
สธ .เตือนระวัง 6 โรคติดต่อจากอาหารและน้ำ ในช่วงภัยแล้ง ปีนี้พบป่วยแล้วกว่า 2 แสนราย (กระทรวงสาธารณสุข)
สธ. เตือนประชาชนระวังโรคติดต่อที่มากับฤดูร้อนและช่วงภัยแล้ง สาเหตุจากอาหารและน้ำที่ไม่สะอาดที่พบบ่อย 6 โรค คือ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ เอ ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้วกว่า 200,000 ราย เสียชีวิต 3 ราย
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2557 นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงหน้าร้อนของทุก ๆ ปี อุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี โรคติดต่อที่พบบ่อยมี 6 โรค คือ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ บิด และไวรัสตับอักเสบ เอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้พยากรณ์โรค โดยวิเคราะห์ข้อมูลการเฝ้าระวัง การป่วยย้อนหลัง 10 ปี และคาดการณ์สถานการณ์โรคติดต่อที่ติดต่อทางอาหารและน้ำที่เกิดในฤดูร้อน
ปี 2557 นี้ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม มีโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 3 โรค ได้แก่



ด้วยเหตุนี้ กระทรวงจึงได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรณรงค์ความสะอาดร้านอาหาร โรงงานผลิตน้ำดื่ม โรงงานผลิตน้ำประปา โรงงานผลิตน้ำแข็ง โรงงานผลิตไอศกรีม ตลาดสด และส้วมสาธารณะ เฝ้าระวังโรคหากมีรายงานผู้ป่วยในพื้นที่ ให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ออกสอบสวนควบคุมโรคทันที เพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ 6 โรค ในปี 2556 พบผู้ป่วยรวมทั้งหมด 1,259,408 ราย เสียชีวิต 13 ราย โรคอุจาระร่วงพบผู้ป่วยมากสุดคือ 1,122,991 ราย เสียชีวิต 12 ราย รองลงมาโรคอาหารเป็นพิษ 130,653 ราย เสียชีวิต 1 ราย โรคบิด 2,822 ราย โรคไทฟอยด์ 2,562 ราย โรคไวรัสตับอักเสบ เอ 372 ราย และโรคอหิวาตกโรค 8 ราย
ส่วนในปี 2557 นี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 24 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วย 6 โรครวม 206,528 ราย ผู้ป่วยมากที่สุดคือโรคอุจจาระร่วง 186,298 ราย รองลงมาโรคอาหารเป็นพิษ 19,549 ราย เสียชีวิต 3 รายจากโรคอุจาระร่วง
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า โรคติดต่อที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงดิบ ๆ สุก ๆ มีแมลงวันตอม หรือทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ อาหารค้างคืน รวมทั้งการมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ไม่ดี เช่น ไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ การใช้ช้อนหรือแก้วน้ำร่วมกับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ
ดังนั้น กรมควบคุมโรคขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ ยึดหลักป้องกันป่วยคือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน ใช้ช้อนกลางตักอาหารร่วมกัน ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม ทำความสะอาดครัวปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก
สำหรับอาการป่วยของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะโรคอุจาระร่วงที่พบผู้ป่วยและเสียชีวิตมากสุดในแต่ละปี อาการของผู้ป่วยจะคล้ายกัน มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
ในการดูแลผู้ป่วย ในระยะแรกควรให้ดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมาก ๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือที่เรียกว่าผงโออาร์เอส หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้านทานโรคน้อย เสี่ยงชีวิตได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ
ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา ได้คาดการณ์ว่าตลอด 4 เดือนของฤดูร้อนในปี 2557 นี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม จะมีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเฉลี่ยเดือนละ 9,000 ราย มีผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉลี่ยเดือนละ 80,000-90,000 ราย มีผู้ป่วยโรคไทฟอยด์เฉลี่ยเดือนละ 200 ราย
ส่วนผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ เอ เฉลี่ยเดือนละ 15 ราย และอาจเพิ่มถึง 100 รายในเดือนพฤษภาคม ดังนั้น กรมควบคุมโรคจึงได้จัดเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วไวกว่า 2,700 ทีมทั่วประเทศ สามารถลงพื้นที่ควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
