x close

โรคทางช่องท้อง ที่ไม่ควรมองข้าม

โรคกระเพราะ

 



โรคทางช่องท้อง ที่ไม่ควรมองข้าม (SLIM UP)

             ปวดท้อง! อาการนี้เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนภัยให้ระวังโรคร้ายหลาย ๆ โรค ที่อาจเกิดขึ้นกับเรา เนื่องจากอาการปวดท้องเป็นสัญญาณเบื้องต้นของโรคที่เกี่ยวกับช่องท้องทุกชนิด ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เกิดอาการปวดท้อง จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะนั่นอาจจะเป็นสัญญาณของโรคร้ายก็ได้ ฉบับนี้ขอแนะนำโรคทางช่องท้องที่พบบ่อยในผู้ป่วย นั่นก็คือ...


         โรคกระเพาะอาหาร

          ทำอย่างไร เมื่อหมอบอกว่าเราเป็นโรคกระเพาะอาหาร? 

             ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคกระเพาะอาหารตามความเข้าใจของประชาชนทั่วไป มักหมายถึงการมีแผลที่กระเพาะอาหาร แต่ในความหมายของแพทย์มีความหมายมากกว่าแผลที่กระเพาะอาหาร ในที่นี้ผมขอกล่าวถึงโรคกระเพาะอาหารที่หมายถึงการมีแผลที่กระเพาะอาหาร หรือแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น

             หลายคนอาจเกิดคำถามมากมาย หลังรู้ว่าตนเองเป็นโรคกระเพาะ อาทิ ทานอะไรได้บ้าง อะไรทำให้เกิดแผล และอื่น ๆ อีกมากมาย ต่อไปนี้เป็นคำถามที่ผู้ป่วยมักถามหมอบ่อย ๆ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน

          ต้องทานอาหารอย่างไร เมื่อเป็นโรคกระเพาะ?

             ต้องเข้าใจกันก่อนว่าอาหารไม่ได้ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร แต่ที่แพทย์แนะนำให้ระวังอาหารบางประเภทเพราะอาหารบางประเภทจะกระตุ้นให้เกิดอาการไม่สบายท้องหลังรับประทานอาหาร อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ อาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด ของมัน น้ำอัดลม เป็นต้น และควรรับประทานอาหารให้เป็นเวลาผู้ป่วยบางรายมักมีความเชื่อว่า ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแข็งอย่างข้าวสวย โดยให้รับประทานข้าวต้มแทน ซึ่งอันที่จริงแล้วข้าวสวยหรือข้าวต้มไม่ได้ทำให้มีอาการปวดท้องมากขึ้น

          ควรหลีกเลี่ยงยาอะไรบ้าง เมื่อเป็นโรคกระเพาะ?

             ยาที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างมากเมื่อเป็นโรคกระเพาะคือ ยารักษาโรคแก้ยอกแก้ปวดกระดูก ปวดข้อ (ยาในกลุ่ม NSAID) ถ้ามีอาการปวดหรือมีไข้ยาที่แนะนำคือยาพาราเซตามอลที่สามารถรับประทานได้ขณะเป็นโรคกระเพาะ ซึ่งยาพาราเซตามอลไม่ได้ทำให้กระเพาะอักเสบหรือเป็นแผล ส่วนยาแอสไพริน ซึ่งปัจจุบันมีการใช้กันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงอต่อโรคหัวใจนั้น แนะนำให้หยุดรับประทานในช่วงที่ทำการรักษาโรคกระเพาะอาหาร

          แพทย์ใช้เวลารักษาโรคกระเพาะนานเท่าใด?

             ขึ้นอยู่กับแผลที่เกิดขึ้นว่าเกิดที่บริเวณใด กล่าวคือ

                 โรคแผลที่กระเพาะอาหาร : ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษานาน 10-12 สัปดาห์
                 โรคแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น : ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษานาน 6-8 สัปดาห์

             ผู้เป็นโรคกระเพาะหลายรายมักทานยารักษาไม่ครบ เพราะมักคิดว่าอาการหายแล้วจึงไม่รับยาไปทานต่อให้ครบ ต้องขอบอกให้ทราบว่าอาการกับการหายของแผลอาจไปด้วยกันไม่ได้ กล่าวคือไม่มีอาการแต่อาจยังคงมีแผล หรือยังคงมีอาการแต่แผลอาจหายแล้ว ดังนั้นการทานยาครบระยะเวลาที่กำหนดจะทำให้มั่นใจว่าแผลหายได้เร็วขึ้น

          ถ้ามีอาการติดเชื้อที่กระเพาะอาหารต้องทำอย่างไร?

             ปัจจุบันทราบว่าเชื้อเฮริโคแบคเตอร์ ไพโลไรเป็นสาเหตุให้เกิดแผลของโรคกระเพาะ สิ่งที่สำคัญคือควรทานยารักษาตามที่แพทย์ให้มาให้ครบ เพราะมีผลต่อการหายและการกลับมาเป็นซ้ำของโรค หลายท่านอาจกังวลว่าจะรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัวได้อย่างไร ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการติดเชื้อที่กระเพาะอาหาร สามารถรับประทานอาหารร่วมกับคนในครอบครัวได้โดยไม่ต้องแยกภาชนะ แต่ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร

