ยาแก้ไออันตราย

ยาแก้ไอ



ยาแก้ไออันตราย (ข่าวสด)
คอลัมน์ที่ 13

           จากข่าวนักเรียนชั้นประถมโรงเรียนวัดท่าพระ ย่านฝั่งธนบุรี เกือบร้อยคนล้มป่วยด้วยอาการหลากหลาย หลังกิน "ยาแก้ไอ" ชนิดเม็ดเกินขนาด เพราะได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ว่าช่วยให้เรียนดี ครูตีไม่เจ็บ และเล่นเกมได้นาน

           ยาที่เป็นต้นเหตุความวุ่นวายครั้งนี้ คือ ยาแก้ไอ ที่มีชื่อสามัญ ว่า เดกซ์โทรเมธอร์แฟน (Dextrome thorphan) เป็นยาที่ใช้ทั่วไปในการรักษาอาการไอแบบไม่มีเสมหะ ซึ่งมาจากอาการหวัด โดยยาดังกล่าวมีการผลิตเป็น 100 ตำรับ

           สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดให้ยาดังกล่าวเป็นยาอันตราย การใช้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์และเภสัชกร

           ปกติ ยาแก้ไอจะมีทั้งแบบเม็ด และแบบน้ำ ที่ผ่านมามักพบว่ามีการนำยาแก้ไอไปใช้แบบผิดประเภท จนต้องยกเลิกตำรับยาบางอย่างไป เช่น ยาโคเดอีน ที่จัดอยู่ในกลุ่มสารเสพติด เพราะมีโครงสร้างของเคมีคล้าย ๆ กับยาเสพติด ยิ่งมีการนำไปผสมสารเสพติดอื่น ยิ่งเสริมฤทธิ์กลายเป็นยาเสพติด ทำให้เกิดอาการคล้ายดื่มเหล้า จึงต้องยกเลิกการจำหน่าย และการลักลอบขาย ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

           สำหรับ ยากลุ่ม Dextromethorphan มีโครงสร้างบางส่วนคล้าย ๆ กับโคเดอีน แต่ไม่ถึงขั้นทำให้ออกฤทธิ์กดประสาท ให้เกิดความเคลิบเคลิ้มได้เท่า แต่จะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทเพื่อระงับอาการไอเท่านั้น ไม่สามารถ ทำให้เคลิบเคลิ้ม สนุกสนาน แต่อาจทำให้มึน ๆ งง ๆ เหมือนยาแก้หวัดทั่วไป จึงสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยมากกว่า แต่ก็ยังเป็นยาอันตรายที่ต้องมีการควบคุม

           ยาชนิดนี้จะมีผลข้างเคียงคือ ทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน หากรับประทานเกินขนาด โดยปริมาณสำหรับผู้ใหญ่จะอยู่ที่วันละไม่เกิน 8 เม็ด และเด็กวันละไม่เกิน 4 เม็ดเท่านั้น

           สำหรับ ยาแก้ไอชนิดอื่น ๆ ที่ยังอนุญาตให้ขายอยู่มีหลายแบบ ทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ สำหรับบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ โดยมีข้อพึงระวังหลายอย่างโดยเฉพาะการใช้ในเด็ก

           ในอดีตจะพบว่ายาแก้ไอชนิดน้ำ มักจะมีการผสมน้ำเชื่อม หรือแอลกอฮอล์ด้วย เพื่อดับรสของยาที่จะมีความเฝื่อน ขม ทำให้เห็นว่ามีการนำยาแก้ไอใช้ผสมเครื่องดื่ม น้ำอัดลม เพราะหวังผลให้เกิดฤทธิ์คล้ายการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นการใช้ยาผิดประเภท

           ในระยะหลังจะไม่นิยมผสมแอลกอฮอล์ เพราะเกิดอาการแพ้ในผู้ป่วยบางราย รวมทั้งไม่สามารถใช้ในเด็กได้ ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 หากพบว่าจำหน่ายยาดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

           หากร้านที่ขายยา ไม่ทำบัญชีรับและจ่ายยาอันตราย จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากจำหน่ายยาอันตรายโดยไม่มีเภสัชกรควบคุม ปรับไม่เกิน 50,000 บาท สภาเภสัชกรจะสั่งพักใช้ใบอนุญาตตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 9 เดือน และหากเภสัชกรไม่ควบคุมการจัดทำบัญชีสต๊อกยา จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

           ขึ้นชื่อว่า ยา แม้มีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ถ้าใช้เกินขนาดและไม่ถูกวิธี เหมือนกับบรรดาหนูน้อยเด็กประถม โรงเรียนวัดท่าพระที่แพ้ยาแก้ไอครั้งนี้


  เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย 

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาแก้ไออันตราย อัปเดตล่าสุด 30 สิงหาคม 2566 เวลา 16:38:54 62,607 อ่าน
TOP
x close