x close

สาธารณสุข ปัดยกเลิกส้วมนั่งยอง หลังโซเชียลแชร์พรึ่บ



สาธารณสุข ปัดยกเลิกส้วมนั่งยอง หลังโซเชียลแชร์พรึ่บ

         กระทรวงสาธารณสุข ปัดข่าวยกเลิกส้วมนั่งยอง ยัน พ.ร.ฎ. ตัวใหม่ เพียงหนุนประชาชนหันมาใช้ชักโครกแทน เพื่อป้องกันข้อเข่าเสื่อมเท่านั้น

         จากกรณีที่ได้มีพระราชราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ปรับเปลี่ยนสุขภัณฑ์ในห้องน้ำใหม่จากส้วมแบบราบ หรือส้วมนั่งยอง หรือส้วมซึม ให้เป็นแบบที่มีชักโครกแทน หรือส้วมนั่งราบ โดยประกาศดังกล่าวให้มีผลทันทีในอีก 120 วัน นับตั้งแต่วันประกาศ คือ วันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา จนทำให้เกิดกระแสข่าวว่า พ.ร.ฎ. ฉบับดังกล่าว เป็นการยกเลิกการใช้ส้วมนั่งยองนั่นเอง

         ล่าสุด วันที่ 25 เมษายน 2559 นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า พระราชกฤษฎีกาที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ คือ "พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556" ซึ่งในมาตรา 3 มีใจความสำคัญว่า ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.792-2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4380 (พ.ศ. 2554) พร้อมระบุหมายเหตุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอนามัยของประชาชนได้ หากมีคุณภาพต่ำ จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่ประชาชนเท่านั้น ไม่ได้สั่งให้มีการยกเลิกการใช้ส้วมนั่งยองแต่อย่างใด

         นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า ตนเข้าใจว่ากระแสข่าวยกเลิกการใช้ส้วมนั่งยอง น่าจะเป็นเพราะเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอขอความเห็นชอบแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556-2559) ที่มีสาระสำคัญ ในเรื่องการพัฒนาส้วมครัวเรือนให้เหมาะสมในการรองรับต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ ป้องกันโรคข้อเสื่อม เพื่อให้ประเทศมีส้วมสาธารณะได้มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย  โดยตั้งเป้าภายในปี  2559 ให้ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบส้วมนั่งราบร้อยละ 90 สถานบริการสาธารณะและสถานที่สาธารณะมีบริการส้วมนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่

         นอกจากนี้ ยังจะครอบคลุมถึงส้วมสาธารณะในสถานบริการสาธารณะและสถานที่สาธารณะ 12 ประเภท ประกอบด้วย

           1. แหล่งท่องเที่ยว
           2. ร้านจำหน่ายอาหาร
           3. ตลาดสด
           4. สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ
           5. สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
           6. สถานศึกษา
           7. โรงพยาบาล
           8. สถานที่ราชการ
           9. สวนสาธารณะ
           10. ศาสนสถาน
           11. ส้วมสาธารณะริมทาง 
           12. ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า/ดิสเคานท์สโตร์



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สาธารณสุข ปัดยกเลิกส้วมนั่งยอง หลังโซเชียลแชร์พรึ่บ อัปเดตล่าสุด 25 เมษายน 2559 เวลา 16:35:03 14,760 อ่าน
TOP