ดอกคำฝอยดียังไง ได้ยินชื่อเสียงมานาน วันนี้เราคงต้องทำความรู้จักสรรพคุณของดอกคำฝอยกันสักที เชื่อเถอะ กินดี มีประโยชน์ !
ดอกคำฝอยหรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Safflower เป็นดอกไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ สรรพคุณของดอกคำฝอยแน่นอนว่าก็ต้องดีต่อร่างกาย แต่ดอกคำฝอยจะดียังไง กระปุกดอทคอมพาดอกคำฝอยมาให้ทุกคนทำความรู้จักแล้วค่ะ
ดอกคำฝอย ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Carthamus tinctorius L. ส่วนชื่อภาษาอังกฤษของดอกคำฝอยมีตั้งแต่ Safflower, False Saffron หรือ Saffron Thistle ส่วนในบ้านเรานั้นดอกคำฝอยถูกเรียกขานกันไปต่าง ๆ นานา โดยส่วนมากจะมีชื่อเป็นคำเมือง เช่น คำ คำฝอย ดอกคำ คำหยุม คำยุ่ง คำหยอง หรือคำยอง เป็นต้น
ดอกคำฝอยเป็นดอกไม้ในวงศ์ Compositae เป็นไม้ล้มลุก ขนาดความสูงราว ๆ 40-130 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสัน แตกกิ่งก้านได้มาก ใบเป็นใบเดี่ยว รูปทรงรี ขอบใบเป็นหยักฟันเลื่อย ปลายใบเป็นหนามแหลม
ดอกคำฝอยจะออกเป็นช่อที่ปลายยอด หนึ่งช่อจะมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร กลีบดอกรวมตัวเป็นกระจุก กลีบดอกขณะเป็นดอกอ่อนจะออกสีเหลือง เมื่อแก่กลีบดอกจะออกสีแดงส้มถึงน้ำตาลแเดง ดอกคำฝอยมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ละอองเรณูสีขาวเหลือง ยอดเกสรเพศเมียจะยาวกว่า ตัวเกสรดอกคำฝอยจะมีกลิ่นเฉพาะ ส่วนรสชาติของดอกและเกสรจะมีรสหวานร้อนออกขมเล็กน้อย ส่วนผลดอกคำฝอยจะเป็นผลแห้ง ไม่แตก เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก สีขาว
สรรพคุณของดอกคำฝอยเป็นสมุนไพรโบราณที่ใช้บำรุงร่างกายกันมาเนิ่นนาน โดยเราได้แยกสรรพคุณของดอกคำฝอยออกเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. บำรุงหัวใจ
การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า ดอกคำฝอยมีสารต้านอนุมูลอิสระชนิดฟลาโวนอยด์ และอัลคาลอยด์ รวมทั้งสารสีในกลุ่ม Quinochalcone ซึ่งมีส่วนช่วยในการป้องปกหัวใจและหลอดเลือดในกลุ่มสัตว์ทดลอง
เช่นเดียวกับชาวจีนที่ศึกษาพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาว่า ดอกคำฝอยมีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจ เพราะทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้น ต้านการขาดเลือดของหัวใจ รวมทั้งป้องกันสภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบแคบลง
2. บำรุงโลหิต แก้ปวดประจำเดือน
ดอกคำฝอยเป็นยาบำรุงเลือดของผู้หญิงที่ดีมาก เพราะมีฤทธิ์อุ่น จึงมีตำรับยาสมุนไพรที่ใช้ดอกหรือกลีบจากผลดอกคำฝอยมาบำรุงโลหิต ขับเลือด ขับระดูคั่งค้างให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ลดอาการปวดประจำเดือน-ปวดท้องน้อยได้ดี โดยนำดอกคำฝอยแก่มาชงเป็นชาไว้ดื่มในช่วงประจำเดือนมา หรือจะดื่มเพื่อช่วยขับน้ำคาวปลาหลังคลอด และทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้นก็ยังได้
