อาการมะเร็งเต้านมระยะต่าง ๆ ที่ผู้หญิงควรรู้ไว้

           มะเร็งเต้านม โรคร้ายที่พบในเพศหญิงติดอันดับต้น ๆ วันนี้จะพามาเรียนรู้อาการมะเร็งเต้านมระยะต่าง ๆ กัน
 
         
 

   
        มะเร็งเต้านม หนึ่งในโรคมะเร็งที่เกิดเป็นผู้หญิงก็พึงต้องระวังไว้ เพราะเราอาจมีความเสี่ยงโรคนี้อยู่หรือไม่มีก็ได้ ทว่านอกจากวิธีป้องกันตัวเองจากโรคมะเร็งเต้านมแล้ว วันนี้เราอยากแนะนำให้ผู้หญิงทุกท่านมาศึกษาอาการของโรคมะเร็งเต้านมระยะต่าง ๆ เอาไว้ก่อน แล้วมาดูกันค่ะว่า อาการโรคมะเร็งระยะที่ 1, 2, 3 และ 4 มีความรุนแรงของโรคประมาณไหน และการรักษามะเร็งแต่ละระยะต้องทำอย่างไร รวมถึงวิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคมะเร็งเต้านมด้วย

อาการมะเร็งเต้านมระยะที่ 1


          มะเร็งเต้านมระยะที่ 1 นับเป็นอาการมะเร็งเต้านมในระยะก่อนลุกลาม  ก้อนมะเร็งจะมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร และยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้

 การรักษามะเร็งเต้านมระยะที่ 1

          มะเร็งเต้านมในระยะนี้ แพทย์อาจพิจารณาจากแนวโน้มอาการ โดยเฝ้าสังเกตการลุกลามของก้อนมะเร็งด้วยการทำแมมโมแกรมเป็นระยะ ๆ ซึ่งหากพบว่าก้อนมะเร็งเริ่มลุกลามแล้ว กรณีนี้แพทย์อาจรักษาด้วยการตัดเอารอยโรคที่เป็นเนื้อร้ายออกอย่างเดียว (Excision) หรือตัดรอยโรคออกไปร่วมกับการฉายแสงรักษาเฉพาะบริเวณรอยโรค (Breast conservative treatment) หรือในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูง แพทย์อาจตัดเต้านมทั้งข้างออกไปเลย

มะเร็งเต้านม

 อาการมะเร็งเต้านมในระยะที่ 2

          ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2-5 เซนติเมตร และ/หรือมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกัน

 การรักษามะเร็งเต้านมระยะที่ 2

          ในระยะที่เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายมายังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ การรักษาอาจทำได้ 2 วิธี คือ ตัดรอยโรคออกไปร่วมกับการฉายแสงรักษาเฉพาะบริเวณรอยโรค (Breast conservative treatment) นอกจากนี้ยังต้องตัดเอาต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับผลกระทบมาสุ่มตรวจ เพื่อประเมินการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง เพราะหากพบว่ามีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้จริง แพทย์จะพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วยเป็นเวลา 6 เดือน

          วิธีรักษาอีกวิธีหนึ่งสำหรับมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ทำได้ด้วยวิธี Modified Radical Mastectomy (MRM) คือ การผ่าตัดเอาเต้านม และต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ออก หากพบว่าเซลล์มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว ซึ่งอาจจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วยนาน 6 เดือน หรือหากเคสผู้ป่วยหมดประจำเดือนแล้ว อาจมีการให้ยา Tamoxifen อย่างน้อย 5 ปี ถ้าผล ER เป็นบวก

มะเร็งเต้านม

 อาการมะเร็งเต้านมระยะที่ 3

          ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกันอย่างลุกลาม จนทำให้ก้อนน้ำเหลืองที่ถูกเซลล์มะเร็งกินรวมตัวติดกันเป็นก้อนใหญ่ หรือติดแน่นกับอวัยวะข้างเคียง

 การรักษามะเร็งเต้านมระยะที่ 3

          เมื่อวินิจฉัยระยะของโรคแล้วพบว่าอยู่ในระยะที่ 3 การรักษาอาจต้องเริ่มต้นด้วยการให้ยาบำบัดเคมี หรือให้ยาต้านฮอร์โมนในผู้ป่วยบางคน เพื่อควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามมากขึ้น และลดขนาดของก้อนมะเร็งให้มีขนาดเล็กลงจนสามารถผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกไปจากร่างกายได้โดยไม่ลำบากมากนัก
   
          ทั้งนี้การรักษาอาจมีการให้ยาได้ 2 แนวทาง ซึ่งก็คือ ให้ยาทำลายเซลล์มะเร็งจนเหลือขนาดเล็ก ก่อนทำการผ่าตัด แล้วให้ยาต่ออีกหลังจากผ่าตัดจนครบกำหนด หรือในกรณีที่ให้ยาไปจนครบกำหนดแล้วจึงผ่าตัดเนื้อร้ายออกไปในคราวเดียว

มะเร็งเต้านม

 อาการมะเร็งเต้านมระยะที่ 4

          ระยะนี้จะพบว่าก้อนมะเร็งมีขนาดโตเท่าไรก็ได้ แต่จุดสังเกตอยู่ที่การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจะลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น กระดูก ปอด ตับ หรือสมอง เป็นต้น 

 การรักษามะเร็งเต้านมระยะที่ 4

          เนื่องจากเป็นระยะที่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ การผ่าตัดจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะแม้จะตัดเต้านมที่เป็นเนื้อร้ายออกไปแล้ว การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งก็ยังคงอยู่ ดังนั้นการรักษาส่วนใหญ่ก็เพื่อลดอาการแทรกซ้อนและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการปรึกษาแนวทางรักษาอาการร่วมกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและญาติ
 
          ทั้งนี้ระหว่างการรักษาแพทย์อาจจะให้ยาฮอร์โมน และ/หรือให้ยาเคมีบำบัด โดยอาจมีการพิจารณาให้ยา Trastuzumab ร่วมด้วย หรือให้ยา Tyrosine kinase inhibitors ร่วมกับยาเคมีบำบัดแบบรับประทาน (Capecitabine) หรือแพทย์อาจรักษาด้วยการฉายแสง และ/หรือการผ่าตัดเพื่อลดอาการปวดและอาการอื่น ๆ หรือวิธีรักษาแบบ Bisphosphonate เพื่อลดอาการปวดจากการที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำได้
 
          อย่างไรก็ดี การรักษามะเร็งเต้านมสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด การให้ยาต้านฮอร์โมน รวมทั้งการรักษาที่มีการออกฤทธิ์จำเพาะ แต่โดยปกติแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาตามลำดับความเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงวัย ภาวะประจำเดือน สุขภาพทั่วไป ขนาดของเซลล์มะเร็ง ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง รวมทั้งระยะของมะเร็งเต้านมที่ผู้ป่วยแต่ละรายเป็นอยู่ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ทำให้การรักษาย่อมมีความแตกต่างกันตามไปด้วย ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน หรือปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาแนวทางรักษาที่เหมาะกับอาการป่วยของตัวเองให้มากที่สุด

มะเร็งเต้านม

 
การดูแลตัวเองของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม


          มะเร็งเต้านมมีโอกาสที่จะเกิดซ้ำได้อีก หรืออาจมีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่แม้จะทำการรักษาไปแล้วก็ควรจะต้องมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคอยติดตามการแพร่กระจายหรือการหลงเหลือของเซลล์มะเร็งในร่างกาย 
    
          นอกจากนี้ก็ผู้ป่วยเองก็ควรตรวจเต้านม (ดูวิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเอง) ข้างที่ยังไม่เป็น เป็นประจำทุกเดือน โดยหากยังมีประจำเดือนอยู่ก็ควรตรวจประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากประจำเดือนหมด หรือหากประจำเดือนหมดแล้วอาจกำหนดวันตรวจเต้านมประจำเดือน โดยกำหนดวันเอาเองเลยก็ได้
    
          ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจาย ที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เคสนี้ควรได้รับการตรวจเลือดและตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เพื่อตรวจดูการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ว่ายังทำงานเป็นปกติหรือไม่ 

          มะเร็งเต้านมสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยโอกาสจะหายขาดจากโรคนี้จะยิ่งมากขึ้นหากคุณผู้หญิงพบความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ดังนั้นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้ามเลยก็คือการสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเอง โดยเฉพาะการตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นสิ่งที่ควรทำสุด ๆ เลยนะคะ และหากพบความผิดปกติของเต้านมแม้เพียงเล็กน้อยก็อย่าได้นิ่งนอนใจ รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ เลยจะดีกว่า


ขอบคุณข้อมูลจาก
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
Wholly Medical
Thai Breast Cancer
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาการมะเร็งเต้านมระยะต่าง ๆ ที่ผู้หญิงควรรู้ไว้ อัปเดตล่าสุด 25 กันยายน 2563 เวลา 15:57:06 210,659 อ่าน
TOP
x close