มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รีบเช็กก่อนลุกลาม อาการเป็นยังไง !

          มะเร็งกระเพาะปัสสาวะถือว่าเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในบรรดามะเร็งของระบบขับถ่าย ซ้ำร้ายอาการยังไม่ค่อยแสดงออก กว่าจะรู้ตัวก็เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะที่ 2 หรือ 3 แล้ว

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

          กระเพาะปัสสาวะเป็นระบบขับถ่ายที่เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย และนอกจากการติดเชื้อแล้ว สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าก็คือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เพราะเป็นมะเร็งระบบขับถ่ายที่พบได้บ่อยที่สุด ดังนั้นคนที่มีอาการปัสสาวะผิดปกติไม่ว่าจะรูปแบบไหน ทั้งฉี่เป็นเลือด ปัสสาวะแสบขัด หรือปัสสาวะบ่อยเกินไป ลองไปตรวจมะเร็งกระเพาะปัสสาวะดูก่อนก็ได้ เพราะโรคนี้ก็ถือว่าเป็นภัยเงียบ ไม่ค่อยแสดงอาการ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รู้จักกันหน่อย

        มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Bladder Cancer เป็นมะเร็งในส่วนของระบบขับถ่าย และเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในส่วนนี้ด้วย

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เกิดจากอะไร

          สาเหตุของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่มีการสันนิษฐานถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะไว้ ดังนี้

        1. การสูบบุหรี่

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

          เนื่องจากควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็ง และเมื่อสูบบุหรี่ ร่างกายจะขับสารจากบุหรี่ออกทางปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะได้สัมผัสกับสารก่อมะเร็งโดยตรง

        2. สารเคมีอื่น ๆ

          นอกจากสารพิษจากบุหรี่แล้ว สารเคมีอื่น ๆ ที่ร่างกายสัมผัสเป็นเวลานาน อย่างสารเคมีที่มีส่วนประกอบของสารอะนิลีน (Aniline) สารจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยาง หนัง สีย้อมผ้า สีย้อมผม และการพิมพ์ ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้

        3. อาหารที่กิน

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

          มีการสันนิษฐานว่า สารไนโตรซามีน หรือสารกันบูด ที่มักจะอยู่ในอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง เช่น ไส้กรอก แหนม ปลาส้ม กุนเชียง ปลาร้า รวมไปถึงสารจากขัณฑสกร อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้

        4. การติดเชื้อเรื้อรังในกระเพาะปัสสาวะ

          เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะแบบเรื้อรัง มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือการใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้นาน ๆ เป็นต้น

        5. ยาบางชนิด

          โดยเฉพาะยาที่ได้รับจากการทำเคมีบำบัด

        6. กรรมพันธุ์

          เชื่อว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะไม่มากก็น้อย

          ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจทำให้เยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะเกิดการแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นก้อนเนื้อ ลักษณะคล้ายปะการังในกระเพาะปัสสาวะ โดยก้อนเนื้อนี้สามารถเติบโตขึ้นได้เรื่อย ๆ และสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เกิดกับใครได้บ้าง


          จากสถิติพบว่า มะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะพบได้บ่อยในเพศชาย ช่วงอายุ 50-70 ปี แต่ทั้งนี้ก็สามารถพบได้บ่อยในเพศหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปด้วย

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ อาการเป็นอย่างไร

          มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นมะเร็งที่ไม่มีอาการแสดงที่รุนแรงในระยะแรก ๆ ทำให้สังเกตอาการมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ยาก แต่หากพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้ ก็อย่าได้ชะล่าใจเลยเชียว

          * ปัสสาวะเป็นเลือด

          ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการฉี่เป็นเลือด โดยมักจะเป็น ๆ หาย ๆ และไม่มีอาการปวดร่วมด้วย ก่อนจะตรวจพบเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาการนี้มักพบในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะที่ 2 ขึ้นไป

          * ปัสสาวะผิดปกติ

          ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือปัสสาวะแสบขัด ปวดท้องน้อยหรือปลายท่อปัสสาวะขณะเบ่งปัสสาวะ ซึ่งอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะนั่นเอง

          * ปวดกระดูก ปวดเอว ปวดหลัง

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

          อาการในขั้นนี้มักเกิดกับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ แล้ว เช่น มะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูก ทำให้ปวดกระดูก หรือเซลล์มะเร็งไปทำให้เกิดการอุดตันของท่อไต ทำให้ปวดเอว ปวดหลัง เป็นต้น

          * ตับโต คลำพบก้อนน้ำเหลือง ขาบวม

          ในระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ก็อาจพบอาการดังกล่าวได้จากการตรวจร่างกายผู้ป่วย

          ทั้งนี้โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในระยะแรก ๆ มักไม่แสดงอาการให้รู้ตัวก่อน แต่เราจะสามารถตรวจพบความผิดปกติผ่านการตรวจปัสสาวะ เช่น อาจพบว่ามีเม็ดเลือดขาว หรือเม็ดเลือดแดงปะปนมากับปัสสาวะ หรือมีเซลล์ผิดปกติปนมากับปัสสาวะ ซึ่งจะตรวจพบก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปี หรือมีโอกาสได้ตรวจฉี่ เป็นต้น