3. ลดไขมันในเลือด
จากการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดจากดอกคำฝอยมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเลือด ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ โดยใช้ดอกคำฝอยแห้ง 2 หยิบมือ (2.5 กรัม) ชงกับน้ำร้อนครึ่งแก้ว ดื่มเป็นชาดอกคำฝอย
เมล็ดดอกคำฝอยมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ เนื่องจากมีสารต้านอาการอักเสบและมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบางตัวได้
5. แก้อาการปวด ขัด ตามข้อต่าง ๆ
เราสามารถนำน้ำมันสกัดจากเมล็ดดอกคำฝอยมาทาแก้อาการปวดบวม แก้ขัดตามข้อต่าง ๆ ได้ เพราะน้ำมันสกัดจากเมล็ดดอกคำฝอยมีฤทธิ์ลดอาการอักเสบและลดอาการบวมนั่นเองค่ะ
6. รักษาแผลฟกช้ำ
ดอกคำฝอยแช่เหล้า หรือนำดอกคำฝอยมาตำแล้วพอกบริเวณแผลฟกช้ำ เป็นสูตรบรรเทาอาการฟกช้ำ ดำ เขียวของคนโบราณด้วยนะคะ
7. รักษาโรคผิวหนัง
หรือจะนำดอกคำฝอยมาต้มน้ำอาบแก้อาการคันตามผิวหนัง แก้อาการโรคหัด แก้อาการแสบร้อนตามผิวหนัง และช่วยบำรุงน้ำเหลืองให้ปกติก็ได้เช่นกัน
8. รักษาหวัด
ชาดอกคำฝอยนำมาชงดื่มร้อน ๆ ช่วยแก้หวัด น้ำมูกไหล ได้เป็นอย่างดี แถมดอกคำฝอยยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ด้วยล่ะ
ดอกคำฝอยมีข้อควรระวังในการรับประทานอยู่เหมือนกันค่ะ โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ ไม่ควรดื่มชาดอกคำฝอยหรือผลิตภัณฑ์จากดอกคำฝอย เพราะดอกคำฝอยมีสรรพคุณขับเลือดซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้
ส่วนในเพศชายก็ควรระมัดระวังเช่นกัน เนื่องจากหนูที่ได้รับสารสกัดจากดอกคำฝอยในปริมาณ 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ติดต่อกัน 35 วัน พบว่า หลอดสร้างอสุจิของหนูทดลองมีขนาดสั้นลง และการสร้างอสุจิก็มีปริมาณลดลงด้วย เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ดังนั้นการบริโภคผลิตภัณฑ์จากดอกคำฝอยในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และชายที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์จึงเป็นเรื่องที่ควรระวังนะคะ
ดอกคำฝอยสรรพคุณดีไม่เบา งั้นเรามาทำชาดอกคำฝอยดื่มกันเถอะ !
วิธีชงชาดอกคำฝอย
- สิ่งที่ต้องเตรียม
* น้ำสะอาด 500 มิลลิลิตร
* ดอกคำฝอยแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ
* ดอกเก๊กฮวยแห้ง 5-10 ดอก
* น้ำเชื่อม ปริมาณตามชอบ
1. ใส่น้ำลงในหม้อ ตั้งไฟแรง พอน้ำเดือดก็ใส่ดอกคำฝอยแห้ง และดอกเก๊กฮวยลงไปต้มจนเดือด รอกระทั่งน้ำเริ่มเปลี่ยนสี ลดไฟอ่อนลง ต้มต่ออีกสักครู่ ยกลงจากเตา กรองเอากากออก ให้หมด
2. ใส่น้ำเชื่อมลงในแก้ว ตักน้ำคำฝอยใส่ คนผสมให้เข้ากัน พร้อมดื่มแบบอุ่น ๆ เป็นชาสมุนไพร หรือหากดื่มแบบเย็นก็สามารถเติมน้ำแข็งเพิ่มความสดชื่นได้จ้า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี