ผักโขม ปวยเล้ง สองคู่หูตระกูลผัก แล้วคุณจะรักถ้าได้รู้คุณประโยชน์

          ผักโขม ผักปวยเล้ง พืชผักมากคุณประโยชน์ที่หลายคนมักจำสับสน รู้จักกันให้มากขึ้นรับรองว่าหลงรักผักเหล่านี้ชัวร์


          ผักโขม ผักปวยเล้ง เพียงได้ยินชื่อหลายคนก็คงจะทวีความสงสัยขึ้นไม่น้อยว่าจริง ๆ แล้วผักสองชนิดนี้ เป็นผักชนิดเดียวกันหรือเปล่า เพราะมีการถกเถียงกันมานาน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าหลายคนยังอาจจะไม่รู้จักผักทั้งสองชนิดนี้เท่าที่ควร วันนี้กระปุกดอทคอมเลยขออาสาหยิบเอาข้อมูลของผัก 2 ชนิดนี้มาให้รู้จักกัน และที่สำคัญ เราจะมาสรุปกันด้วยว่าจริง ๆ แล้วผักทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นผักชนิดเดียวกันหรือเปล่านะ และคุณค่าทางอาหารจะเด็ดดวงสู้กันได้หรือเปล่า ไปดูกันค่ะ

ผักโขม ปวยเล้ง


 ผักโขม สรรพคุณเยี่ยมยอด หากินได้ง่ายจัง

          ผักโขม ภาษาอังกฤษ คือ Amaranth (แต่คนมักเข้าใจผิดคิดว่า ผักโขม คือ Spinach) เป็นผักที่ขึ้นได้เองตามธรรมชาติ มีต้นกำเนิดในประเทศเขตร้อน โดยผักโขมที่นิยมนำมาปลูกเพื่อรับประทานนั้นมีทั้งหมด 3 ชนิดได้แก่ ผักโขมจีน ซึ่งมีใบทั้งสีแดงและสีเขียว, ผักโขมบ้าน, ผักโขมหนาม และผักโขมยักษ์ โดยผักโขมนั้นมีคุณค่าทางอาหารสูง แค่เพียง 100 กรัมก็มีปริมาณคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

          - พลังงาน 43 กิโลแคลอรี
          - โปรตีน 5.2 กรัม
          - ไขมัน 0.80 กรัม
          - คาร์โบไฮเดรต 6.70 มิลลิกรัม
          - แคลเซียม (มิลลิกรัม) 341.00 มิลลิกรัม
          - ฟอสฟอรัส (มิลลิกรัม) 76.00 มิลลิกรัม
          - เหล็ก (มิลลิกรัม) 4.10 มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 1 (มิลลิกรัม) 0.01 มิลลิกรัม
          - วิตามินบี 2 (มิลลิกรัม) 0.37 มิลลิกรัม
          - วิตามินซี (มิลลิกรัม) 120.00 มิลลิกรัม
          - ไนอาซีน (มิลลิกรัม) 1.80 มิลลิกรัม

          ผักโขมได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผักที่มีโปรตีนสูง โดยมีกรดอะมิโนสะสมอยู่ในผักมากถึง 30 ชนิด เรียกว่ามีกรดอะมิโนแทบจะทุกชนิดเลยเลยล่ะ และยังมีเบต้า-แคโรทีน ซึ่งมีประโยชน์ช่วยบำรุงสายตา วิธีรับประทานก็ไม่ได้ยาก เพราะสามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งผักโขมอบชีส เมนูยอดฮิตขวัญใจใครหลาย ๆ คน หรือแม้แต่นำไปลวกจิ้มกับน้ำพริกก็ทำได้ ถ้าชอบทานผักสด ๆ ก็สามารถรับประทานได้เหมือนกัน แต่ต้องมั่นใจนะคะว่าสามารถทนกลิ่นเหม็นเขียวได้ เพราะเจ้าผักชนิดนี้แอบมีกลิ่นเหม็นเขียวอยู่เหมือนกัน จะต้องนำไปทำให้สุกถึงจะกำจัดกลิ่นได้ค่ะ


