1 ธันวาคม วันเอดส์โลก




วันเอดส์โลก

วันเอดส์โลก

เอดส์

วันเอดส์โลก




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก lib.ru.ac.th , ucsc.edu , aidsthai.org , altiusdirectory.com   


          เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคเอดส์เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ที่ยังไม่มียาตัวใดรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตมนุษย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบโรคเอดส์มากที่สุด

          ดังนั้น จึงได้มีการพยายามหามาตรการเพื่อป้องกัน และหยุดยั้งโรคเอดส์ให้เป็นผลสำเร็จ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก หรือ World AIDS Day ซึ่งเริ่มครั้งแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2531 โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

            เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงอันตรายจากการติดต่อของโรคเอดส์ และการเจ็บป่วยจากโรคเอดส์ 

            เพื่อสร้างเสริมและสนับสนุน ให้มีมาตรการการป้องกันโรคเอดส์ให้มากยิ่งขึ้นในสังคมทุกระดับ

            เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมต่อต้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง 

            เพื่อส่งเสริมให้เกิดการยอมรับ และห่วงใยต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์

            เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

 สัญลักษณ์ วันเอดส์โลก


วันเอดส์โลก

สัญลักษณ์ วันเอดส์โลก



          สัญลักษณ์ของ วันเอดส์โลก คือ โบว์สีแดง (Red Ribbon) เป็นสัญลักษณ์ของวันเอดส์โลก ที่ใช้กันทั่วโลก เพื่อแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ระหว่างผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี โพซิทีฟ (HIV-positive) กับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเอดส์ทั้งหลาย

 คำขวัญ และธีมรณรงค์ วันเอดส์โลก

           ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา จะมีการกำหนดคำขวัญ วันเอดส์โลก ขึ้น ซึ่งคำขวัญใน วันเอดส์โลก แต่ละปีมีดังนี้

           พ.ศ. 2531  Communication about AIDS: เอดส์ป้องกันได้ หากร่วมใจกันทั่วโลก 

           พ.ศ. 2532 Importance of Youth in the AIDS Epidemic: เมตตาธรรมค้ำจุนโลก ช่วยผู้ตกเป็นเหยื่อเอดส์  

           พ.ศ. 2533 Women are the Key to achieving health for all : สุขภาพดีไม่มีเอดส์ สตรีเพศเป็นแกนนำ 

           พ.ศ. 2534  Sharing the Challenge: ร่วมมือ ร่วมใจ ต้านภัยเอดส์  

           พ.ศ. 2535 AIDS : A Community Commitment: เอดส์เป็นปัญหาของทุกคน ประชาชนต้องร่วมแก้ไข 

           พ.ศ. 2536 Time to Act : จริงจัง จริงใจ ขจัดภัยเอดส์ 

           พ.ศ. 2537 AIDS and the Family : Family Takes Care -ครอบครัวทั่วไทย ห่วงใยปัญหาเอดส์ ไม่ปฏิเสธความช่วยเหลือ 

           พ.ศ. 2538 Share Right , Share Responsibility : เคารพสิทธิ์ รับผิดชอบ มอบน้ำใจ สังคมไทยปลอดเอดส์ 

           พ.ศ. 2539 One World , One Hope : โลกนี้ยังมีหวัง รวมพลังหยุดยั้งเอดส์ 

           พ.ศ. 2540  Children Living in a world with AIDS : สร้างสรรค์โลกใหม่ ให้เด็กไทยไร้เอดส์ 

           พ.ศ. 2541 Force for change world Aids campaign with young people : คนรุ่นใหม่ ร้อยใจ รวมพลัง หยุดยั้งเอดส์ 

           พ.ศ. 2542 Listen , Learn , Live : รู้เขา รู้เรา รู้เท่าทันเอดส์ 

           พ.ศ. 2543 Men make a difference : เอดส์ลดหรือเพิ่ม เริ่มที่ผู้ชาย 

           พ.ศ. 2544 I care….Do you? : เอดส์ลดแน่ ถ้าคุณร่วมแก้ไข 

           พ.ศ. 2545 Stigma and Discrimination - Live and Let Live : ทุกชีวิตมีคุณค่า โปรดอย่าตัดสินด้วยเอดส์ 

           พ.ศ. 2546 Stigma and Discrimination - Live and Let Live : ทุกชีวิตมีคุณค่า โปรดอย่าตัดสินด้วยเอดส์ 

           พ.ศ. 2547 Woman, girls, HIV and AIDS : เยาวชนรุ่นใหม่… เข้าใจเรื่องเพศ…ร่วมป้องกันเอดส์ 

           พ.ศ. 2548 Stop AIDS Keep the promise : เอดส์หยุดได้ ร่วมใจรักษาสัญญา 

           พ.ศ. 2549 Stop AIDS. Keep the Promise - Accountability : เอดส์หยุดได้ ร่วมใจรักษาสัญญา 

           พ.ศ. 2550 Stop AIDS. Keep the Promise - Leadership : เอดส์หยุดได้ ร่วมใจรักษาสัญญา 

           พ.ศ. 2551 Stop AIDS. Keep the Promise - Lead - Empower - Deliver : เอดส์หยุดได้ ร่วมใจรักษาสัญญา

           พ.ศ. 2552 Universal Access and Human Rights : เข้าถีงยา เข้าถึงสิทธิ์ พิชิตเอดส์

           พ.ศ. 2553 Act Aware : สิทธิทางเพศ สิทธิด้านเอดส์ คือ สิทธิมนุษยชน


วันเอดส์โลก

วันเอดส์โลก



 โรคเอดส์เกิดขึ้นได้อย่างไร?

          โรคเอดส์ หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (AIDS : Acquired Immune Deficiency Syndrome) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสมีชื่อว่า ฮิวแมนอิมมิวโนเดฟีเซียนซีไวรัส (Human Immunodeficiency Virus :HIV) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เชื้อเอชไอวี โดยเชื้อเอชไอวีจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันต่ำลง จนร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้อีก โรคต่าง ๆ (หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า โรคฉวยโอกาส) จึงเข้ามาซ้ำเติมได้ง่าย เช่น วัณโรค ปอดบวม ติดเชื้อในระบบโลหิต เชื้อรา ฯลฯ และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด

          อย่างไรก็ตาม การที่คนเราจะได้รับเชื้อเอชไอวี หรือที่เรียกกันจนติดปากว่าติดเอดส์ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะติดกันได้ง่าย ๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน เว้นแต่จะมีช่องทางการติดที่เฉพาะจริง ๆ เท่านั้น โดยมีข้อสังเกตง่าย ๆ 3 ประการ ดังนี้

           ต้องได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย โดยต้องมาจากแหล่งที่มีปริมาณเชื้อมากพอที่จะทำให้ติด ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด

           เชื้อที่จะทำให้ติดต่อได้นอกจากเรื่องปริมาณแล้ว เชื้อต้องมีคุณภาพและแข็งแรง เช่น ในเลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด รวมทั้งต้องมีอาหารและมีสภาพที่พอเหมาะที่จะทำให้เชื้อเติบโตได้ แต่ถ้าไปอยู่ในน้ำลาย น้ำตา เชื้อไวรัสจะอยู่ในสภาพที่เป็นกรด เป็นด่าง ทำให้มันไม่แข็งแรง ไม่มีคุณภาพ เติบโตไม่ได้ หมดความสามารถที่จะทำให้ติดต่อได้

           ต้องเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการสัมผัสส่งต่อเชื้อได้โดยตรง เช่น การใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน หรือการร่วม โดยในกรณีการร่วมเพศ ถ้าฝ่ายชายมีเชื้ออยู่เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกาย ทางเยื่อบุช่องคลอด หรือถ้าผู้หญิงมีเชื้ออยู่ เชื้ออาจจะผ่านเข้าสู่ร่างกายทางปลายเปิดขององคชาติ

 กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ โรคเอดส์

          กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โรคเอดส์ หรือ HIV ได้แก่

           ผู้สำส่อนทางเพศ หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อเอดส์ หรือกลุ่มรักร่วมเพศ โดยจากข้อมูลพบว่า ร้อยละ 84 ของผู้ติดเชื้อเอดส์ จะได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์

           ผู้ติดยาเสพติด โดยใช้กระบอกฉีดยา หรือเข็มฉีดยาเดียวกันกับผู้ป่วย โรคเอดส์

           ผู้ที่ได้รับเลือด หรือผลิตภัณฑ์จากเลือด เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ หรือรับเลือดในขณะผ่าตัด

           ทารกติดเชื้อเอดส์จากมารดาที่มีเชื้อ HIV โดยมารดาจะแพร่เชื้อเอดส์ไปสู่ลูกในครรภ์


 สายพันธุ์ของโรคเอดส์

          เชื้อไวรัสเอดส์มีหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หลักดั้งเดิมคือ เอชไอวี-1 (HIV-1) ซึ่งแพร่ระบาดในแถบสหรัฐอเมริกา ยุโรป และแอฟริกากลาง , เอชไอวี-2 (HIV-2) พบแพร่ระบาดในแถบแอฟริกาตะวันตก นอกจากนี้ยังพบสายพันธุ์อื่นๆ ที่กลายพันธุ์มาอีกมากมาย

