มะเร็งเต้านม อาการเป็นอย่างไร เช็กได้ด้วยตัวเอง

           มะเร็งเต้านม หรือ Breast cancer เป็นโรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในหญิงไทย วันนี้เราไปรู้จักโรคมะเร็งเต้านมกัน

 
           ปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจากข้อมูลปี พ.ศ. 2565 พบหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 38,000 คนต่อปี ถือเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทย ดังนั้นสาธารณสุขจึงมีความตื่นตัวในการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้หญิงตรวจหาสิ่งผิดปกติที่เต้านมกันมากขึ้น เพราะหากพบเร็วก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เร็ว

มะเร็งเต้านม สาเหตุเกิดจากอะไร


          เดิมเชื่อกันว่าสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งเต้านมมาจากพันธุกรรม แต่ปัจจุบันพบว่า ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมจากพันธุกรรมมีเพียง 4-6% เท่านั้น ดังนั้นจึงมีสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งก็คล้ายกับสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งชนิดอื่น ๆ คือ เกิดจากการทำปฏิกิริยา Oxidation ของเซลล์ต่าง ๆ ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ (Free Radicals) ขึ้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมขึ้นที่ DNA ของเซลล์ ทำให้เซลล์ในอวัยวะนั้น ๆ มีการทำงานที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

          นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง กินเนื้อแดง ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย รวมทั้งเรื่องฮอร์โมนเพศหญิง

มะเร็งเต้านม ใครเสี่ยง ?


          - ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

          - ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าสองเท่า รวมทั้งผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม ก็มีอัตราเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นใหม่สูงกว่าคนปกติ

          -  ผู้หญิงที่มีเต้านมใหญ่ หรือมีเต้านมที่เต่งตึงกว่าอายุ มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงที่มีเต้านมเล็ก

          - ผู้หญิงที่ไม่มีลูก หรือมีลูกคนแรกหลังอายุ 30 ปีขึ้นไป

          - ผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดต่อเนื่องนาน 10 ปีขึ้นไป หรือใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุน้อย ๆ

          - ผู้ที่มีระดับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจนสูงกว่าปกติ

          - ผู้หญิงที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุยังน้อย (ก่อน 12 ปี) หรือประจำเดือนหมดช้า หลังอายุ 55 ปี

          - ผู้ที่อยู่ในมลภาวะที่เป็นพิษ เนื่องจากนาน ๆ เข้าอาจเกิดการสะสมของความผิดปกติของเซลล์ได้

          - ผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน

          - ผู้ที่สูบบุหรี่มากกว่าวันละ 2 ซอง

          - ผู้หญิงที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน ในสตรีวัยหมดประจำเดือน

          - ผู้ที่มีความเครียดสูง

          ทั้งนี้ มะเร็งเต้านม พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่พบในผู้ชายในอัตราที่น้อยมาก

อาการของมะเร็งเต้านม


          ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมในระยะแรกจะไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ จนเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นอย่างรวดเร็วจะเกิดอาการ คือ

          - คลำพบก้อนที่เต้านม หรือใต้รักแร้ โดยร้อยละ 15-20 ของก้อนที่คลำได้บริเวณเต้านม คือ มะเร็งเต้านม
         
          - เต้านมมีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่าง

          - มีน้ำหรือเลือดไหลออกมาจากหัวนม โดยร้อยละ 20 ของการมีเลือดออกที่เต้านมจะเป็นมะเร็งเต้านม

          - รู้สึกเจ็บ และหัวนมถูกดึงรั้งเข้าไปในเต้านม

          - ผิวที่เต้านมจะมีลักษณะเหมือนเปลือกส้ม อาจมีรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ แดงผิดปกติ บางส่วนอาจมีสะเก็ด

          - รักแร้บวม เพราะต่อมน้ำเหลืองโต

          หากใครพบอาการเหล่านี้ คุณอาจเสี่ยงต่อการเป็น มะเร็งเต้านม ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

มะเร็งเต้านมระยะแรก

มะเร็งเต้านมระยะต่าง ๆ


          มะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ

          อาการมะเร็งเต้านมระยะที่ 1


          มะเร็งเต้านมระยะที่ 1 นับเป็นอาการมะเร็งเต้านมในระยะก่อนลุกลาม ก้อนมะเร็งจะมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร และยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้

