ไขความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ


เคล็ดลับสุขภาพ


ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ (Mix Magazine)

          บางเรื่องสุขภาพที่เรารู้กันมา อาจไม่ใช่เรื่องจริง หรือเป็นความเข้าใจผิดไปก็ได้ ลองมาดูสิว่า 10 เรื่องต่อไปนี้ คุณเคยเข้าใจอะไรผิดมาบ้างหรือเปล่า

1. ชาเขียวเพื่อสุขภาพ

          ความเชื่อนี้ฮิตที่สุดเมื่อหลายปีก่อน ถึงขั้นทำให้ทำอะไรก็ต้องเอาชาเขียวมาเป็นส่วนประกอบ ไม่เว้นแม้กระทั่งผ้าอนามัย ปัจจุบันก็ยังคงความฮิตต่อเนื่อง แม้ว่ากระแสจะน้อยลงก็ตาม แต่นั่นก็ทำให้คนไทยเคยชินกับการกินชาเขียวแทนการดื่มน้ำอัดลม หรือน้ำอื่น ๆ

          โดยความเชื่อนี้ คือในชาเขียวจะมี Cathechin ที่มี EGCG อันเป็นสารตัวเอกในการต้านอนุมูลอิสระ และสามารถยับยั้งการเกิดมะเร็งต่าง ๆ ได้ สาร Cathechin ที่ว่านั้นไม่ได้มีเฉพาะชาเขียวเท่านั้น ชาดำ หรือชาจีนก็มีเช่นกัน แต่อาจจะไม่มากเท่าชาเขียว และนั่นทำให้ชาเขียวกลายเป็นทุกคำตอบของสุขภาพไป

          แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระดับความเข้มข้นของ EGCG ที่สามารถจัดการกับมะเร็งได้นั้น จะเทียบเท่าการดื่มชาเขียวแบบเข้มข้นไม่ผสมน้ำตาลวันละอย่างต่ำ 10 แก้ว ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันมะเร็งได้แล้ว ของแถมที่ตามมาก็คือ เจ้าสาร Tannin ที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาการท้องผูก และนั่นทำให้ไม่ต้องคิดต่อเลยว่า ชาเขียวที่มีน้ำตาลผสมอยู่นั้น จะสามารถช่วยดูแลสุขภาพของเราให้ยืนยาวปราศจากโรคต่าง ๆ ได้อย่างไร

2. เดินลงดีต่อเข่ามากกว่าเดินขึ้น

          เวลาที่จะให้เลือกระหว่างเดินลงบันไดกับเดินขึ้นบันได หลายคนคงจะเลือกเดินลงบันไดมากกว่า หนึ่งเพราะไม่ต้องรู้สึกเหนื่อยมาก และสองทำให้ไม่ปวดขา ปวดเข่าเวลาเดินอีกด้วย

          ความเชื่อนี้อาจจะไม่จริงแล้ว เมื่อผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยทั้งไทยและต่าง ประเทศเห็นตรงกันว่า การเดินลงทางลาดชันรวมไปถึงบันไดนั้น จะทำให้ความเครียดเกิดขึ้นที่ข้อ และตัวกระดูกอ่อนของเข่ามากกว่าการเดินขึ้น รวมทั้งมีโอกาสสร้างความบาดเจ็บได้มากกว่า และที่เราคิดว่าการเดินขึ้น น่าจะทำร้ายเข่ามากกว่านั้น เป็นเพราะเวลาที่เราเดินขึ้น เราจะล้าและปวดกล้ามเนื้อมากกว่าเวลาเดินลงนั่นเองครับ

3. กระดูกพรุนต้องกินแคลเซียม

          ความเชื่อนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเชื่อที่ว่า กระดูกของร่างกายมนุษย์เรานั้นมี แคลเซียมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะกระดูกพรุน ก็เลยคิดว่าการกินแคลเซียมเข้าไปมาก ๆ จะช่วยทำให้กระดูกแข็งแรงได้

