มะเร็งรังไข่ อาการเป็นอย่างไร รู้ไว้ เฝ้าระวัง สังเกตตัวเอง

           มะเร็งรังไข่ อาการร้ายแรงไหม อีกหนึ่งภัยเงียบที่สาว ๆ พึงระวัง และควรหมั่นเช็กสุขภาพตัวเองก่อนจะสายเกินไป



           นอกจากโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูกแล้ว สาว ๆ ทุกคนก็ควรต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งรังไข่ด้วยนะคะ เพราะภัยเงียบนี้ก็ถือว่าเป็นโรคที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากอันดับต้น ๆ ในบรรดาโรคมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ผู้หญิง เพราะเรามักไม่ค่อยตรวจเจอมะเร็งรังไข่ในระยะต้น ๆ แต่มารู้ตัวอีกทีก็พบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ในระยะท้าย ๆ แล้ว

มะเร็งรังไข่

           ฉะนั้นก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป สาว ๆ มาศึกษาความเป็นไปของโรคมะเร็งรังไข่กันให้ครบถ้วนเลยดีกว่า

 รังไข่คืออะไร มีหน้าที่สำคัญอย่างไรในร่างกายผู้หญิง ?
  
          รังไข่ คือ อวัยวะเพศอย่างหนึ่งของผู้หญิง มีลักษณะคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ มีขนาดทั่วไปประมาณ 2-3 เซนติเมตร จะอยู่ข้างปีกมดลูกทั้งสองข้าง หน้าที่หลัก ๆ คือ ผลิตไข่สำหรับผสมกับเชื้อของเพศชายจนกลายเป็นตัวอ่อนฝังอยู่ในโพรงมดลูก อีกหน้าที่สำคัญคือผลิตฮอร์โมนเพศหญิง


มะเร็งรังไข่

 มะเร็งรังไข่ มีกี่ชนิด
    
          เราสามารถจำแนกชนิดของมะเร็งรังไข่ตามตำแหน่งเริ่มต้นของเซลล์มะเร็งได้ 3 กลุ่ม คือ

            1. Epithelial Tumors : มะเร็งเยื่อบุผิวรังไข่ จุดเริ่มต้นที่เซลล์เยื่อบุผิวรังไข่และช่องท้อง เป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 90% ของมะเร็งรังไข่

            2. Germ Cell Tumors : มะเร็งฟองไข่ จุดเริ่มต้นของก้อนเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์สืบพันธุ์ต้นกำเนิด พบได้ร้อยละ 5-10 ของมะเร็งรังไข่ มักพบในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี

            3. Sex Cord-Stromal Tumors : มะเร็งเนื้อรังไข่ จุดเริ่มต้นที่เนื้อเยื่อเกี่ยวกันของรังไข่ ซึ่งผลิตฮอร์โมนเพศหญิง โอกาสพบน้อยมาก

          ทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นยังสามารถแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของร่างกายที่เรียกว่าเป็นมะเร็งรังไข่ระยะแพร่กระจายได้ด้วย


 มะเร็งรังไข่ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

          สาเหตุของโรคมะเร็งรังไข่อาจยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ก็พบเหตุส่งเสริมที่อาจจะทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ได้ดังต่อไปนี้

           1. สภาพแวดล้อม เช่น สารเคมี อาหาร เนื่องจากพบว่าในประเทศอุตสาหกรรมมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าประเทศเกษตรกรรม

           2. สตรีที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรน้อย

           3. ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งที่เต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งระบบทางเดินอาหาร โอกาสเป็นมะเร็งรังไข่อาจมีมากกว่าคนปกติ

มะเร็งรังไข่

 มะเร็งรังไข่ ใครเสี่ยงบ้าง ?
   
          นอกจากปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งรังไข่แล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ที่อาจเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ให้คุณสาว ๆ ได้ด้วย คือ

 1. อายุ
   
          2 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ มีอายุเฉลี่ย 55 ปี หรือมากกว่า แต่ก็สามารถพบมะเร็งรังไข่ในเด็กหญิงก่อนหรือหลังวัย 10 ขวบ ได้เช่นกัน

 2. ประวัติครอบครัว
   
          โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีแม่ พี่สาว น้องสาว ยาย ป้า หรือน้า เป็นมะเร็งรังไข่ จะมีความเสี่ยงการเป็นมะเร็งรังไข่สูงขึ้น

 3. การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม (Genetic Mutations)
   
          ในผู้ที่พบการกลายพันธุ์ของ 1 ใน 2 ยีนมะเร็งเต้านม BRCA1 และ BRCA2 มีความเสี่ยงการเกิดมะเร็งรังไข่สูงขึ้น

 4. รอยโรคมะเร็งเต้านม, ลำไส้ใหญ่ หรือเยื่อบุโพรงมดลูก
   
          ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง มีความเสี่ยงสูงขึ้นในการพัฒนาเป็นมะเร็งรังไข่ได้

 5. การคลอดบุตร
   
          ผู้หญิงที่มีการคลอดบุตรอย่างน้อย 1 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนอายุ 30 ปี มีความเสี่ยงมะเร็งรังไข่น้อยกว่าผู้หญิงที่มีบุตรหลายคน และการให้นมบุตร พบว่ามีความเสี่ยงมะเร็งรังไข่น้อยลง

 6. โรคอ้วน

          ผู้หญิงที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ที่ 30 หรือสูงกว่า อาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่มากขึ้น

 7. การใช้ฮอร์โมนทดแทน (HRT)
    
          บางการศึกษามีการเชื่อมโยงระหว่างฮอร์โมนทดแทน (HRT) และมะเร็งรังไข่ ซึ่งความเสี่ยงนี้ดูเหมือนจะมากสำหรับผู้หญิงที่ใช้เอสโตรเจนเพียงอย่างเดียวนานกว่า 5 ปี แต่ต้องทำการศึกษามากกว่านี้


 มะเร็งรังไข่ อาการเป็นอย่างไร เช็กได้จากสัญญาณอะไรบ้าง ?
    
          อย่างที่บอกว่ามะเร็งรังไข่จะตรวจพบได้ค่อนข้างยาก จนกระทั่งมารู้ตัวอีกทีก็เจอมะเร็งรังไข่ในระยะลึก ๆ แล้ว ดังนั้น สาว ๆ ต้องหมั่นเช็กอาการของตัวเองให้ดี โดยเฉพาะหากมีอาการต่อไปนี้ ให้สงสัยไว้ก่อนเลย

          - ท้องอืดเป็นประจำ

          - มีก้อนในช่องท้องหรือช่องเชิงกราน จึงอาจทำให้เกิดอาการแน่นหรือปวดท้อง

          - ก้อนเนื้ออาจกดเบียดลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำให้รู้สึกปวดถ่วง ถ่ายอุจจาระไม่สะดวกหรือลำบาก

          - เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น จะกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ถ่ายปัสสาวะบ่อยและขัด

          - เมื่อเซลล์มะเร็งมีการกระจายไปในช่องท้อง อาจทำให้เกิดน้ำในช่องท้อง ซึ่งจะทำให้ดูเหมือนอ้วนขึ้นได้ ท้องโตขึ้นกว่าเดิม

          - เบื่ออาหาร ผอมแห้ง น้ำหนักลด

          - อาจมีประจำเดือนผิดปกติ บางรายอาจพบการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น มีเสียงห้าว มีหนวด หรือขนขึ้นตามลำตัวคล้ายผู้ชายได้ เนื่องจากผลของมะเร็งรังไข่ที่ทำให้ร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนที่ผิดปกติไป

          - ในบางรายอาจไม่มีการแสดงอาการเลย แพทย์อาจตรวจพบโดยบังเอิญว่ามีก้อนในท้องน้อย


ตรวจภายใน

 มะเร็งรังไข่ วินิจฉัยและตรวจหาได้อย่างไร
    
          หากสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งรังไข่ สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ได้ตามนี้

 1. ตรวจภายใน (Pelvic Exam)
   
          ตรวจบริเวณช่องท้องและช่องเชิงกรานเพื่อหาก้อน โดยมีการนำเทคโนโลยีการถ่ายภาพเข้ามาช่วยให้การตรวจละเอียดชัดเจนขึ้น

 2. การทำแปปสเมียร์

          จากในช่องคลอดส่วนบนทางด้านหลัง ซึ่งอาจพบเซลล์มะเร็งได้

 3. Transvaginal ultrasound
   
          ตรวจโดยใช้หัวตรวจชนิดเรียวยาวใส่เข้าไปในช่องคลอด สามารถดูมดลูก และสิ่งผิดปกติที่อยู่หลังมดลูก

 4. ตรวจ CA-125
   
          หากระดับ CA-125 สูงเกินปกติ อาจบ่งชี้ถึงการเป็นมะเร็งรังไข่ แต่ก็มีโรคอื่นด้วยเช่นกันที่ CA-125 สูงได้ จึงต้องทำการตรวจเพิ่มเติม

 5. CT scan
   
          เพื่อดูภาพละเอียดภายในร่างกาย

 6. Barium enema
   
          เป็นการเอกซเรย์ทางเดินอาหารส่วนล่างด้วยการสวนสารทึบรังสีทางทวาร

 7. Intravenous pyelogram
   
          เป็นการเอกซเรย์ดูไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ

 8. การผ่าตัดเปิดช่องท้อง
   
          วิธีนี้จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา นับเป็นการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำที่สุด ทำให้ทราบชนิดและระยะของมะเร็งได้
 

 มะเร็งรังไข่ ระยะแรก-ระยะสุดท้าย อาการถึงขั้นไหน

           * มะเร็งรังไข่ระยะแรก หรือระยะที่ 1 : เซลล์มะเร็งยังอยู่ภายในรังไข่ 1 หรือ 2 ข้าง

           * มะเร็งรังไข่ระยะที่ 2 : เซลล์มะเร็งกระจายจากรังไข่สู่อวัยวะในช่องเชิงกราน เช่น ท่อนำไข่ หรือมดลูก

           * มะเร็งรังไข่ระยะที่ 3 : เซลล์มะเร็งกระจายจากรังไข่และช่องเชิงกรานไปยังช่องท้องหรือต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง

           * มะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย หรือระยะที่ 4 : เซลล์มะเร็งกระจายจากรังไข่ไปยังอวัยวะที่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด

มะเร็งรังไข่

 มะเร็งรังไข่ รักษาได้ด้วยวิธีไหน

          การรักษามะเร็งรังไข่ต้องดูด้วยว่าคนไข้มีอาการอยู่ในระยะไหน เพราะโดยส่วนมากจะทำการรักษาไปตามอาการของคนไข้ ซึ่งก็ต้องแล้วแต่การพิจารณาของแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วย ซึ่งการรักษามะเร็งรังไข่มีวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ

 1. การผ่าตัด
   
          อาจมีการผ่าตัดตั้งแต่แรกเพื่อดูระยะหรือการลุกลามของมะเร็ง ในกรณีผ่าตัดเพื่อการรักษา แพทย์จะตัดเนื้องอกออกให้มากที่สุด โดยจะพยายามให้เหลือเนื้องอกขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร ซึ่งการผ่าตัดจะส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก และจะเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน
   
          สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยยังต้องการมีบุตรอีก แพทย์จะตัดเอาเฉพาะรังไข่และท่อนำไข่ด้านที่เป็นมะเร็งออก การให้เคมีบำบัดและรังสีรักษาจะใช้เมื่อมีการกลับมาเป็นซ้ำหลังจากผ่าตัด
   
          โดยหลังจากรักษาต้องนัดตรวจติดตามอย่างน้อยทุก 6 เดือน สำหรับช่วง 5 ปีแรก นอกจากนี้ถ้าตรวจพบว่ามีการลุกลามของมะเร็งออกนอกรังไข่ตั้งแต่การตรวจพบมะเร็งครั้งแรก แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาส่วนที่เป็นมะเร็งออกให้มากที่สุด ถ้ามะเร็งกระจายไปตามผนังช่องท้องหรืออวัยวะอื่นหลังผ่าตัด ผู้ป่วยต้องได้รับยาเคมีบำบัด แต่ถ้ายังไม่มีการกระจายไปส่วนดังกล่าว หลังผ่าตัดผู้ป่วยต้องตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด

 2. รังสีรักษา
   
          ในที่นี้จะมีทั้งการฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย และการฝังแร่ในร่างกาย โดยการพิจารณาวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคและชนิดของมะเร็ง

 3. เคมีบำบัด
   
          แพทย์อาจให้ยาเคมีทางช่องที่มีอวัยวะภายในช่องท้อง (peritoneal cavity) อย่างไรก็ตาม การพิจารณาวิธีการรักษาขึ้นกับระยะและชนิดของมะเร็งด้วยนะคะ

มะเร็งรังไข่

 วิธีการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ควรทำอย่างไร
   
          สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการทำคีโม อาจมีอาการเบื่ออาหารและคลื่นไส้ อารมณ์ไม่แจ่มใส ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพด้วยการหมั่นตรวจเช็กร่างกายประจำปี หรือมาตามแพทย์นัดทุกครั้งเพื่อติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด


 การป้องกันมะเร็งรังไข่
   
          เนื่องจากรังไข่เป็นอวัยวะภายใน ซึ่งอาจตรวจเช็กความผิดปกติได้ยาก ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคคือควรหมั่นตรวจภายในด้วยคลื่นความถี่สูง อย่างน้อยปีละครั้ง

          ซึ่งนอกจากการตรวจภายในปีละครั้งแล้ว สาว ๆ ยังสามารถป้องกันมะเร็งรังไข่ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ด้านต้านมะเร็งรังไข่ตามลิสต์ต่อไปนี้ได้ด้วยนะคะ

อาหารป้องกันมะเร็งรังไข่

 อาหารป้องกันมะเร็งรังไข่

 1. แครอต
   
          แครอต หรือจะเป็นผักสีเหลือง สีส้มอื่น ๆ เช่น พริกหยวกสีเหลือง ล้วนเต็มเปี่ยมด้วยสารแคโรทีนอยด์ ซึ่งจากรายงานของ American Cancer Society พบว่า การรับประทานอาหารที่มีสารแคโรทีนอยด์สัปดาห์ละ 2 ถ้วยครึ่ง จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่ได้

 2. มะเขือเทศ
   
          มะเขือเทศสีแดง ประกอบไปด้วยสารไลโคปีน ที่เป็นแคโรทีนอยด์ชนิดหนึ่ง จะไปช่วยต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ ซึ่งถ้าหากสาว ๆ ไม่ชอบรับประทานมะเขือเทศสด ก็สามารถรับประทานซอสมะเขือเทศได้เช่นกัน

 3. ขึ้นฉ่ายฝรั่ง
   
          ผลการศึกษาของมาร์กาเร็ต เก็ทส์ จากศูนย์สุขภาพฮาร์วาร์ด บอกให้เรารู้ว่า ขึ้นฉ่ายฝรั่ง อาจจะสามารถป้องกันมะเร็งรังไข่ได้ เพราะเป็นพืชที่มีสารฟลาโวนอยด์ที่เรียกว่า เอพิจินิน ซึ่งจะช่วยกำจัดสารอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็ง

 4. ไวน์แดง
   
          ไวน์แดงมีสารเอพิจินินที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระเช่นเดียวกับขึ้นฉ่ายฝรั่ง แต่ได้ยินอย่างนี้ใช่ว่าคุณสาว ๆ จะดื่มไวน์แดงได้ไม่อั้นนะคะ เพราะหากดื่มมากเกินไปก็อาจไปเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ได้เสียอีก ทางที่ดีที่สุดคือ ดื่มไวน์แดงเพียงครั้งละ 1 แก้ว 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ก็พอแล้ว

 5. พาร์สลีย์
   
          ผักอีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาตกแต่งจานอาหาร ก็มีสารเอพิจินินเช่นเดียวกับขึ้นฉ่ายฝรั่งและไวน์แดงค่ะ โดยหากคุณสาว ๆ จะรับประทาน ก็ควรเลือกทานพาร์สลีย์สด เพราะพาร์สลีย์สดจะมีสารแอนติออกซิแดนท์สูงกว่าพาร์สลีย์แห้ง

 6. บรอกโคลี
   
          บรอกโคลีก็เป็นผักชนิดหนึ่งที่มีสารฟลาโวนอยด์สูง และเชื่อกันว่า สารฟลาโวนอยด์ในบรอกโคลีนี่แหละที่จะช่วยต่อต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี แต่หากคิดไม่ออกว่าจะนำบรอกโคลีไปทำอาหารอะไรดี เราขอแนะนำซุปบรอกโคลี หรือบรอกโคลีต้ม ก็ดูท่าจะอร่อยไม่น้อย