          อาการมะเร็งเต้านมในระยะที่ 2


          ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2-5 เซนติเมตร และ/หรือมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกัน

          อาการมะเร็งเต้านมระยะที่ 3


          ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ข้างเดียวกันอย่างลุกลาม จนทำให้ก้อนน้ำเหลืองที่ถูกเซลล์มะเร็งกินรวมตัวติดกันเป็นก้อนใหญ่ หรือติดแน่นกับอวัยวะข้างเคียง

          อาการมะเร็งเต้านมระยะที่ 4


          ระยะนี้จะพบว่าก้อนมะเร็งมีขนาดโตเท่าไรก็ได้ แต่จุดสังเกตอยู่ที่การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจะลุกลามไปยังอวัยวะส่วน อื่น ๆ เช่น กระดูก ปอด ตับ หรือสมอง เป็นต้น


มะเร็งเต้านม อาการ


การวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม


          วิธีการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมทำโดยการเอกซเรย์เต้านม หรือแมมโมแกรม และใช้วิธีการตรวจอัลตราซาวด์ คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งได้ผลดีที่สุด โดยเฉพาะกับก้อนที่มีขนาดเล็กหรืออยู่ลึกจนคลำไม่ได้ และเมื่อตรวจพบก้อนมะเร็งเต้านมแล้ว แพทย์จะประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งว่าจะลุกลามไปยังที่อื่น เช่น ต่อมน้ำเหลือง ปอด กระดูกหรือไม่ ซึ่งผู้ป่วยต้องถ่ายภาพรังสีทรวงอก อัลตราซาวด์ตับ และตรวจกระดูกชนิดสแกนด้วยเภสัชรังสี

หากก้อนที่พบบริเวณเต้านม ไม่ใช่เนื้อร้าย ?


          บางครั้งก้อนที่เต้านมอาจไม่ใช่เนื้อร้าย หรือมะเร็งเต้านม เพราะก้อนนั้นอาจมีสาเหตุมาจากโรคต่าง ๆ คือ

          - 1. Fibrocystic change เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยก้อนที่บริเวณเต้านมนี้ไม่ใช่เป็นมะเร็ง แต่เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนทำให้มีถุงน้ำ มักจะมีอาการปวดบริเวณก้อนก่อนมีประจำเดือน อาการมักเกิดช่วงอายุ 30-50 ปี ก้อนนี้มีหลายขนาด ขยับไปมาได้ มักจะเป็นสองข้างของเต้านม พบที่บริเวณรักแร้ เมื่อเข้าสู่วัยทองก้อนนี้จะหายไปเอง ไม่ต้องรักษา

          - 2. Fibroadenomas มักจะเกิดในช่วงอายุ 20-40 ปี ไม่รู้สึกปวด ก้อนเคลื่อนไปมา ต้องรักษาด้วยการผ่าออก 

          - 3. Traumatic fat necrosis เกิดจากการที่เต้านมได้รับการกระแทกและมีเลือดออกในเต้านม มักเกิดในคนที่มีเต้านมโต บางครั้งผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัว รวมทั้งไขมันเกิดการอักเสบรวมกันเป็นก้อนซึ่งอาจจะปวดหรือไม่ก็ได้

มะเร็งเต้านม อาการ


การรักษามะเร็งเต้านม


          การรักษามะเร็งเต้านมทำได้ทั้งการผ่าตัด การฉายรังสี การให้ยาเคมีบำบัด รวมทั้งการให้ฮอร์โมนรักษา แต่โดยปกติแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาตามลำดับความเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลการรักษาดีที่สุด โดยคำนึงถึงวัย ภาวะประจำเดือน สุขภาพทั่วไป ขนาดของเซลล์มะเร็ง ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง รวมทั้งระยะของมะเร็งเต้านมที่เป็นอยู่

          * การรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีการผ่าตัด ในทางปฏิบัติมี 2 วิธี คือ

             1. การผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน คือ ตัดก้อนมะเร็ง รวมทั้งเนื้อเต้านมที่ดีที่หุ้มรอบมะเร็งออกด้วย และถ้าหากมีมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองจะต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกด้วย การผ่าตัดโดยวิธีนี้ต้องฉายรังสีบริเวณเต้านมภายหลังการผ่าตัดทุกราย เพื่อลดโอกาสกลับเป็นใหม่ของมะเร็ง ผลการผ่าตัดโดยวิธีนี้ได้ผลดีพอ ๆ กับ การตัดเต้านมออกทั้งเต้า

