อย.เตือนอันตรายจากลวดเย็บกระดาษเย็บกระทงขนม (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)
อย.หวั่น! ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากลวดเย็บกระดาษที่ใช้เย็บกระทงขนม อาจตกหล่นลงไปในอาหาร เพราะปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายราย มักนิยมนำมาเย็บถุงหรือกระทงบรรจุอาหารแทนไม้กลัด อย.ขอให้ผู้ผลิตหลีกเลี่ยงที่จะนำลวดเย็บกระดาษมาใช้เย็บกระทงขนม เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กที่โชคร้ายกลืนสิ่งของที่ไม่พึงประสงค์ เข้าไป ส่วนผู้บริโภคเองขอให้ระมัดระวังควรสำรวจอาหารก่อนนำเข้าปากว่ามีลวดเย็บ กระดาษปะปนอยู่หรือไม่
นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อย. เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ผลิตหลายรายมักนิยมนำลวดเย็บกระดาษมาเย็บถุงหรือกระทงบรรจุอาหาร เนื่องจากมีความสะดวกและรวดเร็วในกระบวนการผลิต อาทิ กระทงขนมตาล ขนมกล้วย ขนมถ้วยโบราณ ขนมตะโก้ และห่อหมก ซึ่งในความเป็นจริงหากผู้บริโภคซื้อไปรับประทานโดยไม่ทันระวัง ลวดเย็บกระดาษอาจจะตกลงไปในอาหารและเมื่อรับประทานเข้าไปก็อาจก่อให้เกิด อันตรายต่อร่างกายได้ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายในการรับประทานอาหาร กลุ่มนี้มากที่สุดคือ เด็ก ๆ ที่มักจะไม่ค่อยระวังในการบริโภค หากผู้ใหญ่ไม่ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด เด็กอาจกลืน ลวดเย็บกระดาษเข้าไปติดที่บริเวณโคนลิ้น ผนังคอ ต่อมทอนซิลหรืออาจลึกลงไปถึง ฝาปิดกล่องเสียงอาจทำให้เกิดอาการเจ็บคอเวลากลืนน้ำลายหรืออาหาร หากโชคดีก็สามารถคายออกมาเองได้ แต่บางรายอาจอันตรายถึงขั้นต้องพบแพทย์เพื่อผ่าตัด
เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่อาจมองข้าม อย.จึงขอความร่วมมือผู้ผลิตควรคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก จึงขอให้ผู้ผลิตใช้วัสดุชนิดอื่น เช่น ไม้กลัดซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่และสามารถมองเห็นได้ชัดเจน หรือวิธีการบรรจุอื่น ๆ ที่ปลอดภัยแทนการใช้ลวดเย็บกระดาษ และห้ามมิให้ผู้ผลิตใช้ลวดเย็บกระดาษสัมผัสกับอาหารโดยตรง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และขอเตือนผู้บริโภคให้มีความระมัดระวังในการบริโภคอาหารที่มีลวดเย็บกระดาษ ติดอยู่ อีกทั้งหากจะซื้ออาหารที่ใช้ลวดเย็บกระดาษให้เด็กหรือผู้สูงอายุรับประทาน ควรเพิ่มความระมัดระวังและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยควรนำอาหารเทใส่ภาชนะก่อน แทนการรับประทานจากถุงหรือกระทงที่ใช้ลวดเย็บกระดาษโดยตรง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ตัวท่านเองและคนใกล้ชิดของท่านอีกด้วย
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา