รอบรู้ปลอดภัยกับยาปฏิชีวนะ




เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม

          เชื่อเลยว่าหลายคนยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะแบบผิด ๆ กันอยู่ เพราะส่วนใหญ่เข้าใจว่า ยาปฏิชีวนะ คือ ยาแก้อักเสบ ที่สามารถรักษาอาการป่วยได้ชะงัด โดยเฉพาะคนที่เจ็บคอเป็นหวัดมักจะวิ่งหายาแก้อักเสบมาทานเอง บางคนทานหมดไปหลายแผงแล้วก็ยังไม่หาย จนถึงกับดื้อยาเลยทีเดียว เพราะความเชื่อผิด ๆ ที่เข้าใจกันมานมนาน

          วันนี้กระปุกดอทคอม ก็เลยนำข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างปลอดภัย และถูกต้อง จาก สำนักคณะกรรมการอาหารและยา มาบอกให้กระจ่างกัน

ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ

          ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่คนทั่วไปมักเรียกยาปฏิชีวนะว่า ยาแก้อักเสบ ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะการอักเสบส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จึงไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เช่น หลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ คออักเสบจากเชื้อไวรัส ข้ออักเสบจากโรคเกาต์ อาการปวดข้อ ปวดกระดูก เป็นต้น

          ยาปฏิชีวนะมีหลายชนิด เช่น เพนนิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน เตตร้าซัยคลิน เอซิทโทรมัยซิน ซิพโพรฟล็อกซาซิน โคทรัยม็อกซาโวล ซัลฟาคลินดามัยซิน แต่ละชนิดใช้รักษาแบคทีเรียต่างกัน

          ดังนั้น อย่าเรียก "ยาปฏิชีวนะ" ว่า ยาแก้อักเสบ เพราะทำให้เข้าใจผิดว่า ทุกครั้งที่มีอาการอักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งไม่ถูกต้อง

ยาปฏิชีวนะ

3 โรคหายได้ ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

 หวัดเจ็บคอ...ต้องกินยาปฏิชีวนะหรือไม่?

          หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นหวัดเจ็บคอต้องกินยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ นั่นคือความเชื่อที่ผิด เพราะหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยาปฏิชีวนะใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย การกินยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น โรคหวัดเจ็บคอ ไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นการใช้ยาไม่ถูกกับโรค

          วิธีรักษาที่ดีที่สุด คือ ดื่มน้ำอุ่น และพักผ่อนให้เพียงพอ ภูมิต้านทานของร่างกายจะทำลายเชื้อไวรัสเอง

ท้องเสีย...อาหารเป็นพิษ ยาปฏิชีวนะช่วยได้ไหม?

          ยาปฏิชีวนะใช้ได้ผลกับอาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น แต่อาการท้องเสียที่พบบ่อย (มากกว่า 99%) เกิดจากอาหารเป็นพิษ หรือติดเชื้อไวรัส ซึ่งหายได้เอง ยาปฏิชีวนะใช้ไม่ได้ผล

          วิธีรักษาที่ดีที่สุด คือ ดื่มน้ำเกลือแร่ กินอาหารอ่อน ๆ งดอาหารรสจัด หรือย่อยยาก

ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อจากแผลเลือดออก?

          ยาปฏิชีวนะไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อในบาดแผลเลือดออกทั่วไป และไม่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น อย่านำยาเม็ดปฏิชีวนะไปบดเป็นผง หรือแกะแคปซูลออกแล้วโรยแผล เพราะผงยาอาจไม่สะอาด และปิดกั้นการระบายอากาศ อาจทำให้แผลติดเชื้อหรือเน่าได้

          ถ้าแผลไม่สัมผัสสิ่งสกปรก ล้างแผลอย่างถูกวิธี รักษาความสะอาดของแผลให้ดี เพียงเท่านี้ แผลก็หายเองได้ แต่ถ้ามีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน) หรือถ้าแผลบวม อักเสบ กรณีนี้ต้องรีบไปหาหมอเพื่อรับยาปฏิชีวนะ

ยาปฏิชีวนะ

อันตราย...หากใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้อง

          แพ้ยา มีตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น มีผื่น คัน จนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เช่น รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก และช็อก

          อาการข้างเคียง มีตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ ท้องเดิน , อาการรุนแรง เช่น ตับอักเสบ และเอ็นร้อยหวายฉีกขาด

          ดื้อยา ถ้าเชื้อดื้อยาทำให้ต้องกินยาปฏิชีวนะชนิดที่อันตรายมากขึ้น เสียเงินขึ้น ใช้เวลารักษานานขึ้น สุดท้ายยาอะไรก็รักษาไม่หาย เชื้อดื้อยาสามารถติดต่อได้ผ่านทางการไอ จาม และทางการรับประทาน ถ้าเชื้อดื้อยากระจายออกไปจะเป็นอันตรายร้ายแรงมากต่อสังคมไทย

          ติดเชื้อแทรกซ้อน จะทำให้ติดเชื้อราแทรกซ้อน เช่น มีตกขาว คันก้น หรือเป็นเชื้อราในช่องปาก หรือชักนำให้ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่รักษาได้ยาก ทำให้ป่วยหนัก ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล


ยาปฏิชีวนะ

ข้อปฏิบัติง่าย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น

           อย่าเรียกยาปฏิชีวนะ ว่า ยาแก้อักเสบ เพราะทำให้เข้าใจผิดว่าทุกครั้งที่มีอาการอักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งไม่ถูกต้อง

          สอบถามแพทย์ หรือเภสัชกรผู้จ่ายยาถึงความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะ

          ไม่เรียกร้องยาปฏิชีวนะจากแพทย์ หรือซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพราะอันตรายมาก และทำให้เชื้อดื้อยา

          อย่าใช้ยาปฏิชีวนะตามที่คนอื่นแนะนำ เพราะยานั้นอาจเหมาะสมกับเขา แต่อาจเป็นอันตรายกับเรา เพราะโรคและสภาพร่างกายของแต่ละคนต่างกัน

          ระลึกเสมอว่ายาปฏิชีวนะเป็นยาอันตราย ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น หากจะใช้ต้องมั่นใจว่ามีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น

          เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร โดยกินยาให้ครบตามขนาดและตามกำหนดอย่างเคร่งครัด

          เมื่อเกิดการเจ็บป่วยที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อ อย่ารีบใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับตัวคุณ ครอบครัว และสังคม


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รอบรู้ปลอดภัยกับยาปฏิชีวนะ อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2560 เวลา 09:35:15 72,591 อ่าน
TOP
x close