ในยุคที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ การแข่งขัน และความวุ่นวายมากมาย ทำให้ใครหลายคนหันหน้าเข้าหาธรรมะ และเลือกพักผ่อนจิตใจตัวเองด้วยการนั่งสมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ใครก็สามารถทำได้ ทำให้ทุกวันนี้ไม่เพียงคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือปู่ย่าตายายเท่านั้น แต่หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ก็หันมาฝึกนั่งสมาธิกันมากขึ้นด้วย
สำหรับใครที่ยังไม่เคยและอยากลองสัมผัสความสุขเล็ก
ๆ และประโยชน์ดี ๆ จากการนั่งสมาธิ วันนี้เรามีเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ
ที่จะทำให้การฝึกนั่งสมาธิของคุณเป็นเรื่องง่ายมาฝากกันค่ะ
1. จัดท่าทางให้ถูกต้อง
จริงอยู่ว่าใคร ๆ ก็นั่งขัดสมาธิเพื่อนั่งสมาธิได้
แต่การนั่งที่ถูกต้องคือ คุณต้องแน่ใจว่าคุณนั่งตัวตรง หัวตรง
นั่นเพราะร่างกายของเราสัมพันธ์กับจิตใจค่ะ หากคุณนั่งตัวงอแล้วละก็
จิตใจของคุณก็จะล่องลอยไป ไม่อยู่กับเนื้อกับตัวนะคะ
แต่ไม่ต้องนั่งเกร็งมาก ให้นั่งเหมือนเรากำลังผ่อนคลายดีที่สุด
2. เปิดตานั่งสมาธิ
บางครั้งการนั่งสมาธิไม่จำเป็นต้องหลับตาเสมอไป
คุณสามารถเปิดตาไว้ แต่ปรับระดับสายตาให้มองต่ำลง
โดยกำหนดจุดให้เพ่งรวบรวมสมาธิไว้
เพราะบางคนเมื่อปิดตาแล้วกลับรู้สึกฟุ้งซ่าน
ในหัวสมองเต็มไปด้วยเรื่องราวต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม
ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าวิธีใดทำแล้วได้ผลมากกว่ากัน
3. กำหนดรู้ลมหายใจ
การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นการกำหนดที่ตั้งของสติ
เพื่อให้จิตเราอยู่กับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น ๆ
แต่เราไม่จำเป็นต้องไปบังคับการหายใจ แค่ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ
4. นับลมหายใจเข้า-ออก
การนับลมหายใจเข้า-ออก เป็นวิธีปฏิบัติสมาธิมาตั้งแต่โบราณ
โดยเมื่อคุณหายใจออกก็ให้คุณเริ่มนับ 1 ในใจ
ต่อไปก็เป็น 2, 3, 4 ตามลำดับ
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกว่าความคิดของคุณกำลังล่องลอยออกไปที่อื่น
ให้คุณกลับมาตั้งต้นนับ 1 ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้คุณนำจิตกลับมาที่เดิม
5. ควบคุมความคิดไม่ให้เข้ามารบกวน
เมื่อคุณรู้สึกว่าคุณกำลังมีความคิดเข้ามารบกวนจิตใจ ค่อย ๆ
ขจัดความคิดเหล่านี้ออกไป โดยหันมาสนใจกับการกำหนดลมหายใจ
อย่าพยายามหยุดความคิดในทันที
เพราะมันจะทำให้คุณฟุ้งซ่านและไม่สามารถกลับเข้าสู่สมาธิได้อีก
6. กำจัดอารมณ์ให้หมดสิ้น
เป็นการยากที่จะนั่งสมาธิในขณะที่จิตของคุณเต็มไปด้วยอารมณ์
เพราะอารมณ์จะทำให้เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ในจิตใจ โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ กลัว
เสียใจ ซึ่งไม่ได้ทำให้คุณอยู่กับปัจจุบัน
หรืออยู่กับสิ่งที่เป็นในตอนนี้เลย
ให้คุณจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นนี้ โดยกำหนดลมหายใจไปที่ความรู้สึกของร่างกายที่ควบคุมอารมณ์ส่วนนั้น
เพราะจะทำให้คุณไม่คิดถึงเรื่องราวที่ทำให้คุณกลัวหรือโกรธอีก
แต่หันมาเพ่งกับสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้แทน
7. ความเงียบบ่อเกิดแห่งความสงบ
การนั่งสมาธิควรจะนั่งในที่เงียบ ๆ เพื่อทำจิตให้ว่าง
ไม่ใส่ใจถึงบุคคล เสียง หรือสิ่งอื่นที่อยู่โดยรอบ
เพราะความเงียบจะนำมาซึ่งความสงบเยือกเย็นและความรู้สึกมั่นคง
เมื่อไหร่ก็ตามที่ความเงียบภายนอกและภายในประสานกันได้
คุณก็จะรู้สึกได้พักกายพักใจ ผ่อนคลายจากความคิดที่รบกวนคุณอยู่ตลอดมา
8. เวลาในการนั่งสมาธิ
เมื่อเริ่มต้นนั่งสมาธิใหม่ ๆ คุณอาจจะลองนั่งก่อนประมาณสัก
10 นาที และจึงค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จนรู้สึกว่าจิตคุณเริ่มนิ่งมากขึ้น
แต่อย่าบังคับตัวเองให้นั่งนานเกินไปหากคุณยังไม่พร้อม ทั้งนี้
ระยะเวลาที่เหมาะคือประมาณ 25 นาที
เพราะเป็นระยะเวลาที่ไม่ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยร่างกายเกินไปจนรบกวนสมาธิได้
9. สถานที่ในการนั่งสมาธิ
สถานที่และบรรยากาศก็ช่วยให้คุณทำสมาธิได้ดีขึ้น
ซึ่งการนั่งสมาธิในห้องพระจะช่วยให้จิตใจสงบและรู้สึกเป็นสมาธิมาก
หรือคุณอาจจะวางสิ่งเล็ก ๆ ที่คุณชอบ หรือช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายไว้รอบ ๆ
ที่คุณนั่งสมาธิก็ได้
10. มีความสุขไปกับการนั่งสมาธิ
คนเราหากทำอะไรแล้วมีความสุข เราก็จะทำมันได้ดี
และรู้สึกอยากทำต่อไป ในการนั่งสมาธิก็เช่นกัน
หากคุณมีความสุขในการนั่งสมาธิ คุณก็จะรู้สึกผ่อนคลายสบายตัว
และอยากจะทำต่อไป จนสามารถทำเป็นกิจวัตรที่ทำทุกวันได้
รับรองว่าหากเพื่อน ๆ ได้ลองฝึกนั่งสมาธิเป็นประจำสม่ำเสมอ
ก็จะรู้สึกได้ถึงจิตใจที่สดชื่น เบิกบาน และมีสติในการทำสิ่งต่าง ๆ
เพิ่มมากขึ้นด้วย