x close

มะเร็งหัวใจ เช็กอาการให้ไว เป็นแล้วรักษาให้หายขาดได้หรือเปล่า

          มะเร็งหัวใจ นับเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย แต่ค่อนข้างมีความรุนแรงสูง ดังนั้นมาเช็กอาการมะเร็งหัวใจกันให้ไว เรามีความเสี่ยงเป็นไหม หรือรักษาให้หายเป็นปกติได้หรือเปล่า
          มะเร็งหัวใจ หรือในทางการแพทย์จะเรียกว่า Cardiac Sarcoma เป็นโรคมะเร็งชนิดที่พบได้ยาก และการรักษาค่อนข้างมีแนวทางที่จำกัด เพราะเป็นมะเร็งชนิดที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อการฉายแสงหรือบำบัดเคมี จึงนับว่ามะเร็งหัวใจเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงพอสมควร และวันนี้เราจะพามาทำความรู้จักโรคมะเร็งหัวใจกันค่ะ

มะเร็งหัวใจ คืออะไร อัตราการพบโรคมีมากเท่าไร

มะเร็งหัวใจ

          มะเร็งหัวใจ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Heart Cancer หรือศัพท์ทางการแพทย์จะคุ้นเคยกับชื่อ Cardiac Sarcoma โดยมะเร็งชนิดนี้เป็นโรคหายาก จากสถิติแล้วจะพบผู้ป่วยมะเร็งหัวใจน้อยกว่า 2 ราย ต่อประชากร 100,000 รายต่อปี อีกทั้งโดยส่วนใหญ่มะเร็งหัวใจก็มักจะไม่ได้เกิดจากหัวใจโดยตรง แต่เป็นมะเร็งจากอวัยวะอื่น เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้ แล้วเซลล์มะเร็งแพร่กระจายมาที่หัวใจมากกว่า

มะเร็งหัวใจ มีกี่ชนิด

          มะเร็งหัวใจ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่

1. มะเร็งหัวใจปฐมภูมิ (Primary cardiac cancer) 

          เป็นมะเร็งชนิดที่เกิดจากเนื้อเยื่อหัวใจโดยตรง ซึ่งเกิดได้กับเนื้อเยื่อทุกส่วนของหัวใจ เช่น เนื้อเยื่อที่กล้ามเนื้อหัวใจ เนื้อเยื่อที่เยื่อหุ้มหัวใจ เนื้อเยื่อบริเวณเยื่อบุหัวใจ เนื้อเยื่อพังผืด เนื้อเยื่อระบบประสาท เนื้อเยื่อไขมัน เนื้อเยื่อหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น โดยเป็นมะเร็งหัวใจชนิดที่พบได้น้อยมาก และมักไม่แสดงอาการใด ๆ ในระยะแรก

2. มะเร็งหัวใจทุติยภูมิ (Secondary cardiac cancer หรือ Metastatic cardiac cancer) 

          เป็นมะเร็งที่เกิดในอวัยวะอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หัวใจ และส่วนใหญ่พบว่าเป็นมะเร็งที่เกิดกับปอด เต้านม ผิวหนังเมลาโนมา หลอดอาหาร เม็ดเลือดขาว ต่อมน้ำเหลือง แต่แพร่กระจายมาที่หัวใจผ่านทางกระแสโลหิต หรือทางเลือด โดยมะเร็งหัวใจชนิดนี้พบได้บ่อยกว่าชนิดแรกราว ๆ 30-100 เท่าเลยทีเดียว

มะเร็งหัวใจเกิดจากอะไร

          สาเหตุของโรคมะเร็งหัวใจที่เกิดในหัวใจโดยตรงยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่ก็มีการสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากรังสีหรือสารพิษชนิดใดชนิดหนึ่ง จนก่อให้เกิดเซลล์เนื้อร้ายที่หัวใจ เช่น บริเวณผิวหนังชั้นกลาง ตรงเซลล์ผนังหลอดเลือด หรือเกิดที่กล้ามเนื้อหัวใจ

          แต่อย่างไรก็ดี มะเร็งหัวใจก็อาจเกิดขึ้นหลังจากการเป็นมะเร็งอวัยวะอื่น ๆ ตามที่บอกไปข้างต้นด้วยนะคะ และยังพบว่า มะเร็งหัวใจอาจสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์ได้ด้วย โดยพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งหัวใจ มักมีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้มาก่อน แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่ากรรมพันธุ์มีผลต่อความเสี่ยงโรคนี้จริงไหม

