มะเร็งต่อมไทรอยด์ พบตั้งแต่ก้อนยังน้อย โอกาสหายก็มาก เช็กอาการก่อนเป็นหนัก !

          จริง ๆ แล้วโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ยิ่งถ้าเราเจอมะเร็งไทรอยด์ตั้งแต่แรก ๆ อาจรักษาให้หายขาดได้สูง งั้นมาเช็กอาการมะเร็งต่อมไทรอยด์กันด่วนเลย

มะเร็งไทรอย

          มะเร็งต่อมไทรอยด์ ขึ้นชื่อว่ามะเร็งก็ฟังดูน่ากลัวและอันตรายต่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งชนิดไหน อย่างมะเร็งไทรอยด์ ที่มีก้อนเนื้อในลำคอ ฟังดูแล้วใช้ชีวิตลำบากและคงทรมานไม่น้อยเลยว่าไหมคะ

          แต่เดี๋ยวก่อนค่ะ...มะเร็งไทรอยด์ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น โดยเฉพาะหากเราพบก้อนมะเร็งต่อมไทรอยด์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โอกาสในการรักษามะเร็งไทรอยด์ก็จะมีมาก ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาทต่อชีวิต แนะนำให้เช็กอาการมะเร็งต่อมไทรอยด์อยู่เสมอ และก็จะดีมากขึ้นไปอีก ถ้าเรามาทำความรู้จักมะเร็งไทรอยด์เอาไว้

ต่อมไทรอยด์อยู่ตรงไหน สำคัญอย่างไร

มะเร็งไทรอย

          ต่อมไทรอยด์อยู่บริเวณหน้าหลอดลม ใต้กระดูกไทรอยด์ (ลูกกระเดือกในผู้ชาย) ต่อมไทรอยด์จะมีอยู่ด้วยกันทั้งสองข้าง ซ้ายและขวา และมีแนวเชื่อมตรงกลางคล้ายปีกผีเสื้อ โดยขนาดของต่อมไทรอยด์แต่ละข้างจะมีขนาดประมาณ 4-5 x 1.5-2 เซนติเมตร

          ทั้งนี้ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมสำคัญในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งไทรอยด์ฮอร์โมนก็มีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมการเจริญเติบโตของร่างกาย รวมไปถึงการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ กระตุ้นการทำงานของหัวใจ หลอดเลือด ระบบประสาท ทั้งยังมีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย (ความรู้สึกร้อน-หนาวของร่างกาย) และต่อมไทรอยด์ยังทำงานร่วมกับฮอร์โมนอื่น ๆ อีกด้วย

มะเร็งไทรอยด์ สาเหตุเกิดจากอะไร

          มะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นมะเร็งของต่อมไร้ท่อที่พบได้บ่อยที่สุด สาเหตุของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ทางแพทย์สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ดังนี้

          * พันธุกรรมที่ผิดปกติ ทั้งชนิดถ่ายทอดได้และชนิดไม่ถ่ายทอด

          * การได้รับรังสีบางชนิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น จากโรงงานพลังปรมาณู หรือเคยได้รับการฉายรังสีที่บริเวณลำคอ

          * ฮอร์โมนเพศ โดยพบมะเร็งต่อมไทรอยด์ในเพศหญิงมากกว่าในเพศชาย เกือบ 3 เท่า

          * ทานอาหารที่มีไอโอดีนน้อยเกินไป เช่น อาหารทะเล สาหร่าย ไข่ ฯลฯ เพราะต่อมไทรอยด์ต้องการไอโอดีนในการสร้างฮอร์โมน และไอโอดีนก็จะปกป้องต่อมไทรอยด์จากโรคต่าง ๆ ด้วย หากขาดไอโอดีน นอกจากเป็นสาเหตุของโรคคอพอกแล้ว ยังเสี่ยงต่อโรคมะเร็งไทรอยด์

          อย่างไรก็ตาม มะเร็งไทรอยด์เป็นโรคที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือในผู้สูงอายุ

มะเร็งต่อมไทรอยด์มีกี่ชนิด

          มะเร็งต่อมไทรอยด์มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่าเกิดจากเซลล์อะไร แต่สามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิดใหญ่ ๆ ดังนี้

1. มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่เซลล์มะเร็งจับกินแร่รังสีไอโอดีน

          ได้แก่ มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดแปปปิลลารี (Papillary) พบได้มากที่สุด ราว ๆ 80% ของมะเร็งต่อมไทรอยด์ทั้งหมด และมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลา (Follicular) พบได้บ่อยรองลงมา

2. มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่เซลล์มะเร็งไม่จับกินแร่รังสีไอโอดีน

          ได้แก่ มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติก (Anaplastic) พบได้ยากที่สุด แต่ก็จัดเป็นชนิดที่อันตรายที่สุด มักพบในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

          ทั้งนี้มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่เซลล์มะเร็งจับกินแร่รังสีไอโอดีน จะมีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตช้า จึงมีความรุนแรงต่ำกว่ามะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่เซลล์มะเร็งไม่จับกินแร่รังสีไอโอดีน ซึ่งมีการเจริญเติบโตของเซลล์เร็วและก้อนมะเร็งมักมีขนาดใหญ่ รักษายาก

          นอกจากนี้ ยังมีมะเร็งไทรอยด์ชนิด Medullary Thyroid Cancer ซึ่งเกิดจากพันธุกรรม พบในเซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิด C Cells ซึ่งหากตรวจพบและรักษาก่อนที่จะลุกลาม ก็มีแนวโน้มที่จะหายขาดสูง