          แต่ในความเป็นจริงนั้น การกินแคลเซียมเสริมเข้าไปในร่างกายอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหา เพราะการเสริมกระดูกของร่างกายมนุษย์เรานั้นมันมีกลไก และความซับซ้อนหลายอย่าง เช่น อัตราส่วนแคลเซียมต่อแมกนีเซียมที่ใช้ในการดูดซึม เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด รวมไปถึงการใช้วิตามินดีให้พอเพียงกับปริมาณแคลเซียมที่ได้รับเพิ่มมา เพราะหากมีวิตามินดีไม่มากพอ ร่างกายก็ไม่อาจดูดซึมแคลเซียมที่ได้รับเพิ่มไปใช้ได้อยู่ดี

          ดังนั้นการกินแคลเซียมเสริมเข้าไปในร่างกายนั้น ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการแก้ไขโรคกระดูกพรุนอย่างแน่นอน แต่การออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ และต่อเนื่อง มีโอกาสทำให้ร่างกายได้รับความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนน้อยลง และหากสงสัยว่า มีอาการเริ่มต้นของภาวะกระดูกพรุน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกจะดีกว่า

อบซาวน่า

4. ซาวน่า ยิ่งอบนานยิ่งสุขภาพดี

          ความเชื่อนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะทุกครั้งที่เราออกจากห้องซาวน่าแล้ว น้ำหนักจะลดลงไปหลายขีด แล้วก็จะรู้สึกสบายตัวเป็นอย่างมาก เลยกลายเป็นความเชื่อที่ว่ายิ่งนานยิ่งดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีคนเคยเกือบเสียชีวิตเพราะนั่งในห้องซาวน่านานจนเป็นลมไปเลยก็มี ดังนั้นความเชื่อนี้เห็นทีจะไม่ถูกต้อง

          การอบซาวน่าหรืออบสมุนไพรที่จะให้ได้ประโยชน์จริงนั้น ชาวฟินแลนด์ต้นตำรับเขาระบุไว้ว่า ต้องเป็นการอบร้อนสลับเย็น โดยอบร้อนเป็นเวลาประมาณ 3-5 นาที จากนั้นก็ลุกออกไปแช่น้ำเย็นประมาณ 1-2 นาที โดยทำสลับกัน 3 รอบ การทำแบบนี้จะส่งผลให้ร่างกายได้รับการกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดี เลือดลมเดินสะดวก และรู้สึกโปร่ง โล่ง สบาย

5. น้ำตาล ของหวาน ช่วยให้สดชื่น

          เวลาที่เรารู้สึกเหนื่อย กระหาย อ่อนเพลียนั้น การดื่มน้ำหวาน หรือกินของหวาน ๆ เข้าไปจะทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นได้ ความคิดแบบนี้มีหลาย ๆ คนที่เชื่อเช่นนั้น และให้ความหวานเป็นทางออกของชีวิตเสมอ ๆ

          แต่ในความเป็นจริงแล้ว การกินของหวานหรือดื่มน้ำหวาน นอกจากจะไม่ช่วยให้หายจากอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรงแล้ว ยังจะทำให้ร่างกายเรายิ่งแย่ลงไปอีกด้วย เพราะเมื่อเรารับน้ำตาลเข้าไปในร่างกาย ร่างกายก็จำเป็นต้องใช้วิตามินบีร่วมในการเผาผลาญเสมอ ๆ และเมื่อไรที่วิตามินบีหมด ร่างกายก็จะเข้าสู่ภาวะพร่องวิตามินบี ผลที่ตามมาก็คือเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรงนั่นเอง ดังนั้นใครที่อยากสดชื่น ลองเปลี่ยนมาเป็นน้ำสะอาด ๆ สักแก้วน่าจะช่วยได้ดีกว่าเยอะ

ยาพารา

6. ปวดหัว ตัวร้อน ต้องพาราฯ

          เคยสังเกตไหมครับว่า ทุกครั้งที่เราไปพบแพทย์ ด้วยอาการไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ยาอย่างหนึ่งที่เรามักจะได้กลับมาเสมอ ๆ ก็คือ ยาพาราเซทามอล บางคนเป็นหวัด บางคนเป็นไข้ แต่หลังจากที่กินยาชนิดนี้ลงไปแล้ว อาการที่เป็นก็ดีขึ้น และทำให้เรารู้สึกดีขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วร่างกายเรากำลังโดนหลอกอยู่ เพราะการกินยาพาราฯ เข้าไปนั้น ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด

          ก่อนอื่นต้องขออธิบายง่าย ๆ ก่อนว่า ร่างกายของมนุษย์ทุกคนนั้น มีสารชนิดหนึ่งที่สามารถต่อสู้กับโรคภัยต่าง ๆ ที่เข้ามากล้ำกรายร่างกายเราอยู่แล้ว นั่นก็คือ เม็ดเลือดขาว และเมื่อเราเจ็บป่วย เม็ดเลือดขาวก็จะต่อสู้แทนเราทุก ๆ ครั้ง และจะทำงานได้ดีในอุณหภูมิที่สูงกว่าอุณหภูมิร่างกาย

          หมายความง่าย ๆ ก็คือเวลาที่เราตัวร้อนนั้น สาเหตุก็เนื่องมาจากเม็ดเลือดขาวกำลังต่อสู้อยู่ และกำลังจะเอาชนะเชื้อโรคต่าง ๆ ที่บุกเข้าไป แต่เมื่อเรากินยาพาราเซทามอลเข้าไป ร่างกายก็ปรับอุณหภูมิเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเป็นภาวะที่เชื้อโรคชื่นชอบ ทำให้เม็ดเลือดขาวเสียเปรียบ ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ โรคที่เป็นอยู่ก็แค่ถูกกดทับไว้เท่านั้น แทนที่ร่างกายจะแข็งแรงเร็วขึ้น กลับกลายเป็นเลี้ยงไข้ไปแทน

          นอกจากนี้ ยังมีผลข้างเคียงจากยาพาราเซทามอลนี้อีก เพราะส่งผลรุนแรงต่อตับ ดังนั้นไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 5 วัน วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ตัวร้อนก็คือ การเช็ดตัว เพราะจะช่วยทำให้ร่างกายถูกกระตุ้น และทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุด ส่วนอาหารปวดหัวพักผ่อนให้เพียงพอแค่นี้อาการก็ดีขึ้นเอง อย่าถึงขั้นต้องกินยาเลยครับ

7. อาหารเสริมรักษาโรค

          ถ้าลองอ่านสลากข้างขวดของอาหารเสริมทุกขวดดี ๆ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีการเขียนระบุไว้ว่า "ไม่มีผลต่อการรักษาโรค" เพราะอาหารเสริมก็คืออาหารเสริม ไม่ใช่ยาที่จะทำหน้าที่เข้าไปรักษาโรคใด ๆ ได้ อาหารเสริมนั้นเป็นเพียงตัวช่วยที่ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารต่าง ๆ ที่ขาดในรูปแบบที่รวดเร็วและสะดวกเท่านั้น แต่ไม่สามารถรักษาโรคนั้น ๆ ที่เป็นได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์

          การกินอาหารเสริมยังทำให้ผู้คนหลงผิดคิดว่า ไม่จำเป็นต้องห่วงสุขภาพ ละเลยต่อการกินอาหารที่ดี รวมไปถึงไม่ออกกำลังกาย เพราะแม้อาหารเสริมระดับเทพก็คงไม่สามารถช่วยเยียวยาใด ๆ ได้อย่างแน่นอน ดังนั้นการกินอาหารดี ๆ ผักสด ผลไม้สด ข้าวกล้อง รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำ ก็ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุอย่างพอเพียงแล้ว หากแต่ถ้าทำไม่ได้ การรู้จักใช้อาหารเสริมเป็นส่วนช่วยเพิ่มก็เป็นเรื่องที่ดี

เคล็ดลับสุขภาพ

8. ดื่มน้ำมาก ๆ ดีต่อสุขภาพแน่นอน

          ความเชื่อนี้ทำให้คนจำนวนไม่น้อย ดื่มน้ำกันละทีเป็นลิตร ๆ บางคนยิ่งรู้ว่ายิ่งดื่มยิ่งดีต่อสุขภาพ ก็ดื่มวันละหลายขวด หลายลิตร เรียกกันว่าดื่มกันลิตรต่อลิตรเลยทีเดียว

          การดื่มน้ำเยอะเกินไปแบบนี้เมื่อสะสมเป็นเวลานานเข้า ร่างกายก็จะเกิดอาการปัสสาวะมาก มีสีใส มือเท้าเย็น ทำให้ร่างกายรู้สึกหนาวง่าย นานวันเข้าก็เกิดเป็นอาการสะสมที่เรียกว่าอ่อนเพลียเรื้อรัง ขาอ่อนแรง และมีสิทธิ์ที่จะหย่อนสมรรถภาพทางเพศสูงอีกด้วย

          เหตุผลง่าย ๆ ที่ทำให้เป็นเช่นนี้ เพราะเวลาดื่มน้ำเข้าไปมาก ๆ นั้น ไตก็จะทำหน้าที่คัดกรองสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเก็บไว้ เช่น เกลือแร่ แต่เมื่อเราดื่มน้ำเข้าไปมากเกินความจำเป็น ก็ทำให้ไตทำงานมากขึ้น เมื่อผ่านช่วงเวลาสะสมนานเข้า ก็กลายเป็นอาการ "พร่องพลังไต"  นั่นเอง

          แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะพร่องพลังไตกันหมด เพราะแม้ในมื้ออาหารที่เรากินเข้าไปในแต่ละมื้อจะมีน้ำอยู่แล้ว และเราก็กินน้ำอยู่ตลอดทั้งวัน แต่ร่างกายเราก็มีการขับถ่ายของเสียประเภทน้ำออกทางเหงื่อ ปัสสาวะ แถมยังใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกายอยู่แล้ว ดังนั้นหากไม่ดื่มน้ำเลย หรือดื่มน้ำน้อยไปก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพเช่นกัน

          ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ อย่ารอให้หิวกระหายน้ำ แล้วค่อยดื่มน้ำ แต่ควรจิบน้ำอยู่เป็นประจำตลอดทั้งวัน ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องไปเข้าห้องน้ำบ่อย หรือจะทำให้ไตทำงานหนัก เพราะการดื่มน้ำสะอาด ๆ เป็นประจำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว มีผลทำให้ผิวเรามีสุขภาพดี รวมไปถึงร่างกายเราก็สุขภาพดีอีกด้วย

9.กินไขมันแย่ ตายผ่อนส่ง

          เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่หลาย ๆ คนคิด และยืนยันในการเลือกกินอาหารไร้มัน เพราะจะทำให้น้ำหนักขึ้น แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดของสิ่งที่ไขมันมีอย่างแน่นอน เพราะนอกจากความอ้วนแล้ว ไขมันยังมีประโยชน์ในส่วนของเป็นสารประกอบพื้นฐานในเยื่อหุ้มเซลล์ ช่วยสร้างเนื้อเยื่อของสมองและเส้นประสาท และมีความสำคัญในการทำให้เซลล์ เนื้อเยื่อ ต่อม และอวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ตามปกติ แถมยังเป็นตัวช่วยในการซ่อมแซมเซลล์ที่เสื่อมสภาพ และให้พลังงานที่เสถียรกับ ร่างกายในระยะยาว

          ไขมันยังเป็นตัวที่ช่วยในเรื่องของการละลายวิตามิน A, D, E, K ซึ่งมักจะพบมากในพวกถั่วเปลือกแข็งต่าง ๆ เช่น อัลมอลด์ วอลนัท เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งอาหารจำพวกปลาที่มีไขมันสูงก็มีประโยชน์ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า หรือผลไม้อย่าง อะโวคาโด้ มะกอก ก็มีกรดไขมันตัวดีที่นำไปใช้ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายด้วยเช่นกัน

10. กินผลไม้เยอะ ๆ มีประโยชน์

          ความเชื่อนี้เกือบจริง เพราะผลไม้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีวิตามิน แถมมีกากใยอีกต่างหาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการกินผลไม้ชนิดเดียวกันมาก ๆ ต่อเนื่องยาวนานจะมีประโยชน์

          อย่างเช่น ถ้าเรากินทุเรียนหลังอาหารเย็นทุกวัน คุณคิดว่าจะทำให้สุขภาพดีขึ้นไหม เพราะในผลไม้นั้นมีน้ำตาลฟรุกโตสเป็นสารให้ความหวานหลัก ซึ่งมีโอกาสส่งผลให้ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน มีอาการน้ำตาลในเลือดสูง หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูงก็ตาม ผลไม้บางชนิดก็ไม่เหมาะด้วยเช่นกัน


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ อัปเดตล่าสุด 25 ตุลาคม 2560 เวลา 17:55:14 9,481 อ่าน
TOP
x close