนถ่ายดวงตานั้นยังเป็นไปได้ยาก แต่ทีมแพทย์ก็ยังคงมีการวิจัยอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อหวังว่าสักวันจะประสบความสำเร็จ
น้ำหนักของดวงตาแต่ละข้าง
โดยเฉลี่ยแล้วดวงตาของเรามีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 1 นิ้ว และมีน้ำหนักอยู่ราว ๆ 0.25 ออนซ์ (7.08 กรัม)
โรคตา 2 สี (Heterochromia) เกิดขึ้นได้
การมีตา 2 สี ไม่ใช่เรื่องปกตินะ แต่เป็นโรคชนิดหนึ่งอาจจะเกิดจากพันธุกรรม โดยโรคนี้แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ แบบที่ตาทั้ง 2 ข้างมีสีต่างกัน หรือ แบบที่ดวงตา 1 ข้าง มีสีตา 2 สีอย่างละครึ่ง ก็ได้ค่ะ แต่ก็ไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรงอะไรเพียงแต่จะแค่มีสีตาต่างกันนั่นเอง
กล้ามเนื้อตาทำงานมากกว่ากล้ามเนื้อส่วนอื่นของร่างกายซะอีก
ในบรรดากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย กล้ามเนื้อดวงตาเป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่มีการทำงานมากที่สุดเลยล่ะเพราะต้องคอยควบคุมการเคลื่อนที่ของดวงตาอยู่ทุกขณะ และทำอย่างรวดเร็วเสียด้วย
ดวงตามีส่วนประกอบมากกว่า 2 ล้านส่วน
ขอบอกเลยว่าดวงตาที่เราเห็นว่าเล็ก ๆ นี้ ถูกสร้างขึ้นมาจากส่วนประกอบมากกว่า 2 ล้านส่วนเลยล่ะ ทำให้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมดวงตาของเราถึงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสุด ๆ เลย
ดวงตาของฉลามเหมือนกับคนมาก
ฉลามเป็นสัตว์ที่มีกระจกตาคล้ายกับของคนมากที่สุด ทำให้ในการผ่าตัดดวงตาบางครั้งก็ใช้กระจกตาของฉลามเข้ามาทดแทนกระจกตาของคนค่ะ
การรักษาปัญหาเกี่ยวกับดวงตา
80% ของปัญหาสุขภาพตาทั่วโลกนอกจากจะรักษาด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีแล้ว ก็ยังสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานอาหารได้ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพหรือแม้แต่อาหารเสริมที่วางขายทั่วไป
น่าทึ่งไม่ใช่เล่นเลยใช่ไหมล่ะดวงตาของเรา ฉะนั้นเมื่อดวงตาของเรามีความอัศจรรย์มากขนาดนี้แล้ว ก็อย่าใช้งานหนักจนเสียสุขภาพดวงตากันเลย เพราะอย่าลืมว่าดวงตาเสียแล้วซ่อมแซมไม่ได้ รักษาให้กลับมาดีดังเดิมไม่ได้นะ รีบดูแลรักษาดวงตาและหมั่นตรวจตาบ่อย ๆ เพื่อเราจะได้มองเห็นโลกใบนี้ไปนาน ๆ กันดีกว่าเนอะ