x close

ผักโขม หรือผักขม สรรพคุณอย่างเจิด เปิดให้รู้ว่าของดีอย่างนี้ต้องโดน !


          ผักขมไม่ได้ขมอย่างชื่อ ที่สำคัญคือไม่ใช่ผักที่ป๊อปอายกินอย่างที่เราเข้าใจ อีกอย่างที่อยากบอกคือสรรพคุณของผักโขมดีต่อร่างกายเรามาก...จนยากจะมองข้าม

          ขึ้นชื่อว่าขมแต่ความจริงรสชาติผักโขม หรือผักขม ไม่ได้ขมเลยสักนิดค่ะ แถมนำไปปรุงอาหารอย่างเมนูผักโขมอบชีส ผักโขมผัดเนย หรือแม้แต่ผักโขมลวกจิ้มก็อร่อยน้อยซะเมื่อไร อ๊ะ...เกริ่นไปขนาดนี้แล้วก็อยากให้เขยิบมาทำความรู้จักผักโขมกันอีกนิด รู้ยังว่าผักโขมไม่ใช่ผักที่ป๊อบอายกินแล้วแข็งแรง แถมประโยชน์ของผักโขม ก็มีหลายข้อที่น่าสนใจ

ผักโขม
ผักโขม โดนเข้าใจผิดมานักต่อนัก !

          ด้วยลักษณะใบที่คล้าย ๆ กัน หลายคนจึงเข้าใจผิดว่าผักโขม คือ ผักที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Spinach หรือบ้านเราเรียกผักปวยเล้ง ทั้งที่จริงแล้วผักโขมหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Amaranth ซึ่งเป็นผักคนละชนิดกับผักปวยเล้งเลยนะ งั้นเรามาทำความรู้จักผักโขมกันใหม่เลยดีกว่า

          ผักโขมมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า A. dubius เป็นพืชในตระกูล Amaranthaceae ชื่อวงศ์คือ Amaranthus. มีต้นกำเนิดในประเทศเขตร้อน จริง ๆ แล้วผักโขมเป็นผักที่สามารถขึ้นได้เองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องปลูก แต่ด้วยความนิยมในการบริโภคผักโขมมีมาก เกษตรกรเลยปลูกผักโขมเพื่อจำหน่ายกันด้วย โดยผักโขมที่นิยมปลูกมีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด คือ ผักโขมจีน (ผักโขมแดงและผักโขมใบเขียว) ผักโขมบ้าน ผักโขมหนาม และผักโขมยักษ์


ผักโขม

คุณค่าทางโภชนาการของผักโขม

          ข้อมูลทางโภชนาการของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA National Nutrient data base) เผยว่า ผักโขมสด ปริมาณ 100 กรัม ให้คุณค่าทางสารอาหาร ดังนี้

     - พลังงาน 23 กิโลแคลอรี

     - คาร์โบไฮเดรต 4.02 กรัม

     - โปรตีน 2.46 กรัม

     - ไขมันทั้งหมด 0.33 กรัม

     - ไฟเบอร์ 2.2 กรัม

     - โฟเลต 85 µg

     - ไนอะซิน 0.658 มิลลิกรัม

     - กรดแพนโทเธนิก 0.065 มิลลิกรัม

     - ไรโบฟลาวิน 0.158 มิลลิกรัม

     - ไทอะมิน 0.027 มิลลิกรัม

     - วิตามินเอ 2917 IU

     - วิตามินซี 43.3 มิลลิกรัม

     - วิตามินเค 1140 µg

     - โซเดียม 20 มิลลิกรัม

     - โพแทสเซียม 611 มิลลิกรัม

     - แคลเซียม 215 มิลลิกรัม

     - สังกะสี 0.90 มิลลิกรัม

     - ธาตุเหล็ก 2.32 มิลลิกรัม

     - แมกนีเซียม 55 มิลลิกรัม

     - แมงกานีส 0.885 มิลลิกรัม

     - ฟอสฟอรัส 50 มิลลิกรัม

          จะเห็นได้ว่าผักโขมมีคุณค่าทางโภชนาการอยู่มากพอสมควร คราวนี้เรามาดูสรรพคุณของผักโขมต่อสุขภาพกันบ้าง

ผักโขม

สรรพคุณของผักโขม ดีต่อร่างกาย กินก็ง่ายนะ

1. โปรตีนสูง

          ผักโขมจัดเป็นผักโปรตีนสูงชนิดหนึ่ง ซึ่งโปรตีนเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ เพื่อช่วยในการเสริมสร้างกระดูก เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย ดังนั้นเด็ก ๆ หรือคนที่ต้องการเสริมโปรตีนให้ร่างกาย แนะนำให้กินผักโขมได้เลยค่ะ

2. ช่วยต้านอาการอักเสบ

          ไม่ใช่แค่โปรตีนสูงเท่านั้น แต่ผักโขมยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงไม่แพ้กัน สรรพคุณนี้เลยช่วยป้องกันอาการอักเสบของร่างกาย โดยเฉพาะการอักเสบที่จะเกิดกับเนื้อเยื่อหรือเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย

3. บำรุงกระดูก

          แคลเซียมในผักโขมมีมากพอที่จะช่วยบำรุงกระดูกของเราได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ใครอยากเสริมแคลเซียมให้ตัวเองก็สามารถกินผักโขมเสริมแคลเซียมได้เหมือนกัน

4. กระตุ้นการย่อยอาหาร

ผักโขม

          ขึ้นชื่อว่าเป็นผักก็ย่อมมีไฟเบอร์หรือกากใยอาหารที่จะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร ช่วยให้กระบวนการย่อยอาหารดีขึ้น ระบบขับถ่ายก็ดีขึ้นด้วยค่ะ 

5. ลดระดับคอเลสเตอรอล

          ใยอาหารในผักโขมมีส่วนช่วยกำจัดไขมันเลวหรือไขมัน LDL ไปกับการขับถ่าย ในขณะที่สารซาโปนิน (Saponin) ในผักโขมก็จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ผนึกกำลังกันลดโอกาสที่ไขมันเลวจะถูกดูดซึมไปในเส้นเลือด นอกจากนี้ผักโขมยังมีวิตามินและธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดด้วยค่ะ

6. บำรุงสายตา

ผักโขม

          วิตามินเอที่มีอยู่ในผักโขมเป็นพระเอกที่ช่วยบำรุงสายตาและประสาทในการมองเห็น แถมยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยป้องกันการอักเสบของเซลล์ ลดความเสี่ยงโรคต้อกระจก ช่วยบำรุงสายตาให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพไปนาน ๆ

7. ดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

          ร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับการบำรุงด้วยธาตุเหล็ก และโฟเลต ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมไปถึงช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ที่ทารกควรได้รับ ซึ่งในผักโขมมีธาตุเหล็กและโฟเลตในปริมาณที่ไม่น้อย

ผักโขม

ผักโขม สรรพคุณทางยาก็มี

          นอกจากผักโขมจะกินเป็นผักเพื่อสุขภาพได้แล้วก็ยังมีสรรพคุณทางยาตามตำรับแพทย์แผนไทยด้วยนะคะ ดังนี้เลย

* ถอนพิษร้อน แก้ไข้

          รากของผักโขมบ้านมีสรรพคุณถอนพิษร้อน แก้ไข้ ช่วยขับเสมหะ และขับปัสสาวะ โดยใช้น้ำเดือดจัด 1 ลิตร แช่ลงบนรากผักโขมบ้าน 20 กรัม ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นกรองรากออก กลั่นเอาแต่น้ำต้มรากผักโขมมาดื่มวันละ 4-5 ถ้วย

* แก้คัน

          นอกจากกินเพื่อบรรเทาอาการไม่สบายแล้ว เรายังสามารถนำรากผักโขมบ้านไปต้มกับน้ำแล้วอาบเพื่อบรรเทาอาการคันได้อีกด้วยนะคะ

* บรรเทาอาการปวดท้องเฉียบพลัน

          น้ำต้มจากรากผักโขมบ้านสามารถนำมาดื่มเพื่อบรรเทาอาการปวดท้องเฉียบพลัน แก้ประจำเดือนหยุดกะทันหัน และบรรเทาอาการอักเสบของเนื้อเยื่อในระบบสืบพันธุ์สตรี โดยต้มรากผักโขมสูตรเดียวกับสูตรยาถอนพิษร้อนเลยค่ะ

* บรรเทาอาการอักเสบ รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

          ต้นและรากของผักโขมนำมาตำและพอกลงบนผิวหนังเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ หรือนำมาพอกรักษาแผลน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ก็ได้เช่นกัน

ผักโขม

ผักโขม ทำเมนูอะไรได้บ้าง

          จริง ๆ แล้วผักโขมสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายเมนู ตามนี้เลย

               - 11 เมนูจากผักโขม อร่อยได้หลากหลาย

ข้อควรระวังในการกินผักโขม

          ผักโขมเป็นผักที่มีปริมาณสารออกซาเลตค่อนข้างสูง ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมของแคลเซียมและแร่ธาตุในกระแสเลือด หากกินมากเกินไป สารออกซาเลตจะสะสมในไต ทำให้เกิดนิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไต นิ่ว เกาต์ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ควรหลีกเลี่ยงการกินผักโขมในปริมาณมาก

          ประโยชน์ของผักโขมที่เรานำเสนอข้างต้น น่าจะช่วยให้หลายคนมีความรู้สึกอยากกินผักโขมมากขึ้นอีกหลายเท่าเลยใช่ไหมล่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

nutrition-and-you
food.ndtv
organicfacts

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผักโขม หรือผักขม สรรพคุณอย่างเจิด เปิดให้รู้ว่าของดีอย่างนี้ต้องโดน ! อัปเดตล่าสุด 26 เมษายน 2564 เวลา 16:33:20 231,338 อ่าน
TOP