เอดส์



          ในปัจจุบันทั่วโลก พบสายพันธุ์เชื้อเอชไอวี มากกว่า 10 สายพันธุ์  กระจายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยพบมากที่สุดที่ทวีปแอฟริกามีมากกว่า 10 สายพันธุ์ เนื่องจากเป็นแหล่งแรกที่พบเชื้อเอชไอวี และกระจายอยู่เป็นเวลานานกว่า 70ปี สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดคือในโลก คือสายพันธุ์ซี มากถึง 40% พบในทวีปแอฟริกา อินเดีย จีน รวมทั้งพม่า ส่วนในประเทศไทยพบเชื้อเอชไอวี 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์เอ-อี (A/E) หรืออี (E) พบมากกว่า 95% แพร่ระบาดระหว่างคนที่มีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง กับสายพันธุ์บี (B) ที่แพร่ระบาดกันในกลุ่มรักร่วมเพศ และผ่านการใช้ยาเสพติดฉีดเข้าเส้น 

          ขณะที่สายพันธุ์ซีเดี่ยว ๆ ยังไม่พบในประเทศไทย พบเพียงแต่สายพันธุ์อี-ซี ที่เป็นลูกผสมระหว่างสายพันธุ์อีในประเทศไทย และสายพันธุ์ซีจากทวีปแอฟริกา แต่ทั้งนี้หากยังจำข่าวเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้ จะพบว่า ประเทศไทยพบผู้หญิงชาวไทย 2 คนติด โรคเอดส์ สายพันธุ์ใหม่ เป็นเชื้อเอชไอวีผสมระหว่าง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เอ จี และดี เรียกว่า เอจี-ดี (AG/D) และเป็นเชื้อเอชไอวีผสม 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เอ อี และจี เรียกว่า เออี-จี (AE/G) ซึ่งคาดว่าจะติดมาจากทวีปแอฟริกา ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวจะมีความเข้มข้นในน้ำเมือกหรือสารคัดหลั่งมาก ทำให้ผู้สัมผัสติดเชื้อได้ง่าย และแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์จากทวีปอื่น

 ระยะของโรคเอดส์

          เมื่อติดเชื้อเอดส์แล้ว จะแบ่งช่วงอาการออกเป็น 3 ระยะ คือ


เอดส์



           1.ระยะไม่ปรากฎอาการ (Asymptomatic stage) หรือระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ออกมา จึงดูเหมือนคนมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนคนปกติ แต่อาจจะเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ จากระยะแรกเข้าสู่ระยะต่อไปโดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 7-8 ปี แต่บางคนอาจไม่มีอาการนานถึง 10 ปี จึงทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อต่อไปให้กับบุคคลอื่นได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ

           2.ระยะมีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ (Aids Related Complex หรือ ARC) หรือระยะเริ่มปรากฎอาการ (Symptomatic HIV Infection) ในระยะนี้จะตรวจพบผลเลือดบวก และมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในเห็น เช่น มีไข้สูงเกิน 37.8 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลานานไม่ต่ำกว่า 3 เดือน, น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 4.5 กิโลกรัม หรือมากว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเดิมภายใน 2 เดือน ,ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่งติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน , มีเชื้อราในปากบริเวณกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก ,เป็นงูสวัด หรือแผลเริมชนิดลุกลาม และมีอาการเรื้อรังนานเกิน 1 เดือน โดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น มีไข้ ท้องเสีย ผิวหนังอักเสบ น้ำหนักลด เป็นต้น ระยะนี้อาจเป็นอยู่นานเป็นปีก่อนจะกลายเป็นเอดส์ระยะเต็มขึ้นต่อไป

           3.ระยะเอดส์เต็มขั้น (Full Blown AIDS) หรือ ระยะโรคเอดส์ ในระยะนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายลงไปมาก ทำให้เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย หรือที่เรียกว่า "โรคติดเชื้อฉวยโอกาส" ซึ่งมีหลายชนิด แล้วแต่ว่าจะติดเชื้อชนิดใด และเกิดที่ส่วนใดของร่างกาย หากเป็นวัณโรคที่ปอด จะมีอาการไข้เรื้อรัง ไอเป็นเลือด ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ Cryptococcus จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็ง คลื่นไส้อาเจียน หากเป็นโรคเอดส์ของระบบประสาทก็จะมีอาการความจำเสื่อม ซึมเศร้า แขนขาอ่อนแรงเป็นต้น ส่วนใหญ่เมื่อผู้เป็นเอดส์เข้าสู่ระยะสุดท้ายนี้แล้วโดยทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1-2 ปี

