กรมอนามัย ชวนหญิงไทยเลิกอาย ตรวจ VIA ป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก (กรมอนามัย)
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยสถิติผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยประมาณ 4,500 รายต่อปี และพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 8,000 คนต่อปี สาเหตุที่สตรีไทยไปตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากความอาย
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า โรคมะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับ 2 ในสตรีไทยและทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตประมาณ 4,500 รายต่อปี และพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 8,000 คนต่อปี สาเหตุหนึ่งเกิดจากความอาย จึงไม่กล้าเข้ารับการตรวจคัดกรอง ซึ่งความจริงแล้วหากตรวจพบในระยะแรกสามารถรักษาได้ทันที แต่ทางที่ดีที่สุดคือ การเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกเมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้วิธีการคัดกรองของกระทรวงสาธารณสุข มี 2 วิธีคือ
1. Pap smear เป็นวิธีที่ใช้กันมากที่สุด เพราะใช้เวลา 2-5 นาที และรู้ผลภายใน 2–4 สัปดาห์
2. VIA เป็นวิธีที่ง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำ รู้ผลทันที และกำลังเป็นที่นิยม โดยการใช้น้ำส้มสายชูชนิดเจือจางป้ายที่บริเวณปากมดลูก ทิ้งไว้ 1 นาที น้ำส้มสายชูจะไปทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อที่ผิดปกติของปากมดลูกให้เห็นเป็นฝ้าขาว ซึ่งสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าและรักษาได้ทันทีด้วยการจี้เย็น (Cryotherapy)
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยดำเนินการเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกโดยเพิ่มความครอบคลุมของการคัดกรอง เพื่อค้นหาสตรีที่ปากมดลูกมีความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรกหรือระยะก่อนเป็นมะเร็ง เพื่อเข้ารับการรักษาทันที จะได้ผลคุ้มค่ากว่าการรักษาเมื่อเป็นมะเร็งโดยความร่วมมือกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
คณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และองค์การ JHPIEGO นำการตรวจคัดกรองด้วยวิธี VIA มาใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกสำหรับสตรีไทย หรือการคัดกรองแบบผสมผสานคือ การตรวจคัดกรองด้วยวิธี VIA ทุก 5 ปี สำหรับสตรีอายุ 30-45 ปี ร่วมกับการคัดกรองวิธี Pap smear ทุก 5 ปี สำหรับสตรีอายุ 46-60 ปี ซึ่งเป็นวิธีที่คุ้มค่ามากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการคัดกรองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียว และมีความคุ้มค่ามากกว่าการฉีดวัคซีน HPV ซึ่งยังมีราคาแพง
"ปัจจุบันมีสตรีไทยเข้ารับบริการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี VIA แล้วกว่า 600,000 ราย กรมอนามัยจึงขยายการดำเนินงานไปยังจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด หนองคาย อำนาจเจริญ ยโสธร มุกดาหาร เชียงใหม่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลพบุรี สระแก้ว สระบุรี สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง สตูล ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์อนามัยเขต 12 แห่ง ต่อไป" อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก