คนไทยฆ่าตัวตายถึง 4 พันคนต่อปี สาเหตุความเครียดเรื้อรัง-ปัญหาครอบครัวนำไปสู่การคิดสั้น
อธิบดีกรมสุขภาพจิตเผย ปัจจุบันคนไทยฆ่าตัวตาย 4 พันคนต่อปี ชี้สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาเครียดเรื้อรัง ทั้งป่วยกาย ป่วยใจ ภาวะซึมเศร้าและปัญหาครอบครัว ถือเป็นบ่อเกิดหลักของการคิดสั้น
จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่หนุ่มขายเครื่องมือก่อสร้าง ก่อเหตุใช้ปืนจ่อยิงภรรยาและลูกน้อยเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่าสาเหตุน่าจะมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ หลังจากผู้ที่เป็นพ่อตกงาน ต้องแบกรับหนี้สินมากมาย จึงก่อเหตุฆ่าตัวตายยกครัวดังกล่าว
ล่าสุด วันที่ 10 มิถุนายน 2558 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพ เปิดเผยว่า การฆ่าตัวตายนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ณ ขณะนั้น เช่น ทางด้านจิตใจ ทางร่างกาย ทางสังคม และเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยภาวะโรคซึมเศร้า และผู้ที่ใช้สารเสพติด รวมไปถึงผู้ที่บกพร่องต่อหน้าที่ที่รับผิดชอบในครอบครัว ซึ่งบุคคลเหล่านี้มักมีสัญญาณเตือนที่เราสังเกตได้ก่อนเกิดเหตุ เช่น เริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปแบบฉับพลัน โกรธง่าย หรือคุมอารมณ์และสติไม่อยู่
ทั้งนี้ นพ.เจษฎา กล่าวว่า ในแต่ละปีคนไทยมีการฆ่าตัวตายสำเร็จไม่ต่ำว่า 3,600 คน หรือ 6 รายต่อหนึ่งแสนคน จากสถิติเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 6.07 รายต่อหนึ่งแสนคน สำหรับกรณีที่คนเป็นพ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวตัดสินใจยุติชีวิตทั้งครอบครัวลง เพราะเนื่องจากคิดว่าหากตนเสียชีวิตไปแล้ว คนในครอบครัวที่เหลืออาจดำรงชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ ซึ่งเป็นวิธีการคิดที่ผิด เนื่องจากทุกคนต่างมีสิทธิ์ในการมีชีวิตต่อไป
อย่างไรก็ตาม การฆ่าตัวตายในครอบครัวส่วนใหญ่มักเกิดจากการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ หรืออยู่ในภาวะเครียดเรื้อรังมานาน จนเกิดภาวะท้อแท้สิ้นหวังรุนแรง ถึงขั้นเป็นภาวะซึมเศร้า แต่ทั้งหมดนี้สามารถป้องกันเหตุฆ่าตัวตายหากมีคนให้คำปรึกษา หรือเข้ารับบริการทางการแพทย์
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก