
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สำนักข่าวไทย
จิตแพทย์ เผย ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ป่วยเครียดจากเหตุไฟใต้ หรือเป็นโรคพีทีเอสดี 10% แต่เข้าถึงบริการด้านจิตเวชเพียง 2.4% เท่านั้น เร่งจัดทีมลงพื้นที่ดูแลสภาพจิตใจผู้ป่วย และค้นหาผู้ป่วยใหม่
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม นพ.ดำรง แวอาลี จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลยะลา ให้ข้อมูลว่า มีประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่าร้อยละ 10 ป่วยด้วยโรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ โรคพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งการที่ผู้ก่อเหตุจ้องเอาชีวิตครู เจ้าหน้าที่ วางระเบิด และกราดยิงในที่ชุมชน ส่งผลให้ชาวบ้านหวาดกลัว รู้สึกไม่มั่นคงในความปลอดภัยของชีวิต
นพ.ดำรง กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2550-2555 กลับพบว่า อัตราการเข้าถึงบริการด้านจิตเวชของประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้นั้นมีเพียง 2.4% เท่านั้น ซึ่งการที่ประชาชนเข้าถึงบริการน้อย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประชาชนบางส่วนสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ได้แล้ว ขณะที่บางส่วนอาจติดปัญหาการเดินทางมารับบริการรักษา
ในส่วนของการแก้ปัญหานั้น นพ.ดำรง กล่าวว่า จะอาศัยเครือข่ายบริการจิตเวชเข้ามาช่วยมากขึ้น โดยโรงพยาบาลแม่ข่ายจะให้การดูแลรักษาคนไข้จิตเวช และหากมีอาการรุนแรงก็จะส่งต่อไปรักษาที่อื่น ส่วนโรงพยาบาลลูกข่ายก็จะจัดทีมสุขภาพจิต ซึ่งมีทั้งแพทย์ พยาบาล และนักจิตวิทยา เน้นการลงพื้นที่ไปตามบ้านผู้ป่วย เพื่อดูแลสภาพจิตใจ ให้คำแนะนำในการปรับตัว ปรับวิธีคิด พร้อมกับค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการจิตเวชให้มากขึ้น
ทั้งนี้ จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลยะลา ยังระบุด้วยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กและเยาวชนมากกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องปรับสภาพจิตใจตัวเองให้เข้มแข็งก่อน โดยต้องพยายามปรับวิธีคิด ต้องอยู่อย่างมีความหวังและกำลังใจ จากนั้นแล้วจึงจะได้พูดแต่สิ่งดี ๆ ให้ลูกหลานเข้าใจ เพื่อคลายความหวาดผวาที่เกิดขึ้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