             2. การผ่าตัดเต้านมออกโดยวิธีมาตรฐาน คือ การตัดเนื้อเต้านมทั้งหมดร่วมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก แพทย์จะผ่าตัดด้วยวิธีนี้ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่กว่าวิธีแรก

          ทั้งนี้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด บางกรณีจำเป็นต้องได้รับการรักษาเสริมเพื่อหวังผลให้หาย หรือมีชีวิตยืนยาวขึ้นด้วยการฉายรังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัด และการให้ฮอร์โมนรักษา ซึ่งการรักษาแบบผสมผสานดังกล่าวเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี อันจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคหรือมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้

             ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยการผ่าตัด นอกจากจะมีอาการเจ็บปวดแล้วอาจมีการติดเชื้อ หรือแผลหายช้า จะรู้สึกตึง ๆ หน้าอก บริเวณแขนข้างที่ผ่าตัดจะมีแรงน้อยลง และมีอาการชา บวม อีกทั้งการตัดเต้านมไปข้างหนึ่งอาจทำให้เสียสมดุลทำให้ปวดหลัง คอ

          * การรักษา มะเร็งเต้านม ด้วยรังสี (Radiation therapy)

          เป็นการใช้รังสีเพื่อฆ่าหรือหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยทั่วไปให้ 5 วันต่อสัปดาห์ติดต่อกัน 5-6 สัปดาห์ บางครั้งอาจให้รังสีรักษา เคมีบำบัด หรือให้ฮอร์โมนก่อนการผ่าตัดเพื่อให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง ง่ายต่อการผ่าตัด

             ผลข้างเคียง คือ มีอาการอ่อนเพลีย ผิวหนังแห้ง แดง เจ็บ คัน และควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เครื่องสำอาง

          * การรักษา มะเร็งเต้านม ด้วยวิธีเคมีบำบัด (Chemotherapy)

          วิธีเคมีบำบัดจะใช้ยาฉีด หรือยากินมาฆ่ามะเร็ง มักจะให้ระยะหนึ่งแล้วหยุด โดยจุดประสงค์ของการให้ เพื่อป้องกันมะเร็งกลับเป็นซ้ำหลังการผ่าตัด รวมทั้งลดขนาดของก้อนมะเร็งก่อนผ่าตัด และควบคุมโรคในรายที่มะเร็งแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่น

             ผลข้างเคียง คือ ผู้ป่วยอาจผมร่วง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน มีภาวะซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำทำให้เหนื่อยง่าย ติดเชื้อง่าย และเลือดออกง่าย อีกทั้งอาจเป็นหมันได้

          * การรักษามะเร็งเต้านมด้วยฮอร์โมน (Hormone therapy)

          เป็นให้ฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งจะใช้ในรายที่ให้ผลบวกต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือ progesterone receptor ผลข้างเคียงของการรักษาวิธีนี้คือ ผู้ป่วยจะมีอาการวูบวาบ ตั้งครรภ์ง่าย คันช่องคลอด น้ำหนักเพิ่ม ตกขาว ดังนั้นจึงควรตรวจภายในทุกปีและรายงานแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ


มะเร็งเต้านม


การตรวจเต้านม เพื่อตรวจสอบมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง


          ผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพื่อหามะเร็งเต้านม โดยควรทำทุกเดือน ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยสูงอายุ ทั้งนี้เวลาที่ดีที่สุดในการตรวจหามะเร็งเต้านมคือ หลังหมดประจำเดือนแล้ว 7-10 วัน เนื่องจากช่วงนั้นเต้านมจะไม่คัดตึงจึงตรวจพบได้ง่าย โดยวิธีการตรวจมะเร็งเต้านม ต้องบิดลำตัวไปทั้งทางซ้ายและขวา สังเกตรูปร่าง ลักษณะ ความผิดปกติของผิวหนัง รอยบุ๋ม รอยนูน หรือความผิดปกติอื่น ๆ ของเต้านม โดยมีท่าคือ

