x close

สปสช. สำรองจ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ์ รักษาได้เร็วขึ้น


สปสช. สำรองจ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ์ รักษาได้เร็วขึ้น

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          สปสช. สำรองจ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ์ ลดขั้นตอนยุ่งยาก รักษาได้ทุกโรงพยาบาล ทั้งในและนอกเครือข่าย ชี้ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ-เร่งด่วน ที่ไม่รู้สึกตัว

          จากโครงการผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การอนามัยโลก เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินสามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลใดก็ได้ โดยจะไม่มีการถามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย แต่ให้ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว และไม่ต้องสำรองจ่าย โดยจะเริ่มให้บริการในวันที่ 1 เมษายน 2555 นี้ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

          ล่าสุด วันนี้ (27 มีนาคม) นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมถึงนโยบายดังกล่าวว่า การให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินโดยไม่ต้องถามสิทธิ์ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เดิมมีปัญหาในการเข้ารับบริการฉุกเฉินในโรงพยาบาลที่อยู่นอกเครือข่าย ทำให้ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน และอาจจะถูกบ่ายเบี่ยงการรักษาพยาบาล รวมถึงเสียโอกาสจากขั้นตอนในการตรวจสอบสิทธิ์ และโรงพยาบาลไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินค่ารักษา ดังนั้น แนวทางใหม่ที่ดำเนินการนี้ จะปรับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ทุกโรงพยาบาลไม่ต้องถามสิทธิ์การรักษาพยาบาลจากผู้ป่วย ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย โรงพยาบาลรักษาทันที แล้วจึงมาเบิกจ่ายจากกองทุนที่เป็นสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ป่วยแทน

          ทางด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการ (สปสช.) ระบุว่า สำหรับหลักการการจ่ายเงินชดเชย ในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลในเครือข่ายของ 3 กองทุน ให้เป็นไปตามระบบปกติของทั้ง 3 กองทุน

          สำหรับกรณีที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลนอกเครือข่ายของทั้ง 3 กองทุนที่รับรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินทั้งจากผู้ป่วยที่ส่งมาโดยรถกู้ชีพ 1669 หรือนำส่งเอง ซึ่งโรงพยาบาลต้องให้การรักษาทันที หลังจากนั้นจึงลงทะเบียนเบื้องต้น บันทึกข้อมูลการให้บริการ ส่งมาที่หน่วยงานเบิกจ่ายกลาง ซึ่ง สปสช. รับหน้าที่นี้ หลังจากนั้น สปสช. จะประมวลผลและจ่ายชดเชยให้กับโรงพยาบาลไปก่อน แล้วจึงส่งใบแจ้งหนี้ให้แต่ละกองทุนเพื่อจ่ายเงินคืน วิธีการจ่ายนี้เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และให้โรงพยาบาลที่รับรักษาได้รับเงินโดยเร็ว

          สำหรับนิยามผู้ป่วยฉุกเฉินตามประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน แบ่งได้ดังนี้

          1. ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ คือ บุคคลที่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บกะทันหันที่มีภาวะคุกคามต่อชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาทันทีเพื่อแก้ไขระบบหายใจ ไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น หายใจไม่ออกหอบรุนแรง หยุดหายใจ ภาวะช็อก ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว เลือดออกมากอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา

          2. ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน คือ บุคคลที่มีอาการป่วยหรือบาดเจ็บเฉียบพลันหากไม่ได้รับการรักษาอย่างรีบด่วนมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจนพิการหรือเสียชีวิตได้ เช่น ไม่รู้สึกตัว ชัก อัมพาตหรือตาบอดหูหนวกทันที ตกเลือดซีดมากจนเขียว เจ็บปวดมากหรือทุรนทุราย ถูกพิษหรือรับยาเกินขนาด ได้รับอุบัติเหตุโดยเฉพาะมีบาดแผลที่ใหญ่มากหลายแห่ง

          ทั้งนี้ แนวทางครั้งนี้เน้นผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติและเร่งด่วน หมายถึง ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ได้รับการส่งรักษาโดยบุคคลอื่น ซึ่งต้องเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อให้การรักษาทันท่วงทีลดการสูญเสียชีวิตและความพิการรุนแรงจากเหตุไม่จำเป็น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




[23 มีนาคม] ยิ่งลักษณ์ ยัน ป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุก รพ. 1 เม.ย.นี้




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก facebook Yingluck Shinawatra

          ยิ่งลักษณ์ เดินหน้า โครงการผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว เริ่มวันที่ 1 เมษายนนี้

          วานนี้ (22 กันยายน) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง นโยบายรัฐบาลต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์การอนามัยโลก โดยกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลที่จัดเก็บค่ารักษาครั้งละ 30 บาท เพื่อแสดงว่าประชาชนซื้อบริการการรักษาพยาบาล ไม่ใช่รับการสงเคราะห์  และทำให้มุมมองต่อการดูแลผู้ป่วยเปลี่ยนไป ช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับบริการรักษาอย่างสมศักดิ์ศรี พร้อมเผยว่า ที่ผ่านมา ระบบบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการมากขึ้น และส่งผลให้จำนวนครัวเรือนยากจนลดลงถึง 78,000 ครัวเรือนต่อปี