          สิ่งที่ไม่ควรพลาดในผู้ป่วยโรจกระเพาะ

             ในผู้ป่วยโรคกระเพาะ โดยเฉพาะผู้ที่แพทย์แจ้งว่ามีแผลที่กระเพาะอาหาร ควรติดตามการหายของแผลโดยการส่องทางเดินอาหารวิดิทัศน์ โดยแพทย์มักนัดผู้ป่วยมาส่องกล้องซ้ำหลังให้การรักษา 8-12 สัปดาห์ เพื่อยืนยันการหายของแพทย์ เนื่องจากว่า แผลที่กระเพาะอาหารมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูง ดังนั้นเพื่อยืนยันว่าแผลที่กระเพาะไม่ได้เป็นแผลมะเร็ง แพทย์มีความจำเป็นที่ต้องเห็นภาพแผลหาย และบางครั้งอาจจำเป็นต้องเอาชิ้นเนื้อกระเพาะมาตรวจพยาธิ ซึ่งผู้ป่วยหลายรายไม่อยากส่องกล้องซ้ำ อาจเพราะคิดว่าไม่มีอาการแล้วจึงไม่อยากส่องกล้อง ดังที่กล่าวข้างต้นว่าอาการกับการหายของแผลอาจไม่สัมพันธ์กันหรือกลัวการส่องกล้อง

             นอกจากโรคกระเพาะอาหารแล้ว ยังมีโรคทางช่องท้องอีกโรคหนึ่งที่พบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้เป็นจำนวนมาก และมีความอันตรายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นก็คือ...


       โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

             มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย รองจากมะเร็งตับ และมะเร็งปอด ในเพศหญิงพบน้อยกว่าโดยพบเป็นอันดับที่ 5 รองจากมะเร็งเต้านม ปากมดลูก รังไข่ และมะเร็งปอด ปัญหาสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็คือ ผู้ป่วยมักจะได้รับการวินิจฉัยเมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่หรือมีการลุกลามแล้ว เนื่องจากในระยะแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร

          สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่

             สาเหตุที่แท้จริงยังไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่เชื่อว่าปัจจัยที่อาจมีผลส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง มีกากใยต่ำ อาหารจำพวกเนื้อแดง อาหารที่มีชีลีเนียมต่ำมีสารก่อมะเร็งและสารที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และการดื่มเบียร์

          อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่

             ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่จำนวนมาก จะไม่มีอาการให้เห็นในระยะแรก ๆ จนกว่าตัวเนื้องอกจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ถึงจะทำให้เกิดอาการ ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่ อาการถ่ายอุจจาระมีมูกปนหรือมีเลือดออกทางทวารหนัก มาการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติ เช่น ท้องลูกเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง หรือมีท้องผูกกลับท้องเสีย อาการอื่น ที่อาจจะพบได้ เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนต้นอาจตรวจพบว่ามีภาวะซีด ซึ่งเกิดจากการเสียเลือดโดยที่ไม่มีเลือดออกในอุจจาระให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า อาจคลำพบก้อนในท้องน้อย ผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการของลำไส้อุดตัน ซึ่งจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน ถ่ายอุจจาระหรือผายลมลดลง

          ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

             1. ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีติ่งเนื้อในลำไส้ ได้แก่ Familial adenomatous polyposis (FAP) และ Hereditary non-polyposis colorectal cancer (HNPCC) หรือมีโรคลำไส้อักเสบ Crohn’s disease และ Ulcerative colitis

             2. ผู้ที่มีประวัติมีติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ หรือมีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง) เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

             3. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

          วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำได้หลายวิธีดังนี้

             1. ตรวจอุจจาระหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Fecal Occult Blood Test) ทุกปี

             2. ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidoscopy) ร่วมกับการตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ (Barium Erema) ทุก 5 ปี

             3. การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทุก 5 ถึง 10 ปี

             4. การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้อยู่ (CT colongoraphy ทุก 5 ปี

          การรักษา

             1. การผ่าตัด
             2. การให้ยาเคมีบำบัด
             3. การฉายแสง

          การดูแลตัวเอง และการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

             1. ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักและผลไม้ อาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันต่ำ

             2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

             3. การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเริ่มต้นตรวจที่อายุ 50ปี ในผู้ที่ไม่มีอาการและไม่มีปัจจัยเสี่ยง สำหรับผู้ที่ดีประโยชน์มะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ควรเริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 40 ปี หรือเริ่มตรวจตั้งแต่อายุที่น้อยกว่าคนในครอบครัวที่เป็นมะเร็งลำไส้เร็วที่สุด 10 ปี

        นพ.นพพร อนุกูลการกุศล (Dr.Nopporn Anukulkarnkusol)

             แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (M.D.Chulalongkorn University)

             วุฒิบัตร อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร (Board of Medicine Gastroenterology)

        ความเชี่ยวชาญ

             - แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการตรวจส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและการทำทัตถการผ่านกล้อง
             - การส่องกล้องทางเดนิน้ำดี (ERCP)
             - อาจารย์พิเศษจุฬาฯ

         พญ.วรัญญา กัจคุณาเสถียร (Do.Waranya Kijkunasathian)

             แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (M.D.Ramatlibadi Hospital, Mahidol University)

             วุฒิบัตร อายุศาสตร์โรคระบบหายเดินอาหาร (Board of Medicine Gastroenterology)

        ความเชี่ยวชาญ

             - แพทย์ผู้เชี่ยวชาญการตรวจส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและการทำทัตถการผ่านกล้อง
             - การส่องกล้องทางเดินน้ำดี (ERCP)


 




 

 

  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ

 

 

 

 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือ SLIM UP ISSUE 38 กุมภาพันธ์ 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคทางช่องท้อง ที่ไม่ควรมองข้าม อัปเดตล่าสุด 30 มิถุนายน 2564 เวลา 16:28:41 25,621 อ่าน
TOP