มะเร็งหัวใจ ใครเสี่ยงบ้าง

          จากหลักฐานทางการแพทย์ ณ ปัจจุบัน พบว่า ทุกคนล้วนมีความเสี่ยงโรคมะเร็งหัวใจด้วยกันทั้งนั้น แต่อาจจะเสี่ยงมากหน่อยในผู้ชายอายุ 30-50 ปี ในขณะที่ความเสี่ยงของผู้หญิงก็มีอัตราส่วนที่ลดหลั่นกันไม่เท่าไร นอกจากนี้ในกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ ก็อาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งหัวใจเพิ่มขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ข้อมูลก็ยังมีจำกัด ต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

มะเร็งหัวใจ อาการเป็นอย่างไร

มะเร็งหัวใจ

          อาการมะเร็งหัวใจ ผู้ป่วยมักจะมีอาการแสดงดังนี้

  • หน้าบวม คอบวม หลอดเลือดดำที่คอโป่ง (กรณีเกิดมะเร็งที่หัวใจห้องขวาบน)
  • หายใจไม่เต็มปอด
  • เหนื่อยมาก อ่อนเพลีย หมดแรง
  • เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ (กรณีเกิดมะเร็งที่หัวใจห้องซ้าย)
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • เจ็บหน้าอก
  • หน้ามืด วิงเวียน 
  • หมดสติ
  • หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

มะเร็งหัวใจ วินิจฉัยได้อย่างไร ตรวจแบบไหนถึงจะเจอ

          มะเร็งหัวใจ สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจหัวใจด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น

  • การตรวจเอคโคหัวใจ หรือการตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
  • การตรวจหัวใจด้วยเครื่อง CT Scan
  • การตรวจหัวใจด้วยวิธี MRI 
  • การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac Catheterization with Coronary Angiography)
  • การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography)

มะเร็งหัวใจ รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง

มะเร็งหัวใจ

          มะเร็งหัวใจที่เกิดกับหัวใจโดยตรง คือมีเนื้อร้ายเกิดในผนังชั้นกลางของหัวใจ เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ผนังหลอดเลือด หรือเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจ ที่เรียกว่า Angiosarcoma และ Rhabdomyosarcoma มักจะมีการตอบสนองไม่ค่อยดีต่อการฉายแสง หรือเคมีบำบัด ดังนั้นในกรณีที่มะเร็งอยู่ในตำแหน่งที่สามารถทำการผ่าตัดได้ เช่น บริเวณผนังหัวใจด้านขวาบนและขวาล่าง ส่วนใหญ่แพทย์จึงแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกให้หมด

          แต่หากมะเร็งลุกลามมาที่หลอดเลือดแดงหัวใจก็จำเป็นต้องผ่าตัดด้วยการต่อทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือเลือกวิธีผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจให้ผู้ป่วยแทน หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษาค่ะ

มะเร็งหัวใจ ป้องกันได้ไหม

          เนื่องจากทางการแพทย์ยังหาสาเหตุที่ชัดเจนของโรคมะเร็งหัวใจไม่ได้ ดังนั้นการป้องกันโรคนี้จึงยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ปรับพฤติกรรมบางอย่างเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ เช่น งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ฯลฯ
          อย่างไรก็ดี มะเร็งหัวใจเป็นโรคที่พบได้น้อย ความเสี่ยงเกิดโรคนี้ก็อาจไม่ได้สูงจนน่ากังวลมาก แต่ถึงอย่างนั้น การเกิดมะเร็งที่อวัยวะต่าง ๆ ก็อาจทำให้เซลล์มะเร็งลุกลามไปเป็นมะเร็งหัวใจได้เหมือนกัน ดังนั้นการป้องกันโรคภัยด้วยการดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงเข้าไว้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ฉะนั้นกินให้ดี นอนให้ดี หลีกเลี่ยงความเครียด และหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอกันดีกว่าค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งหัวใจ เช็กอาการให้ไว เป็นแล้วรักษาให้หายขาดได้หรือเปล่า อัปเดตล่าสุด 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 00:04:08 14,930 อ่าน
TOP