ผักโขม ปวยเล้ง

 ประโยชน์ของผักโขม ของดีที่ต้องลอง

          นอกจากผักโขมจะขึ้นชื่อว่าเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูงแล้วก็ยังเป็นผักที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายจนน่าตกใจเลยล่ะ โดยคุณประโยชน์ก็มาจากสารอาหารในเจ้าผักชนิดนี้ล่ะค่ะ อย่างเช่น เบต้า-แคโรทีน ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม

          ขณะที่สารซาโปนิน (Saponin) ในผักโขมก็ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ขจัดสารพิษในร่างกาย ชะลอความแก่ชรา ส่วนวิตามินเอก็ให้คุณไม่น้อยหน้า ด้วยการช่วยบำรุงสายตา และยังมีวิตามินซีที่ป้องกันการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน เสริมสร้างคอลลาเจนให้แก่ผิวพรรณอีกด้วย ปิดท้ายกันด้วยไฟเบอร์ ที่มีเพียบในผักใบเขียวอย่างผักโขม ทำหน้าที่ในการกระตุ้นระบบการขับถ่าย ทำให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารลดลงค่ะ

ผักโขม ปวยเล้ง

 ผักโขม สรรพคุณทางยา แพทย์แผนไทยที่ต้องยกนิ้วให้

          นอกจากสิ่งดี ๆ ที่ได้รับจากคุณค่าทางอาหารจากผักโขมแล้ว แพทย์แผนโบราณของไทยยังนำผักโขมไปใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคอีกหลากหลายอาการ ดังนี้ค่ะ

          - ผักโขมบ้าน นำรากไปใช้เถอนพิษร้อนใน แก้ไข้ ช่วยขับเสมหะ และปัสสาวะ นอกจากนี้หากนำไปต้มน้ำอาบก็ยังช่วยบรรเทาอาการคันได้อีกด้วย

          - ผักโขมหนาม ที่เรามักจะต้องตัดมาใช้ก่อนที่จะแก่เต็มที่นั้น สามารถนำมาใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการตกเลือด แก้หนองใน ลดอาอาการแน่นท้อง รักษากลากเกลื้อน รวมทั้งช่วยขับน้ำนมในหญิงที่ให้นมบุตร ลดความร้อนในร่างกาย และรักษาอาการลิ้นเป็นฝ้าในเด็กได้อีกด้วย

ผักโขม ปวยเล้ง

 ปวยเล้ง ผักนี้มีดีกว่าที่คิด

          มาต่อที่ผักปวยเล้งกันบ้าง "ผักปวยเล้ง" หรือที่ชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Spinach เป็นผักในตระกูลเดียวกับผักโขม (Amaranth) มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศแถบอาหรับ โดยผักชนิดนี้ชาวอาหรับได้ให้สมญานามว่าเป็น "ราชาแห่งผัก" และที่ชื่อเป็นภาษาจีนนั้นก็เพราะว่าผักชนิดนี้ได้ถูกบันทึกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นยุคที่มีการถวายเครื่องราชบรรณาการ โดยในประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่า ผักปวยเล้งเป็นหนึ่งในเครื่องราชบรรณการด้วย โดยผักปวยเล้ง 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

          - พลังงาน 23 กิโลแคลอรี
          - คารโบไฮเดรต 3.63 กรัม
          - โปรตีน 2.86 กรัม
          - ไขมัน 0.39 กรัม
          - ไฟเบอร์ 2.2 กรัม
          - โฟเลต 194 ไมโครกรัม
          - ไนอะซิน 0.724 มิลลิกรัม
          - วิตามิน เอ 9,377 ยูนิต
          - วิตามิน ซี 28.1 มิลลิกรัม
          - วิตามิน อี 2.03 มิลลิกรัม
          - วิตามิน เค 482.9 ไมโครกรัม
          -  โซเดียม 79 มิลลิกรัม
          - โพแทสเซียม 558 มิลลิกรัม
          - แคลเซียม 99 มิลลิกรัม
          - ทองแดง 0.130 มิลลิกรัม
          - ธาตุเหล็ก 2.71 มิลลิกรัม
          - แมกนีเซียม 79 มิลลิกรัม
          - แมงกานีส 0.897 มิลลิกรัม
          - สังกะสี 0.53 มิลลิกรัม

