ทำไมถึงไม่ควรกินยาพร้อมกับนม หากกินแล้วจะมีผลกระทบกับการรักษาโรคหรือไม่ มาหาคำตอบกัน
หลายคนอาจเคยได้ยินคนเตือนว่า “ห้ามกินยาพร้อมนม” โดยเฉพาะกลุ่มยาปฏิชีวนะ ซึ่งเราเองก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าคำกล่าวนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือถ้ากินยาคู่กับนมไปแล้วจะส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาอย่างไร มีผลกับสุขภาพหรือเปล่า งั้นวันนี้ลองมาทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น
กินยากับนมได้หรือไม่ ?
ต้องอธิบายก่อนว่า ยาที่เรารับประทานมีอยู่หลายประเภท ทั้งยาปฏิชีวนะ และยากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งหลายชนิดที่ไม่ได้มีข้อห้ามกินคู่กับนม แต่ก็มียาบางชนิดที่ไม่แนะนำให้กินกับนม เพราะกระทบต่อการดูดซึมตัวยาและส่งผลต่อการรักษาอาการเจ็บป่วยที่เป็น ดังนั้น ก่อนจะกินยาอะไรต้องรู้ว่า ยานั้นมีข้อห้ามกินคู่กับนมด้วยหรือไม่
ยาอะไรบ้างที่ห้ามกินพร้อมนม ?
มียาปฏิชีวนะบางตัว และยากลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ควรกินร่วมกับนม รวมทั้งยาลดกรดด้วย เช่น
1. ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มควิโนโลน เช่น ซิโพรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin), โอฟลอกซาซิน (Ofloxacin),นอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin), มอกซิฟลอกซาซิน (Moxifloxacin)
2. ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มเตตราไซคลิน เช่น เตตราไซคลิน (Tetracycline), ดอกซีไซคลิน (Doxycycline)
3. ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มเซฟาโลสปอริน เช่น เซฟดิเนียร์ (Cefdinir)
4. ยารักษาโรคกระดูกพรุน กลุ่มบิสฟอสโฟเนต เช่น อะเลนโดรนิกอะซิด (Alendronic acid), ไอแบนโดรนิกอะซิด (Ibandronic acid)
5. ยารักษาภาวะไทรอยด์ฮอร์โมน
6. ยาบำรุงเลือด เช่น ธาตุเหล็ก
นอกจากนี้อาจมียากลุ่มอื่น ๆ ซึ่งถ้ามีข้อห้ามกินพร้อมกับนมจะมีเขียนไว้ที่ฉลากยาอย่างชัดเจน
ทำไมถึงไม่ควรกินยาพร้อมนม ?
เหตุผลก็คือ นมเป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูง และประกอบด้วยสารอาหารอื่น ๆ มากมาย เมื่อรับประทานยาในกลุ่มที่กล่าวมาพร้อมนม แคลเซียมจะไปจับกับยาจนเป็นก้อน และขัดขวางการดูดซึมตัวยา ทำให้ยาเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง จึงมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะการรักษาโรคได้
ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรกินยาบางชนิดพร้อมกับนม หรืออาหารที่มีแคลเซียมสูงอื่น ๆ เช่น โยเกิร์ต เนย ชีส รวมทั้งยาลดกรด วิตามิน และแร่ธาตุเสริม เช่น ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม เพราะอาหารเหล่านี้มีแคลเซียม แมกนีเซียม อะลูมิเนียม ที่ส่งผลต่อการดูดซึมยาเข้าสู่ร่างกาย
ต้องกินยาห่างจากดื่มนมแค่ไหน ?
กรณีที่รับประทานยากลุ่มดังกล่าวอยู่และจำเป็นต้องดื่มนม หรือต้องบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูง แนะนำให้เว้นระยะห่างจากการกินยา 2 ชั่วโมง เช่น ดื่มนมก่อนหรือหลังรับประทานยานั้น ๆ อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ยาและแคลเซียมในนมไปทำปฏิกิริยากันในระบบทางเดินอาหาร จนมีผลต่อการดูดซึมตัวยา
แต่ยาบางชนิดอาจมีคำแนะนำให้เว้นห่างจากการดื่มนมมากกว่า 2 ชั่วโมงด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าได้รับยาชนิดไหนมา ควรถามแพทย์และเภสัชกรให้มั่นใจ เพื่อจะได้รับประทานยาได้อย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ดี ถ้าไม่แน่ใจว่ายาที่เรารับประทานอยู่นั้นมีข้อห้ามกินพร้อมนมหรือไม่ แนะนำให้กินยาพร้อมกับน้ำเปล่าจะดีที่สุด เพราะน้ำเปล่าไม่ทำปฏิกิริยากับยาใด ๆ จึงไม่ลดการดูดซึมตัวยา หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาใด ๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้เข้าใจก่อน เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิผลในการรักษา
บทความที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา
- 6 เครื่องดื่มที่ต้องระวัง อย่ากินคู่กันกับยา
- วิตามินต่าง ๆ ควรกินตอนไหน กินคู่กับอะไรให้ร่างกายดูดซึมได้มากที่สุด
- รอบรู้ปลอดภัยกับยาปฏิชีวนะ
- กินยาคุมกับน้ำอัดลม ส่งผลอะไรไหม ป้องกันท้องไม่พร้อมได้หรือเปล่า
- ไขข้อสงสัย...กินยาดักจับไขมันจนถ่ายเป็นมัน แต่ทำไมยังไม่ผอม ?!
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564
ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (1), (2)
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล