x close

ครอบแก้วปล่อยเลือด บำบัดโรคได้จริง หรือแฝงอันตราย !?

ครอบแก้ว

          ครอบแก้วเจาะเลือดแบบที่แชร์กันสนั่นอินเทอร์เน็ต ทำแล้วขับเลือดเสียออกจากร่างกาย รักษาโรคได้จริงหรือ มารู้จักศาสตร์การรักษาแบบแพทย์แผนจีนให้มากขึ้น

          เห็นข่าวการบำบัดโรคด้วยการครอบแก้วดูดเลือดแชร์กันในอินเทอร์เน็ต ก็ทำให้หลายคนสงสัยว่า การครอบแก้วด้วยวิธีนี้อันตรายหรือไม่ เพราะดูแล้วน่าหวาดเสียวพอสมควร แล้วจะช่วยรักษาโรคได้ตามที่กล่าวอ้างจริงหรือ วันนี้กระปุกดอทคอม เลยนำข้อมูลเกี่ยวกับการครอบแก้วมาอธิบายให้ทุกคนได้ทราบกัน

ครอบแก้ว

การครอบแก้วคืออะไร

          ครอบแก้ว หรือ Cupping therapy เป็นหนึ่งในวิธีบำบัดโรคด้วยแพทย์ทางเลือกซึ่งค้นพบมานานกว่าพันปีแล้ว โดยมีบันทึกอยู่ในตำราแพทย์แผนจีน ซึ่งสมัยโบราณจะใช้เขาวัวมาทำเป็นอุปกรณ์ครอบแก้ว ก่อนจะพัฒนาการเรื่อยมาจนกลายเป็นแก้วในปัจจุบัน

          ทั้งนี้การครอบแก้ว โดยหลักการคือ จะนำเอาถ้วย ซึ่งอาจเป็นแก้ว เครื่องเคลือบ ซิลิโคน บ้องไม้ไผ่ ฯลฯ ไปใส่แอลกอฮอล์แล้วจุดไฟ เพื่อทำให้เกิดสภาพสุญญากาศ จากนั้นนำแก้วมาวางบนส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหลังซึ่งเป็นจุดเส้นลมปราณ ถ้วยแก้วที่วางลงไปจะดูดกล้ามเนื้อบริเวณนั้นจนเกิดเป็นสีแดงจ้ำ ๆ วางทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีหรือตามแต่แพทย์พิจารณา จึงค่อยนำแก้วออก ซึ่งรอยช้ำจ้ำ ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นจะหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
ครอบแก้ว

          การครอบแก้วตามศาสตร์แพทย์จีนมีอยู่หลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น

          - หลิวก้วน เป็นการครอบแก้วทิ้งไว้บนผิวหนัง 5-15 นาที ขึ้นอยู่กับแพทย์จะพิจารณา จากนั้นจึงดึงแก้วออก วิธีนี้ใช้สำหรับแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ปวดหลัง ปวดเอว

          - โจ่วก้วน เป็นการเดินแก้วโดยทาน้ำมันหล่อลื่น หรือวาสลีนลงไปบนผิวหนังตำแหน่งที่จะทำการครอบแก้ว หรืออาจทาไว้ที่ปากกระบอก จากนั้นจึงนำแก้วครอบลงไปแล้วถูไป-มา ขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา จนผิวเปลี่ยนเป็นสีแดงระเรื่อ มักใช้กับเนื้อที่ขนาดใหญ่และมีกล้ามเนื้อมาก เช่น แผ่นหลัง เอว ก้น ต้นขา เพื่อรักษาโรคปวดจากลมและความชื้น รวมทั้งอาการชาด้วย

          - ส่านก้วน คือการครอบแก้วแบบดึงเร็ว คือหลังจากครอบแก้วเสร็จแล้วจะต้องรีบดึงเอาแก้วออก ไม่วางทิ้งไว้ และทำเช่นนี้ซ้ำ ๆ หลายครั้งจนกว่าผิวหนังบริเวณดังกล่าว จะเปลี่ยนเป็นสีแดงคือ มีภาวะเลือดคั่งแล้วจึงหยุด ส่วนมากใช้รักษาผู้ป่วย ที่มีอาการปวดและชาที่ผิวหนังหรือสมรรถภาพเสื่อมถอย

          - ชือลั่วป๋าก้วน เป็นการครอบแก้วที่ประสานกับการใช้เข็มเพื่อแทงสะกิดเลือด หลังจากการฆ่าเชื้อตำแหน่งที่ต้องการทำการครอบแก้วแล้ว จะมีการใช้เข็มซานหลิงจิ้มให้เลือดออก หรือใช้เข็มดอกเหมยเคาะตี หลังจากนั้น จึงครอบแก้วลงไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา ส่วนมากใช้รักษาโรคไฟลามทุ่ง ฝีหนอง ที่เต้านม หรือเคล็ดขัดยอก เป็นต้น

          - หลิวเจินป๋าก้วน คือการฝังเข็มพร้อมกับการครอบแก้ว เรียกง่าย ๆ ว่า เจินก้วน วิธีการรักษานี้ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการฝังเข็ม และการครอบแก้วควบคู่กัน คือ หลังจากฝังเข็มลงไปแล้ว จึงนำแก้วครอบลงไปอีกทีโดยมีเข็มที่ปักอยู่เป็นจุดศูนย์กลาง วางไว้ประมาณ 5-10 นาที รอจนผิวเป็นสีแดงหรือมีเลือดคั่งจึงเอาแก้วและถอนเข็มออก

          อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและวินิจฉัยว่าต้องใช้วิธีใดจึงจะเหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป

ครอบแก้ว

ครอบแก้วเพื่ออะไร ?

          ตามตำราจีนเชื่อว่า ในร่างกายของเรามีพลังชี่ (Qi) ซึ่งเกิดความไม่สมดุลขึ้นได้ และทำให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้น แต่การครอบแก้วจะช่วยนำพลังชี่กลับมา และทำให้กล้ามเนื้อที่เกร็งตัวได้คลายตัว อีกทั้งไปกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตที่ติดขัด เลือดที่คั่งค้างอยู่ในผิวหนังทำให้หายปวด หายเมื่อย ไปจนถึงมีสุขภาพดีขึ้น เช่น ช่วยรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะไอเรื้อรัง หรือหอบ อัมพฤกษ์ อัมพาต อีกทั้งยังอาจรักษาโรคซึมเศร้าได้ด้วย เนื่องจากเชื่อว่าความร้อนจากถ้วยที่ไปกระตุ้นพลังชี่ จะทำให้จิตใจของผู้ป่วยรู้สึกเหมือนได้รับการเยียวยา

ครอบแก้ว

อาการป่วยแบบไหนถึงควรใช้การครอบแก้ว ?

          นพ.ภาสกิจ วัณนาวิบูล อุปนายกและเลขาธิการสมาคมแพทย์แผนจีนในประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า แพทย์แผนจีนจะพิจารณาใช้การครอบแก้วกับคนที่มีอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อมาก ๆ โดยเฉพาะบริเวณแผ่นหลัง สะบัก แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรงหรือไม่ เพราะหากร่างกายอ่อนแอจะไม่เหมาะที่จะใช้การครอบแก้ว เนื่องจากการใช้แก้วดูดอาจเป็นการดึงพลังออกมาแทน ทั้งนี้การครอบแก้วอาจต้องทำหลาย ๆ ครั้งถึงเห็นผล ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วยว่าต้องทำบ่อยแค่ไหน บางคนอาจต้องรอให้รอยแผลจ้ำ ๆ จางไปก่อน

ครอบแก้วดูดเลือดเสีย มีจริงหรือ ?

          ดังที่กล่าวไปแล้วว่าการครอบแก้วมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี หนึ่งในนั้นก็คือวิธี "ชือลั่วป๋าก้วน" ที่ใช้เข็มแทงสะกิดเลือดออกมา อาจเรียกได้ว่า Wet Cupping ซึ่งต้องบอกว่าโดยปกติแล้วแพทย์จะไม่ใช้วิธีครอบแก้วปล่อยเลือดเท่าไรนัก ยกเว้นในผู้ป่วยบางกรณีเท่านั้นที่แพทย์ลงความเห็นว่าต้องใช้วิธีปล่อยเลือดร่วมด้วย ดังนั้นแพทย์จะไม่ใช้วิธีครอบแก้วปล่อยเลือดแบบพร่ำเพรื่อ แต่จะต้องตรวจ และชี้แจงให้ผู้ป่วยทราบว่าทำไมต้องรักษาด้วยการปล่อยเลือด

          ส่วนที่ว่าการปล่อยเลือดเช่นนี้จะนำเอาเลือดเสียและสารพิษออกจากร่างกายได้ดังที่ในอินเทอร์เน็ตกล่าวอ้างไว้หรือไม่นั้น... จริง ๆ แล้วเลือดที่ออกมาเป็นเพียงเลือดจากเส้นเลือดฝอยทั่วไป ไม่ใช่เลือดชั่ว เลือดเสีย ซึ่งแพทย์แผนจีนมองว่าการปล่อยเลือดที่คั่งอยู่ในส่วนนั้น ๆ ออกมาจะช่วยกระตุ้นให้เลือดบริเวณนั้นไหลเวียนได้สะดวกขึ้น มักใช้กับผู้ป่วยที่มีเลือดคั่งหรือผู้ที่มีความร้อนสูง

ครอบแก้ว

เจาะปล่อยเลือดแบบนี้ อันตรายไหม ?

          เรื่องนี้..อาจารย์พีระ อธิปธรรมวารี แพทย์แผนไทยประจำโรงพยาบาลนครธน ให้สัมภาษณ์ทางช่องอมรินทร์ 34 ว่า กระบวนการรักษาเช่นนี้เป็นศาสตร์การรักษาอย่างหนึ่งของแพทย์แผนจีน ชื่อว่า Blood Letting หรือการเจาะปล่อยเลือด เพื่อบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วย ปกติแล้วจะนิยมในประเทศจีน อเมริกา สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ส่วนไทยจะเป็นการรักษาในห้องเวชกรรมเสียส่วนใหญ่ 

          วิธีการก็คือ แพทย์ต้องพิจารณาก่อนว่าอาการนั้นควรเจาะปล่อยเลือดหรือไม่ คนไข้มีความพร้อมแค่ไหน โดยเมื่อครอบแก้วลงไปแล้ว ก็จะดูที่สีผิว คือถ้ารอยช้ำเป็นสีแดง ๆ ชมพูบาง ๆ แสดงว่าเลือดไหลเวียนดี ไม่มีการติดขัดมาก แต่ถ้าครอบไปแล้วมีสีแดงเข้มแกมม่วง แสดงว่าเป็นมาเรื้อรัง มีเลือดคั่งอยู่ แพทย์ก็จะถามคนไข้ว่ามีอาการปวดตึงมากแค่ไหน ซึ่งถ้าปวดมากก็อาจจะใช้วิธีลดแรงดันของเลือดในมัดกล้ามเนื้อออกโดยใช้เข็มสะกิดที่ผิว

          อย่างไรก็ดี คนไข้ที่ได้รับการรักษาแบบนี้ ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะต้องรักษาความสะอาดให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งรอยช้ำตามร่างกายจากการรักษาแบบนี้จะหายไปใน 4-5 วัน โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่า คนไข้รายใดจะต้องรักษาด้วยการเจาะเลือดแบบนี้

          ส่วนที่ว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่นั้น อาจารย์พีระ ยืนยันว่า การรักษาเช่นนี้ไม่มีอันตรายและไม่มีผลข้างเคียง เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม ปวดไมเกรน เพราะเป็นการสะกิดเอาเลือดที่อยู่ในผิวหนังออกมาเท่านั้น และคนไข้ก็ไม่ต้องพักฟื้นเหมือนการผ่าตัดแต่อย่างใด ส่วนคลิปที่ถูกแชร์กันตอนนี้ยอมรับว่าค่อนข้างหวาดเสียว น่าจะเพราะเป็นการรักษาตรงบริเวณบ่า ไหล่ ที่มีความรัดตึง ทำให้เลือดระบายออกมาเร็ว

การครอบแก้วรักษาโรคได้จริงหรือ ?