        ทั้งนี้ปวยเล้งยังมีประโยชน์ในการช่วยบำรุงสุขภาพและรักษาโรคบางชนิดได้ โดยผักปวยเล้งนั้นมีพันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกได้แก่ พันธุ์ป๊อปอาย, สปาร์ก, โอเรียนท์, แปซิฟิก และสายพันธุ์ที่นิยมผลิตเพื่อการแปรรูปก็ได้แก่ สายพันธุ์โบเลโร และนอร์ดิก และเช่นเดียวกันกับผักโขม ผักปวยเล้งก็สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายชนิดเช่นกันค่ะ

ผักโขม ปวยเล้ง

 ประโยชน์ของผักปวยเล้ง ดีอย่างนี้ต้องบอกต่อ

          คุณค่าทางอาหารของผักปวยเล้งขึ้นชื่อว่าไม่เป็นที่ 2 รองใคร ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าผักชนิดนี้เหมาะสำหรับเด็กและผู้ป่วย เนื่องจากสารอาหารในผักปวยเล้งนั้นมีสูง ไม่ว่าจะทั้งโปรตีนและแร่ธาตุต่าง ๆ อีกทั้งการรับประทานผักปวยเล้งเพียง 100 กรัม ก็ช่วยให้ได้รับวิตามินซีสูงเทียบเท่ากับปริมาณที่ร่างกายต้องการ และยังมีปริมาณเบต้า-แคโรทีนเทียบเท่ากับปริมาณที่ควรได้รับต่อวันถึง 2 เท่าเลยเชียวล่ะ

          ผักปวยเล้งยังถูกนำไปใช้เป็นสมุนไพรในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่นกันเดียวกับผักโขมด้วย โดยสรรพคุณที่โดดเด่นของปวยเล้งนั่นก็ได้แก่ สรรพคุณในด้านการบำรุงเลือด ห้ามเลือด รักษาอาการเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น เลือดกำเดา หรืออาการอุจจาระเป็นเลือด ส่วนเบต้าแคโรทีนในปวยเล้งก็ยังสามารถช่วยรักษาโรคตาบอดกลางคืน และรักษาโรคโลหิตจางด้วยการรับประทานเป็นประจำทุกวัน

          ไม่เพียงเท่านั้น การรับประทานผักปวยเล้งยังสามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เนื่องจากวิตามินเคในผักปวยเล้งมีหน้าที่สำคัญในการบำรุงกระดูก ลดโอกาสการเกิดโรคกระดูกพรุน และเสริมความแข็งแรงด้วยแคลเซียม เห็นไหมล่ะประโยชน์แน่น ๆ น่าลองที่สุด

 ผักโขม และ ผักปวยเล้ง แตกต่างกันอย่างไรนะ ?

          อาจเป็นเพราะว่าตั้งแต่เด็กเรานั่นเราได้เห็นว่าในการ์ตูนเรื่อง ป๊อปอาย ตัวละครเอกอย่างป๊อปอายนั้นรับประทานผักที่มีชื่อว่า Spinach ซึ่งนั่นเป็นชื่อภาษาอังกฤษของผักปวยเล้ง ทว่ากลับมีการแปลผิดเป็นผักโขม จึงทำให้เราเข้าใจผิดกันมาโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว ผักโขมมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Amaranth ในขณะที่ผักปวยเล้งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Spinach แต่ถึงแม้ว่าทั้งสองชนิดจะเป็นผักคนละอย่างกัน แต่ก็อยู่ในตระกูลเดียวกัน รวมทั้งมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกัน

ผักโขม ปวยเล้ง

 เมนูผักโขม และผักปวยเล้ง จานเด็ดอร่อยได้ด้วยมือคุณ

          สำหรับใครที่ยังนึกไม่ออกว่าผักโขมและผักปวยเล้งนั้นสามารถนำไปทำเป็นอาหารอะไรได้บ้าง ก็ลองมาหยิบเอาเมนูเหล่านี้ไปลองทำรับประทานกันค่ะ ได้ประโยชน์แถมยังอร่อยแบบฟิน ๆ กันด้วยล่ะ

          - เป็ดตุ๋นปวยเล้งเครื่องยา เมนูสุขภาพต้านเบาหวาน
          - ธีทำผักโขมอบชีส แบบง่าย ๆ ทำกินเองได้ที่บ้าน
          - เปาะเปี๊ยะทอดผักโขมอบชีส
          - ซุปผักโขมจับผักขม ๆ มาทำซุปอุ่น ๆ สุดอร่อย
          - คีชทูน่าผักโขม สูตรไมโครเวฟ อาหารว่างฝรั่งเครื่องแน่น อร่อยง่าย ๆ
          - ลาซานญ่าผักโขมไมโครเวฟ อร่อยสไตล์อิตาเลียน
          - ทูน่าผักโขมอบชีส อาหารฝรั่งยอดนิยม ทำเองง่าย ๆ
          - น้ำผักโขม จับผักสลัดมาทำเครื่องดื่มสุขภาพ

 ข้อควรระวังในการรับประทานผักโขม และผักปวยเล้ง

ผักโขม ปวยเล้ง

          ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ผักทั้งสองชนิดนี้แม้จะมีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ก็ใช่ว่าปริมาณแร่ธาตุและวิตามินที่มีมากในผักทั้งสองชนิดจะส่งผลดีต่อร่างกายเสมอไป อย่างเช่นธาตุเหล็กและแคลเซียม ที่อยู่ในผักทั้งสองชนิดหากรับประทานมากเกินไป กรดออกซาลิกที่อยู่ในผักก็จะไปขัดขวางการดูดซึมของสารอาหาร 2 ชนิดนี้ แถมยังส่งผลให้เกิดการตกตะกอนของแคลเซียมจนอาจจับตัวเป็นก้อนนิ่วได้ ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับนิ่ว และผู้ที่ต้องการเสริมแคลเซียม ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป และควรรับประทานร่วมกับผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น และก่อนนำผักโขมและผักปวยเล้งไปปรุงอาหาร ควรนำไปลวกด้วยน้ำร้อนจะเพื่อกำจัดกรดออกซาลิกออกก่อนจะดีที่สุดค่ะ

          ทั้งนี้นอกจากธาตุเหล็กและแคลเซียมแล้ว วิตามินเคในผักทั้งสองชนิดนี้ที่มีสูงก็อาจไปขัดขวางการเปลี่ยนสภาพของยาเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยที่ทำการรักษาด้วยการรับประทานยาได้ผลไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีการใช้ยาในการรักษาอยู่ละก็ ควรเลี่ยงการรับประทานผักโขม และผักปวยเล้งสักพักจะดีกว่าค่ะ

          คุณประโยชน์ดี ๆ ที่หยิบมาให้ได้ทราบกันในวันนี้ก็ชวนให้รู้สึกอยากรับประทานผักเหล่านี้มากขึ้นกันบ้างไหมล่ะ ไม่สายหรอกเนอะที่เราจะเริ่มดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดของชีวิตก็คือการมีสุขภาพทื่แข็งแรงไร้โรคภัย จริงไหมคะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


puechkaset.com
ไทยสมุนไพร
prayod.com
nutrition-and-you.com
whfoods.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผักโขม ปวยเล้ง สองคู่หูตระกูลผัก แล้วคุณจะรักถ้าได้รู้คุณประโยชน์ อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2565 เวลา 17:00:24 205,902 อ่าน
TOP
x close