1. ยืนหน้ากระจก

          - ให้ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัว ยืนตามสบาย

          - ยกแขนทั้ง 2 ข้าง ประสานกันเหนือศีรษะ เพื่อเปรียบเทียบขนาดของเต้านมทั้งสองข้าง ว่ามีการบิดเบี้ยวหรือไม่ ผิวเรียบ มีรอยบุ๋มหรือไม่

          - ยืนเท้าเอว เกร็งอก ให้ผนังทรวงอกกระชับขึ้น

          - โค้งตัวมาข้างหน้า ใช้มือบีบหัวนมว่ามีสิ่งผิดปกติไหลออกมาหรือไม่

2. นอนราบ

          - นอนให้สบาย ตรวจเต้านมด้านขวา โดยสอดหมอนหรือม้วนผ้าไว้ใต้ไหล่ขวา เพื่อตรวจเต้านม

          - ยกแขนขวาเหนือศีรษะ เพื่อให้เต้านมด้านแบนราบจะทำให้คลำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเต้านมส่วนบนด้านนอก ที่มีเนื้อหนามากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งบ่อยที่สุด

          - ใช้กึ่งกลางตอนบนของนิ้วมือซ้าย คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำทั่วเต้านมและรักแร้ ห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อซึ่งความจริงไม่ใช่ การคลำให้คลำจากรอบหัวนม และขยายวงจนทั่วเต้านม ถ้าเจอก้อนถือว่าผิดปกติ

          - ทำวิธีเดียวกันนี้กับเต้านมด้านซ้าย

3. ขณะอาบน้ำ

          - ผู้หญิงที่มีเต้านมเล็กให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะ แล้วใช้นิ้วมืออีกข้างคลำไปทิศทางเดียวกับที่ใช้ในท่านอน

          - สำหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้นิ้วมือข้างนั้นประคอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างให้ตรวจคลำเต้านมด้านบน

การป้องกันโรคมะเร็งเต้านม


          ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันมะเร็งเต้านมอย่างแน่นอน แต่มีหลายปัจจัยที่จะช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม ได้ คือ

          - การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง สำหรับผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ การตรวจแมมโมแกรมเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะค้นพบมะเร็งในระยะเริ่มแรก จึงควรตรวจทุก 1-2 ปี สำหรับผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปี สำหรับผู้หญิงที่อายุน้อยกว่านี้ หรือมีปัจจัยเสี่ยงควรปรึกษาแพทย์ว่าจะตรวจบ่อยแค่ไหน

          - หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที จะช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ลงได้ถึง 60%

          - พยายามรับแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้าสม่ำเสมอ เพราะจากการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่ได้รับแสงแดดอ่อน ๆ สม่ำเสมอ มีแนวโน้มเป็นมะเร็งเต้านมน้อยลงถึง 40%

          - งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          - นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

          - ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วนมากเกินไป

          - ลดการรับประทานเนื้อแดง อาหารมัน เกลือ

          - รับประทานผัก ผลไม้ เป็นประจำ

          อย่าเพิ่งตกใจไปหากใครพบก้อนเนื้อที่หน้าอก เพราะนั่นอาจไม่ใช่มะเร็ง ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด เพราะหากก้อนเนื้อนั้นคือมะเร็ง ยิ่งพบไวก็ยิ่งมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้มากขึ้นนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม


           ❅ 12 วิธีลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม สาว ๆ รู้ครบยัง ?
           ❅ 7 วิธีดูแลหน้าอกให้เต่งตึงสุขภาพดี ลดเสี่ยงมะเร็งเต้านม
           ❅ อาการมะเร็งเต้านมระยะต่าง ๆ ที่ผู้หญิงควรรู้ไว้
           ❅ ใส่บราเวลานอน เสี่ยงมะเร็งเต้านมจริงหรือ
           ❅ อย่าชะล่าใจไป ผู้ชายก็เป็นมะเร็งเต้านมได้เหมือนกัน


ขอบคุณข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยมหิดล, Thai Breast Cancer, ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง, siamhealth.net, medinfo2.psu.ac.th,กรมการแพทย์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มะเร็งเต้านม อาการเป็นอย่างไร เช็กได้ด้วยตัวเอง อัปเดตล่าสุด 16 มกราคม 2567 เวลา 15:10:46 187,346 อ่าน
TOP
x close