          น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า อีก 10 ปีข้างหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะต่อยอดการพัฒนาให้ดีขึ้น 4 ในประเด็นหลัก คือ

 1. การพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง

          เริ่มจากโครงการการให้บริการทางแพทย์ฉุกเฉินของทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ โดยปรับให้ผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินสามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลใดก็ได้ โดยจะไม่มีการถามสิทธิการรักษาของผู้ป่วย แต่ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว และไม่ต้องสำรองจ่าย เพราะสปสช.จะทำหน้าที่บริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จะเริ่มให้บริการระบบนี้ทันทีวันที่ 1 เมษายน 2555 นอกจากนี้จะนำระบบเทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ เช่น ระบบเทเลเมดิซีน การให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์และการใช้สมาร์ท การ์ดเก็บข้อมูลประวัติสุขภาพ จะช่วยให้แพทย์ดูแลประชาชนได้เต็มที่ขึ้น พร้อมยืนยันว่า จะไม่มีการรวม 3 กองทุนให้เป็นกองทุนเดียวกันแน่นอน

2. การควบคุมค่าใช้จ่ายระยะยาว

          ควบคุมค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะเรื่องยาที่คิดเป็น 46 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด จึงจำเป็นที่ทั้ง  3 กองทุนจะต้องบูรณาการร่วมกัน โดยกำหนดราคากลางยาหรือรวมกันจัดซื้อยา แต่ต้องไม่ลดคุณภาพยา และนำเงินส่วนต่างที่เกิดขึ้นมาใช้ปรับปรุงคุณภาพยาต่อไป รวมถึงควบคุมการใช้ยาฟุ่มเฟือย แต่ไม่จำกัดการใช้ยาจำเป็น หากทำได้เช่นนี้จะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้ระยะยาว

3. เน้นเรื่องสร้างสุขภาพที่ดีมากกว่าการซ่อมสุขภาพ

          การส่งเสริมสุขภาพประชาชนจะต้องเน้นเรื่องสร้างสุขภาพที่ดีมากกว่าการซ่อมสุขภาพ โดยจัดสร้างลานชุมชนสร้างสรรค์ การออกกำลังกาย อาหารเพื่อสุขภาพ และสุขภาพแม่ตั้งครรภ์ ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองท้องถิ่น เน้นบทบาทโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการป้องกันโรค ให้ความรู้และการรักษาแก่ประชาชนในพื้นที่

4. 1 แพทย์ 1 ตำบล

          ประชาชนคนไทยควรมีหมอประจำครอบครัว โดยใช้เทคโนโลยีในการให้คำปรึกษา ซึ่งเบื้องต้นอาจเริ่มจากการที่แพทย์ให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ที่สถานพยาบาล แต่อนาคตระบบอินเตอร์เน็ตเข้าถึงทุกครัวเรือน อาจปรับให้ประชาชนขอคำปรึกษาแพทย์ได้จากที่บ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลดจำนวนแพทย์ ยังอยากเห็น 1 แพทย์ 1 ตำบล

          สำหรับ การใช้สิทธิฉุกเฉินอย่างเท่าเทียมที่จะเริ่ม 1 เมษายนนี้นั้น มีนิยามความหมายของคำว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้น หมายถึง ผู้ป่วยที่เป็นโรค ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ สมอง ทางเดินหายใจ ต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันที เช่น หัวใจหยุดเต้น หอบหืดขั้นรุนแรง มีการเขียวคล้ำของปากและเล็บมือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว อุบัติเหตุรุนแรงบริเวณใบหน้าและลำคอ มีเลือดออกมาก ภาวะช็อกจากการเสียเลือด หรือขาดน้ำอย่างรุนแรง แขน ขาอ่อนแรงพูดไม่ชัด ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว มีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด ถูกสุนัขกัดบริเวณใบหน้าและลำคอ เป็นต้น ทั้งนี้สามารถสอบถามถึงอาการฉุกเฉินที่เข้าข่ายจะได้รับสิทธิฉุกเฉินอย่างเท่าเทียมที่สายด่วน 1669

          ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินใน 3 ระบบ ให้สามารถใช้บริการได้ทุกโรงพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่มีเงื่อนไข โดยมี สปสช. เป็นหน่วยงานกลางสำรองจ่ายเงินให้สถานพยาบาลต่าง ๆ ก่อน และค่อยเรียกเก็บตามสิทธิของผู้ป่วยภายหลัง นโยบายนี้จะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการบริการทันท่วงที ไม่ต้องกังวลเรื่องสิทธิการรักษา เนื่องจากที่ผ่านมามักถูกถามว่าอยู่สิทธิไหน ซึ่งยุ่งยาก


 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สปสช. สำรองจ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ์ รักษาได้เร็วขึ้น อัปเดตล่าสุด 27 มีนาคม 2555 เวลา 15:53:24 4,701 อ่าน
TOP