          ข้อมูลในส่วนนี้ยังขัดแย้งกันอยู่พอสมควร โดยทางการแพทย์แผนจีนระบุว่า การครอบแก้วรักษาโรคได้จริง เพราะจะช่วยกระตุ้นให้เลือดที่คั่งค้าง เลือดไม่เดิน ไหลเวียนได้ดีขึ้น ทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น แต่ทว่า...รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้ยังไม่ได้มีงานวิจัยใด ๆ ออกมารองรับว่าทำได้จริง มีเพียงเรื่องการแก้ปวดเมื่อยที่จะพอเป็นไปได้ ส่วนเรื่องอื่น ๆ น่าจะเป็นเพียงแค่อุปาทานไปเองว่าดีขึ้น

          ขณะที่มีงานวิจัยหนึ่งที่ประเทศออสเตรเลียได้ศึกษาร่วมกับนักวิจัยชาวจีน ในปี 2012 และตีพิมพ์ในวารสาร PLoS One หลังจากการทำการครอบแก้วบำบัดกว่า 135 รายงาน พบว่า การครอบแก้วอาจจะได้ผลดีในการบำบัดบางอาการ เมื่อใช้ร่วมกับวิธีอื่น ๆ เช่น ครอบแก้วร่วมกับการกินยาและการฝังเข็มด้วย แต่ทีมวิจัยเองก็เตือนว่า รายงานที่เขานำวิเคราะห์นั้นอาจมีความลำเอียง และไม่ได้น่าเชื่อถือร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเรื่องนี้ยังต้องทำการศึกษาอีกมาก

          ส่วนที่มีการอ้างว่า การครอบแก้วจะช่วยรักษาโรคมะเร็งได้นั้น ทางสมาคมโรคมะเร็งแห่งอเมริกา ได้เคยออกมาเตือนแล้วว่า ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างนี้
 
ครอบแก้ว

ระวัง ! ผลข้างเคียงจากการครอบแก้ว

          การครอบแก้วในบางคนอาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นกับร่างกายได้ เช่น อาจมีอาการระบมบริเวณรอยช้ำ หรือมีไข้ต่ำ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งสามารถทานยาลดไข้ได้ แต่หากเป็นมากอาจมีอาการปวดบริเวณที่ครอบแก้ว ผิวไหม้เพราะถูกไฟและความร้อนจากแก้ว มีอาการช้ำห้อเลือด หรือติดเชื้อโรคที่ผิวหนังกรณีอุปกรณ์ไม่สะอาด

          ทั้งนี้มีคำแนะนำด้วยว่าหลังครอบแก้วควรรอสัก 1-2 ชั่วโมงจึงค่อยอาบน้ำ ไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะรูขุมขนยังเปิดอยู่ อีกทั้งควรรอให้ร่างกายปรับอุณหภูมิก่อน

ใครไม่ควรบำบัดด้วยการครอบแก้ว ?

          ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่ควรรักษาด้วยการครอบแก้ว เช่น สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีไข้ขึ้นสูง เป็นหวัด คนเป็นโรคผิวหนังบางอย่าง คนที่เป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง คนที่เป็นโรคเลือดหยุดไหลยาก หรือไหลไม่หยุด กระดูกหัก และอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ว่าสามารถครอบแก้วได้หรือไม่

          อย่างไรก็ดี ต้องย้ำว่าการครอบแก้วนั้นต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีใบประกอบโรคศิลป์สาขาการแพทย์แผนจีน เพราะจะได้ทราบว่าควรวางแก้วในตำแหน่งไหนถึงจะได้ผล หรือใช้ความร้อนแค่ไหน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ นอกจากนี้การครอบแก้วต้องกระทำในสถานประกอบพยาบาล หากไม่ใช่ดังที่กล่าวมาหรือผู้ทำการครอบแก้วไม่ใช่แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ การครอบแก้วอย่างไม่ถูกวิธีก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
มหาวิทยาลัยรังสิต, เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์, เฟซบุ๊ก Kavin Kasiolarn, amarintv.com, รายการนารีกระจ่าง ThaiPBS, โรงพยาบาลกรุงเทพ, webmd.com, sciencebasedmedicine.org

 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครอบแก้วปล่อยเลือด บำบัดโรคได้จริง หรือแฝงอันตราย !? อัปเดตล่าสุด 21 ตุลาคม 2560 เวลา 09:31:25 82,409 อ่าน
TOP