อย.เตือนผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่มีกลิ่นหอมยังมีอันตราย (องค์การอาหารและยา)
อย.แจงผู้บริโภคอย่าเข้าใจผิด ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนที่มีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นฉุน หรือมีกลิ่นอ่อน มีความอันตรายน้อย ซึ่งความจริงกลิ่นเหล่านั้น ไม่ได้ช่วยให้ความเป็นอันตรายของผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายลดน้อยลง หากผู้บริโภคสูดดมเข้าไป อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ย้ำเตือนให้ผู้ผลิตอย่าโฆษณาผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายเกินจริง เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค
ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อย. เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังมีผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ที่ใช้ตามบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข อาทิ ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์อื่น ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ในเรื่องของความเป็นอันตรายของผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายว่า ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่มีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นฉุน หรือมีกลิ่นอ่อนมีความเป็นอันตรายน้อย หรือไม่อันตราย เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่มีกลิ่นฉุนหรือกลิ่นแรง สาเหตุของความเข้าใจนี้ อาจเกิดจากรูปแบบของการโฆษณาผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายดังกล่าว ที่มีการเน้นย้ำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด และละเลยที่จะระมัดระวังความเป็นอันตราย โดยการแสดงท่าทางสูดดมพร้อมคำที่สื่อให้รู้สึกว่าผลิตภัณฑ์หอมน่าดม หรือการแสดงข้อความที่ทำให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ทำจากธรรมชาติ
แต่ในความจริงแล้ว กลิ่นหอมเกิดจากการปรุงแต่งกลิ่นด้วยน้ำหอมสังเคราะห์ โดยอาจเป็นน้ำหอมที่ให้กลิ่นหอมคล้ายดอกไม้ เช่นดอกลาเวนเดอร์ ดอกลิลลี่ ดอกกุหลาบ ดอกมะลิ เป็นต้น อาจมีบ้างที่ปรับปรุงกลิ่นด้วยน้ำมันหอมระเหยสกัดจากธรรมชาติ เช่น กลิ่นจาก d-limonene ที่สกัดจากเปลือกผลไม้ตระกูลส้ม กลิ่นหอมต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดว่า ผลิตภัณฑ์ไม่ทำให้เกิดอันตราย เพราะมีกลิ่นหอมหรือเป็นกลิ่นของพืชจากธรรมชาติ แต่ที่จริง หากผู้บริโภคสูดดมกลิ่นของผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายเข้าไป จะทำให้ปวดศีรษะ วิงเวียนคลื่นไส้ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยประโยชน์ที่แท้จริงของการแต่งกลิ่นของผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายนั้น ก็เพื่อกลบกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ของสารออกฤทธิ์ของผลิตภัณฑ์ หรือสารเคมีที่ใส่เข้าไปในผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เป็นตัวทำละลาย ตลอดจนคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพของตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งมักจะมีกลิ่นฉุนอย่างรุนแรง จึงต้องแต่งกลิ่น เพื่อช่วยลดความรุนแรงของกลิ่นในผลิตภัณฑ์ให้น้อยลง เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาเลือกบริโภคสินค้ามากยิ่งขึ้น
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า อย.ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว โดยที่ฉลากมีเครื่องหมาย อย.พร้อมด้วยเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นต้นด้วย วอส.ทับปีพ.ศ. เนื่องจาก อย.ได้ประเมินประสิทธิภาพในการใช้งานและความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว และขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้ และพึงระลึกอยู่เสมอว่า ผลิตภัณฑ์ที่กำลังใช้อยู่นั้นเป็นวัตถุอันตราย โดยควรศึกษาวิธีการใช้ให้เข้าใจก่อน และปฏิบัติตามวิธีการใช้และคำเตือนที่แสดงบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อจะได้ใช้ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายอย่างปลอดภัย และต้องเก็บผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายไว้ในที่มิดชิด ไกลมือเด็ก อาหาร และสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
fda.moph.go.th