 ยารักษาโรคเอดส์

          ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ มีแต่เพียงยาที่ใช้เพื่อยับยั้งไม่ให้ไวรัสเอดส์เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อเอดส์ให้หมดไปจากร่างกายได้ ยาต้านไวรัสเอดส์ในปัจจุบันมี 3 ประเภทคือ

           1.Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTIs) ได้แก่ AZT ddl ddC d4T 3TC ABC รับประทานยาต้านไวรัสเอดส์

           2.Non-Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NNRTIs) ได้แก่ NVP EFV

           3.Protease Inhibitors (Pls) ได้แก่ IDV RTV Q4V NFV 

          หากรับประทานยาต้านไวรัสเอดส์แล้ว อาจมีผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้อาเจียน มีผื่นตามผิวหนัง โลหิตจาง ฯลฯ ดังนั้นการรับประทานยาเหล่านี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์

 ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับ โรคเอดส์

          จากข้อมูลทางการแพทย์ระบุชัดว่า เชื้อเอชไอวีไม่สามารถแพร่สู่กันได้โดยการติดต่อในชีวิตประจำวันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และไม่สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางการกอด การสัมผัสมือที่เป็นการทักทายแบบชาวตะวันตก หรือการปฏิสัมพันธ์ภายนอกอื่น เช่น การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การใช้เตียงนอนร่วมกัน การใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารหรือรถแท็กซี่ร่วมกัน

          นอกจากนี้ เอชไอวีไม่ใช่โรคติดต่อทางอากาศ เหมือนกับไข้หวัด และไม่ติดต่อผ่านทางแมลง หรือ ยุง โดยทั่วไปแล้วเชื้อเอชไอวีติดต่อกันผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีติดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน การแลกเปลี่ยนของเหลวในร่างกาย เช่น อสุจิ เลือด หรือของเหลวในช่องคลอด นอกจากนี้เชื้อเอชไอวียังสามารถติดต่อผ่านทางการใช้เข็ม หรืออุปกรณ์ฉีดยาร่วมกันของผู้ใช้ยาเสพติด ขณะที่ผู้หญิงตั้งครรภ์สามารถแพร่เชื้อไปสู่ลูกได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่

 สถานการณ์โรคเอดส์ทั่วโลก

          โรคเอดส์ เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในปี พ.ศ. 2424 โดยพบที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากชายรักร่วมเพศคนหนึ่ง และเมื่อศึกษาย้อนหลังพบว่า โรคเอดส์นี้มีต้นกำเนิดในบริเวณทวีปแอฟริกาตะวันตก ก่อนจะแพร่ไปยังทวีปอื่น ๆ ทั่วโลก และอัตราผู้ป่วยโรคเอดส์เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา

          โดยในปี พ.ศ.2546 มีการรายงานพบผู้ป่วย โรคเอดส์ ทั่วโลกกว่า 38 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ 31 ล้าน และเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีอีก 7 ล้านคน ขณะที่ในทวีปเอเชียมีอัตราเพิ่มของผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดทั่วโลก โดยในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นประเทศต้น ๆ ที่มีอัตราการรับเชื้อเพิ่ม เฉพาะรัสเซียประเทศเดียวก็มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ต่ำกว่า 860,000 คน 

          ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์เอดส์ทั่วโลกล่าสุด (www.unaids.org/unaids/ (English orignial, December 2009) คาดว่ามีผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีแล้วประมาณ 60 ล้านคน และมีผู้ที่เสียชีวิตจากสาเหตุการติดเชื้อเอชไอวีอีกประมาณ 25 ล้านคน โดยเฉพาะใน พ.ศ.2551 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกประมาณ 33.4 ล้านคน (31.1 - 35.8 ล้านคน) เป็นผู้ใหญ่ประมาณ 31.3 ล้านคน (29.2-33.7 ล้านคน) มีผู้หญิงที่ติดเชื้อ ประมาณ 15.7 ล้านคน (14.2-17.2 ล้านคน) เป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีประมาณ 2.1 ล้านคน (1.2-2.9 ล้านคน) และเป็นผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ประมาณ 2.0 ล้านคน (1.7-2.4 ล้านคน) ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น ประมาณ 2.7 ล้านคน (2.4-3.0 ล้านคน) ทั่วโลก โดยคาดว่าจะมีเด็กวัยรุ่นที่อายุ 15-24 ปีมีการติดเชื้อ ร้อยละ 40 ในขณะที่ผู้หญิงมีการติดเชื้อถึง ร้อยละ 48

วันเอดส์โลก

แผนผังแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ในปี ค.ศ.2008


          นอกจากนี้ คนในทวีปแอฟริกา แถบทะเลทรายซาฮารา ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีมากที่สุดในครัวเรือนประมาณ ร้อยละ 67 ของผู้ติดเชื้อทั่วโลก โดยมีเด็กที่ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ ร้อยละ 91 และมีเด็กกำพร้ามากกว่า 14 ล้านคนในทวีป รองลงมาอยู่ในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 3.8 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ประเทศที่มีการติดเชื้อสูง ร้อยละ 97 จะอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ หรือยากจนและอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง นอกจากนี้ ยังพบว่าประมาณ 1 ใน 3 คน ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนจากวัณโรค        

         


วันเอดส์โลก

วันเอดส์โลก


 สถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย

          จากรายงานสถานการณ์ผู้ป่วย เอดส์ และผู้ติดเชื้อที่มีอาการในประเทศไทยล่าสุด (31 สิงหาคม 2553) สำนักระบาดวิทยา รายงานว่ามีจำนวนผู้ป่วยเอดส์ ทั้งสิ้น จำนวน 368,921 ราย เสียชีวิตแล้วจำนวน 97,694 ราย โดยแนวโน้มของผู้ป่วยเอดส์และผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ ลดลงกว่าในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากการรักษาผู้ป่วยเอดส์ด้วยยาต้านไวรัสทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงทำให้มีผู้ป่วยเอดส์และผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ลดลงกว่าอดีต

          อย่างไรก็ตาม พบว่า รายงานผู้ป่วยเอดส์ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน และวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15-59 ปี) ร้อยละ 93.45 พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ30-34 ปีร้อยละ 25.04 รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 25-29 ปีร้อยละ 22.03

          อัตราป่วยในกลุ่มวัยแรงงานและวัยเจริญพันธุ์ที่อายุ 15-59 ปี พบว่าเพศชายมีสัดส่วนของอัตราป่วยเอดส์สูงกว่าเพศหญิง เท่ากับ 2 : 1 ซึ่งพบว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไปมีอัตราป่วยเอดส์ ร้อยละ 5.49 ในขณะที่กลุ่มเด็กอายุ 0-14 ปี มีอัตราป่วยเอดส์ ร้อยละ 5.09 ตามลำดับ

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยเอดส์ส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์ สูงถึงร้อยละ 84.29 เป็นเพศชายรักต่างเพศ ร้อยละ 67.00 และเป็นหญิงรักต่างเพศ ร้อยละ 33.00 รองลงมาเป็นกลุ่มที่ไม่ทราบปัจจัยเสี่ยง และอื่น ๆ ร้อยละ 7.57 กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดร้อยละ 4.47 กลุ่มที่ติดเชื้อจากมารดา พบร้อยละ 3.65 และกลุ่มรับเลือดร้อยละ 0.02 ตามลำดับ

          ขณะที่จำนวนผู้ป่วยเอดส์ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ และประกอบอาชีพการใช้แรงงาน/รับจ้างทั่วไป ( ลูกจ้างโรงงาน ขับรถรับจ้าง กรรมกร) ร้อยละ 45.22 รองลงมาเป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 19.80 ผู้ที่ว่างงาน ร้อยละ 6.02 ค้าขาย ร้อยละ 4.54 แม่บ้านร้อยละ 4.24 เด็กต่ำกว่าวัยเรียน 2.70 ข้าราชการ (ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และข้าราชการไม่ทราบสังกัด) ร้อยละ 3.07 ผู้ต้องขัง ร้อยละ 1.56 และอื่น ๆ รวมทั้งผู้ที่ไม่ระบุอาชีพ ร้อยละ 4.45

          

 การป้องกันตัวเองจาก โรคเอดส์

          เราสามารถป้องกัน โรคเอดส์ ได้ โดย

           1. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่มีเพศสัมพันธ์
           2. รักเดียว ใจเดียว
           3. ก่อนแต่งงาน หรือมีบุตร ควรตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และขอรับคำปรึกษาเรื่อง โรคเอดส์ จากแพทย์ก่อน
           4. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดใช้สารเสพติดทุกชนิด


         มาช่วยกันรณรงค์หยุดยั้งโรคเอดส์ อันตรายใกล้ตัวคุณ ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ด้วยกันนะคะ


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ

 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
- lib.ru.ac.th
- aidsthai.org
- moph.go.th
- สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
1 ธันวาคม วันเอดส์โลก อัปเดตล่าสุด 27 พฤศจิกายน 2553 เวลา 13:42:45 2,428 อ่าน
TOP
x close