เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแพทย์วอชิงตันคิดค้นและพัฒนาแว่นตาอัจฉริยะ ที่จะช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นเซลล์มะเร็งเรืองแสงเป็นสีฟ้าได้ ทำให้ผ่าตัดเนื้องอกออกได้หมด ไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 เว็บไซต์เดลี่เมลของอังกฤษ มีรายงานว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแพทย์วอชิงตัน ได้คิดค้นและพัฒนาแว่นตาอัจฉริยะ ที่จะช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นเซลล์มะเร็งเรืองแสงเป็นสีฟ้าได้ผ่านแว่น ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาสามารถระบุตำแหน่งเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งและสามารถผ่าตัดมะเร็งออกจากผู้ป่วยได้เพียงแค่การมองเท่านั้น
ตามรายงานระบุว่า เทคโนโลยีล้ำยุคดังกล่าวได้ถูกนำมาทดลองใช้ระหว่างผ่าตัดเป็นครั้งแรกแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะมีแผนการใช้แว่นตานี้ในการผ่าตัดครั้งต่อไปในราวปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะดำเนินการผ่าตัดโดย ดร.ไรอัน ฟิล์ด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน อย่างไรก็ตามแว่นตาอัจฉริยะดังกล่าวคงจะต้องผ่านการทดสอบอีกมาก ก่อนที่จะสามารถนำมาใช้ได้อย่างกว้างขวาง
ด้าน ดร.จูลี่ มาร์เจนธาเลอร์ ศัลยแพทย์ทรวงอก เปิดเผยว่า การผ่าตัดครั้งแรกใน Alvin J. Siteman Cancer Center ที่โรงพยาบาลบาร์เนส จีวิช และโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประสบความสำเร็จไปด้วยดี ซึ่งในขณะนี้นักวิจัยกำลังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นของเทคโนโลยี และจะต้องมีการพัฒนาและทดสอบมากกว่านี้ แน่นอนว่าเมื่อการทดสอบเสร็จสิ้น เราจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างแน่นอน จากผลประโยชน์ที่คนไข้จะได้รับ
ด้วยเทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เซลล์มะเร็งยังคงเป็นเซลล์ที่ยากแก่การตรวจพบ อีกทั้งแพทย์ยังไม่สามารถแน่ใจได้ด้วยว่าภายหลังการผ่าตัดจะยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในตัวของผู้ป่วยอีกหรือไม่ โดยในขั้นตอนการรักษาขณะนี้ แพทย์ต้องผ่าตัดครั้งแรกเพื่อนำเซลล์เนื้องอกออกจากร่ายกายของผู้ป่วย และต้องนำเนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่หรือไม่ ซึ่งหากมีการพบเซลล์มะเร็งในเนื้อเยื่อ ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการผ่าตัดซ้ำอีกครั้งเพื่อนำเนื้อเยื่อพิเศษออกไปตรวจสอบหาเซลล์มะเร็งเพิ่มเติมเช่นกัน
นอกจากนี้ ดร.จูลี่ มาร์เจนธาเลอร์ ยังได้ยกตัวอย่างว่า 20-25% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดนำก้อนเนื้อออกไปจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดซ้ำ เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะเผยให้แพทย์เห็นว่ามีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งหรือไม่ ด้วยการผ่าตัดครั้งแรกเพียงครั้งเดียว ขณะที่แว่นตานี้จะช่วยลดความจำเป็นในขั้นตอนเหล่านั้น ทั้งยังช่วยลดความกังวลของผู้ป่วย ลดเวลาและค่าใช้จ่ายที่ตามมาหลังการผ่าตัดด้วย