มะเร็งไทรอย

มะเร็งไทรอยด์ ก้อนเนื้อในลำคอที่สังเกตได้

          มะเร็งไทรอยด์เป็นก้อนเนื้อที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในต่อมไทรอยด์ แล้วกลายเป็นเนื้อร้าย สามารถแพร่กระจายออกไปยังบริเวณอื่น ๆ ได้ โดยอาการมะเร็งไทรอยด์สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ดังนี้

          - มีก้อนบริเวณต่อมไทรอยด์ (บริเวณลูกกระเดือก) และก้อนนั้นเคลื่อนที่ตามจังหวะการกลืนน้ำลาย

          - สามารถคลำก้อนเนื้อได้โดยไม่เจ็บ แต่บางครั้งอาจมีอาการเจ็บได้ด้วย

          - อาจมีอาการเสียงแหบในบางคน

          -  มีอาการกลืนลำบาก ปวดลำคอ ไอ

          - หากก้อนเนื้อใหญ่ขึ้นจะหายใจไม่สะดวก 

          - หากมะเร็งลุกลาม อาจพบก้อนเนื้อบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ศีรษะ ซี๋โครง สะโพก หรือที่อื่น ๆ ตามร่างกาย

          อย่างไรก็ตาม ก้อนที่ลำคออาจเป็นก้อนเนื้อธรรมดาที่ไม่ใช่เนื้อร้ายก็เป็นได้ ดังนั้นหากคลำเจอก้อนที่ลำคอควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอย่างละเอียดอีกทีนะคะ 

มะเร็งต่อมไทรอยด์ มีกี่ระยะ

มะเร็งไทรอย

          ระยะของมะเร็งต่อมไทรอยด์ จะนำอายุผู้ป่วยมาคำนวณระยะของโรคด้วย เนื่องจากในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 45 ปี ความรุนแรงของโรคมะเร็งไทรอยด์จะต่ำมาก ทั้งนี้การแบ่งระยะโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ มีรายละเอียด ดังนี้

- ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 45 ปี มะเร็งไทรอยด์จะมี 2 ระยะ ได้แก่
 
          * ระยะที่ 1 โรคเกิดในต่อมไทรอยด์เพียงด้านเดียว หรือทั้งสองด้าน หรืออาจมีการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง บริเวณลำคอ

          * ระยะที่ 2 โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ซึ่งมักจะแพร่กระจายเข้าสู่ปอดในที่สุด

- ผู้ป่วยอายุ 45 ปี ขึ้นไป มะเร็งไทรอยด์จะมี 4 ระยะ ได้แก่

          * ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก ไม่เกิน 2 เซนติเมตร

          * ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งโตกว่า 2 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร

          * ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งโตมากกว่า 4 เซนติเมตร และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำหลืองบริเวณติดกับต่อมไทรอยด์

          * ระยะที่ 4 ก้อนมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะข้างเคียง รอยโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ และ/หรือ เซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ โดยเฉพาะที่ปอด กระดูก หนังศีรษะ สมอง และตับ

มะเร็งไทรอย

มะเร็งต่อมไทรอยด์ รักษาอย่างไร

          วิธีรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ที่นิยมและเหมาะสมที่สุดในปัจจุบันก็คือการผ่าตัด โดยแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดต่อมไทรอยด์ทิ้งทั้งต่อม และหากมะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่คอ ก็อาจจะต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอไปด้วย ซึ่งการรักษาก็ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

          ทว่าการรักษาด้วยการผ่าตัดอาจยังไม่จบ เพราะแพทย์จะนำชิ้นเนื้อที่ผ่าตัดไปตรวจอย่างละเอียดอีกที และหากพบว่าก้อนเนื้อนั้นไม่ใช่มะเร็งที่มีความเสี่ยงต่ำ แพทย์ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาตัวต่อเนื่องด้วยการใช้สารรังสีไอโอดีน หรือที่เรียกว่าการกลืนน้ำแร่ และมักไม่ได้ใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด นอกจากในกรณีผู้ป่วยเป็นซ้ำ รอยโรคอยู่ในระยะลุกลาม และมีอาการน่าเป็นห่วงเท่านั้น

ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ รักษาหายขาดไหม จะอยู่ได้กี่ปี

          ผลการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจและมีโอกาสหายขาดได้สูง โดยเฉพาะมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดแปปปิลลารี และฟอลลิคูลา เนื่องจากความรุนแรงของโรคค่อนข้างต่ำ อีกทั้งมะเร็งไทรอยด์ชนิดนี้ยังตอบสนองการรักษาด้วยการผ่าตัดและการกลืนน้ำแร่ได้ดี ทั้งนี้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์จะมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่า 95% หลังจากผ่านไปแล้ว 10 ปี เลยทีเดียว

          อย่างไรก็ตาม การตัดต่อมไทรอยด์ออกเพื่อรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ จะทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้อีก ดังนั้นผู้ป่วยจะได้รับยาไทรอยด์ฮอร์โมนมารับประทาน ซึ่งก็ต้องรับประทานยาดังกล่าวตลอดชีวิต ห้ามขาดยาเป็นอันขาด เนื่องจากยาไทรอยด์ฮอร์โมนมีผลชะลอและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมไทรอยด์นั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งต่อมไทรอยด์ พบตั้งแต่ก้อนยังน้อย โอกาสหายก็มาก เช็กอาการก่อนเป็นหนัก ! อัปเดตล่าสุด 19 มิถุนายน 2562 เวลา 11:05:03 92,771 อ่าน
TOP
x close