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีกี่ระยะ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะแบ่งได้ 4 ระยะ ดังนี้

          มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ระยะที่ 1 มะเร็งอยู่ในชั้นเยื่อบุผนังด้านในของกระเพาะปัสสาวะเท่านั้น ยังไม่กระจายไปที่อื่น

          มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ระยะที่ 2 มะเร็งมีการลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ

          มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ระยะที่ 3 มะเร็งมีการลุกลามไปยังชั้นไขมันรอบกระเพาะปัสสาวะ

          มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ระยะที่ 4 มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก เป็นต้น

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ วินิจฉัยอย่างไร

          ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ แต่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ดังนี้

          - ตรวจปัสสาวะ

        มักใช้ตรวจกับผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี และไม่มีปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โดยอาจมีการอัลตราซาวด์ช่องท้องเพิ่มเติมด้วย

          - ตรวจหาเซลล์มะเร็งในน้ำปัสสาวะ (Urine cytology)

        หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เช่น ตรวจพบเม็ดเลือดแดงหรือเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะมากผิดปกติ แพทย์อาจทำการตรวจหาเซลล์มะเร็งในน้ำปัสสาวะเพิ่มเติม โดยอาจมีการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย

          - การส่องกล้อง (Cystoscopy)

          การส่องกล้องเป็นการตรวจในขั้นลึกที่สามารถตรวจหาตำแหน่ง ขนาด จำนวน และรูปร่างของเนื้องอก และสามารถแยกชนิดได้ว่าเป็นมะเร็งชนิดลุกลามหรือไม่ลุกลาม อีกทั้งการส่องกล้องยังเอื้อต่อการตัดชิ้นเนื้อไปส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้อีกด้วย

          - เอกซเรย์ปอด (Chest film)

          หากวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งชนิดลุกลาม แพทย์อาจทำการเอกซเรย์ปอดเพิ่มเติม เพื่อดูการกระจายของเซลล์มะเร็งด้วย

          - เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง (CT abdomen)

          มักจะตรวจเพื่อเช็กระยะของมะเร็ง และเป็นการประเมินการรักษาไปในตัว

          - เอกซเรย์กระดูก (Bone scan)

          การตรวจนี้จะตรวจเฉพาะรายที่มีอาการปวดกระดูก หรือผู้ป่วยที่มีระดับแคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รักษาได้ไหม

        การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะประเมินจากระยะของโรคและการลุกลามของเซลล์มะเร็ง โดยการรักษาแบ่งออกได้ ดังนี้

        1. การผ่าตัด

        หากเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดไม่ลุกลาม แพทย์อาจทำการผ่าตัดเอาเนื้องอกหรือมะเร็งที่มีทิ้งไป พร้อมกับนำชิ้นเนื้อมาตรวจอีกทีว่าเป็นมะเร็งชนิดใด ลุกลามไปถึงขั้นไหนแล้ว

        2. ใช้ยาฆ่ามะเร็ง

        ในบางราย แพทย์อาจทำการใส่ยาสวนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อให้มั่นใจว่าถอนรากถอนโคนมะเร็งได้หมดแล้ว และเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งซ้ำด้วย ทั้งนี้การใส่ยาจะทำทุกสัปดาห์เป็นเวลา 6 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย

        3. ตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด

        ในกรณีที่เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะที่ 2 ขึ้นไป แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะและอวัยวะข้างเคียงที่มีส่วนลุกลามของเซลล์มะเร็งออกไปทั้งหมด และตัดเอาบางส่วนของลำไส้มาดัดแปลงเป็นกระเพาะปัสสาวะให้ใหม่ ซึ่งผู้ป่วยก็จะปัสสาวะได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ก็อาจต้องเข้ารับการทำเคมีบำบัดร่วมด้วย และหากไม่มีภาวะต่อมน้ำเหลืองโต ภายในระยะเวลา 5 ปี ก็มีสิทธิหายขาดได้

        4. เคมีบำบัด

          หากเป็นผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะที่ 4 ที่มีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย การผ่าตัดก็ไม่ช่วยให้หายได้ แพทย์ก็จะทำการรักษาแบบประคับประคองด้วยเคมีบำบัดผ่านทางเส้นเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยทรมานน้อยที่สุด

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ป้องกันได้ไหม

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

          เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ ด้วยหลักการปฏิบัติตัว ดังนี้

          - งดสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันสารก่อมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย

          - หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป หรือเนื้อสัตว์หมักดอง เช่น ไส้กรอก แหนม ปลาส้ม ปลาร้า เป็นต้น

          - ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ

          - หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี และเช็กสีปัสสาวะของตัวเองด้วย

          - ปัสสาวะบอกโรค ลองสังเกตตัวเองดูสิ

          นอกจากนี้ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย กินอาหารคุณภาพดี นอนให้หลับ ออกกำลังกายให้บ่อย เท่านี้ก็น่าจะลดความเสี่ยงโรคภัยต่าง ๆ ได้มากแล้วล่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
รายการพบหมอมหิดล, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถานวิทยามะเร็งศิริราช

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รีบเช็กก่อนลุกลาม อาการเป็นยังไง ! อัปเดตล่าสุด 5 มิถุนายน 2563 เวลา 11:03:30 28,999 อ่าน
TOP
x close