 7. เคล
   
          เคล คือ กะหล่ำปลีชนิดหนึ่งที่มีสีเขียวเข้ม นอกจากจะช่วยล้างพิษให้ร่างกายของคุณสาว ๆ และป้องกันปัญหาในระบบทางเดินอาหารแล้ว เคล ยังช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ได้อีกด้วย

 8. ชาเขียว
   
          ชาเขียวในที่นี้หมายถึงชาเขียวจริง ๆ ที่ไม่ใช่ชาเขียวขวดที่วางขายอยู่ทั่วไปนะคะ โดยการดื่มชาเขียววันละ 1 ถ้วย จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่ได้ เพราะในชาเขียวมีสารโพลีฟีนอล ซึ่งจะช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ แถมยังสามารถขจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างมหัศจรรย์ เพราะฉะนั้นอย่าดื่มชาเขียวเพียงถ้วยเดียว คุณสาว ๆ สามารถดื่มชาเขียวได้มากเท่าที่ต้องการ เพราะหากดื่มมากก็จะยิ่งลดโอกาสเสี่ยงมะเร็งรังไข่น้อยลงตามไปด้วย

          นอกจากนี้ ผลการศึกษาจาก ซี.บินเนส ที่ตีพิมพ์ใน the Journal of Clinical Nutrition ยังระบุด้วยว่า หากผู้หญิงที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งรังไข่ หันมาดื่มชาเขียวอย่างน้อยวันละ 1 ถ้วย จะมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ดื่มชาเขียวเลย

แป้งเด็ก

ทาแป้งจุดซ่อนเร้น เสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ ?
   
          แป้งเด็กบางชนิดอาจมีสารทัลคัม (Talcum Powder) ซึ่งผลิตมาจากการนำหินทัลคัมมาโม่ละเอียด เสร็จแล้วกรองเอาสิ่งแปลกปลอมและฆ่าเชื้อ อบแห้ง จนมาเป็นแป้งฝุ่น ซึ่งเจ้าแร่หินทัลคัมชนิดนี้ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติ จึงอาจทำให้เกิดการสะสมจนก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะสาว ๆ ที่ชอบใช้แป้งฝุ่นทาลดความอับชื้นบริเวณน้องสาว ฝุ่นแป้งและสารทัลคัมอาจเล็ดลอดเข้าไปในช่องคลอด มดลูก ท่อนำไข่ และช่องท้อง ซึ่งก็มีงานวิจัยเตือนว่าอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งรังไข่เพิ่มขึ้นได้ถึง 3 เท่า !
   
          ขณะเดียวกันในต่างประเทศยังมีการฟ้องร้องคดีดังกล่าวด้วย โดยพบว่าหญิงชาวอเมริกัน วัย 62 ปี เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่ หลังเธอใช้แป้งฝุ่นทาบริเวณอวัยวะเพศมานานกว่า 35 ปี ทำให้ทางครอบครัวยื่นฟ้องต่อศาลประจำรัฐมิสซูรี และทางคณะลูกขุนได้ตัดสินให้บริษัทผู้ผลิตแป้งเด็กยี่ห้อดังรายดังกล่าว จ่ายค่าเสียหายจำนวน 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท ให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย (อ่านข่าว หญิงทาแป้งจุดซ่อนเร้นเป็นมะเร็งรังไข่เสียชีวิต ศาลสั่งบริษัทแป้งเด็กยี่ห้อดังจ่าย 2 พันล้าน) 

          และแม้ว่าแป้งฝุ่นบางตัวอาจไม่มีสารทัลคัม แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าแป้งฝุ่นที่เราใช้กันประจำมีสารทัลคัมหรือไม่ ดังนั้น การหลีกเลี่ยงไม่โรยแป้งบริเวณจุดซ่อนเร้นก็น่าจะปลอดภัยและสบายใจมากกว่าจริงไหมคะ

          โรคมะเร็งรังไข่แม้จะแฝงไปด้วยภัยเงียบที่ตรวจพบได้ยาก ทว่าหากเราหมั่นตรวจเช็กสุขภาพและดูแลตัวเองอย่างดีอยู่เสมอ โอกาสจะเกิดโรคกับร่างกายก็น่าจะลดลงไปด้วยนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
American Cancer Society

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งรังไข่ อาการเป็นอย่างไร รู้ไว้ เฝ้าระวัง สังเกตตัวเอง อัปเดตล่าสุด 21 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16:58:08 398,543 อ่าน
TOP
x close