กรมควบคุมโรค เผย 10 เมนูอันตรายหน้าร้อน




อาหาร


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
           รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเผย กำหนดให้วันที่ 8-14 เมษายนนี้ เป็นสัปดาห์ป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ เตือนประชาชน 10 เมนูอันตรายช่วงหน้าร้อน
 
           เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้กำหนดให้วันที่ 8-14 เมษายน 2555 เป็นสัปดาห์รณรงค์ป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ เนื่องจากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยาพบว่า ช่วงหน้าร้อนตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงมาก ประกอบกับมีช่วงเทศกาลวันหยุดต่อเนื่องยาว ประชาชนถือโอกาสกลับภูมิลำเนา มีงานเลี้ยงฉลอง งานรื่นเริงมากมาย ซึ่งสิ่งที่พบตามว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ จากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารไม่สะอาด อาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ซึ่งอากาศร้อนแบคทีเรียจะเจริญเติบโตได้เร็ว ทำให้อาหารบูดง่าย
 
           จากการสอบสวนโรคจากผู้ป่วยพบ 10 เมนูอันตรายจากหน้าร้อน ดังนี้
 
           1.ลาบ/ก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ
 
           2.ยำกุ้งเต้น 
 
           3.ยำหอยแครง 
 
           4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู โดยเฉพาะกรณีที่ทำในปริมาณมาก เช่น อาหารกล่องแจกนักเรียนหรือคณะท่องเที่ยว
 
           5.อาหาร/ขนม ที่ราดด้วยกะทิสด
 
           6.ขนมจีน
 
           7.ข้าวมันไก่
 
           8.ส้มตำ
 
           9.สลัดผัก
 
           10.น้ำแข็ง
 
           ส่วนอาหารปิ้งย่างที่นิยมรับประทานกัน เช่น หมูกระทะ กุ้งกระทะ ช่วงหน้าร้อนนี้ขอให้ใจเย็น ๆ เวลาปิ้ง ควรปิ้งให้สุกจะได้ปลอดภัยจากอาหารเป็นพิษ
 
           ทั้งนี้ ทางกรมควบคุมโรคจึงขอให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคอาหาร ช่วยกันระมัดระวังให้อาการสะอาดปลอดภัยอยู่เสมอ ไม่ปรุงอาหารทิ้งไว้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบจะเสียง่ายกว่าปกติ ส่วนอาหารประเภทยำ ลาบ ต้องปรุงให้สุก เนื่องจากอากาศร้อนจะทำให้อาหารบูดเสียง่าย สำหรับผู้ปรุงอาหารต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี แต่งกายสะอาด รวบผม ล้างมือก่อนปรุงและหลังประกอบอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะต้องล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ
 
           ส่วนผู้เดินทางท่องเที่ยวนั้น ถ้าจะแวะรับประทานอาหารขอให้เลือกร้านที่มั่นใจว่าสะอาด หรือมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย สำหรับน้ำดื่มหรือน้ำแข็งควรมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพจาก อย.  นอกจากนี้กรมควบคุมโรคยังขอความร่วมมือจากชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขและองค์การบริหารส่วนตำบล ช่วยกันดูแลประชาชนไม่ให้เจ็บป่วยหรือถ้าเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษต้องรีบรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบเพื่อการควบคุมโรคไม่ให้ระบาดในวงกว้าง
 
           สำหรับโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดมีเชื้อโรคหรือสารพิษจากสัตว์พิษหรือพืชพิษ เช่น เห็ดพิษ คางคก แมงดาทะเล สาหร่าย หรือปลาทะเลบางชนิด เป็นต้น ทำให้เกิดอาการอาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีไข้หรืออาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการทางระบบประสาท พบมากในกลุ่มนักเรียนและผู้ที่เดินทางเป็นหมู่คณะรับประทานอาหารร่วมกัน  
 
           โดยการช่วยเหลือรักษาผู้ป่วยอุจจาระร่วงเบื้องต้นทำโดยให้สารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส หรือของเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ  ซึ่งถ้าไม่มีก็ให้ใช้น้ำต้มสุก 1 ขวดน้ำปลาใหญ่ หรือประมาณ 750 ซีซี ผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือแกงครึ่งช้อนชาผสมให้เข้ากัน ทิ้งให้เย็นลง แล้วรับประทานแทนน้ำหรือให้อาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด ไม่งดอาหารรวมทั้งนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสมให้ผสมเหมือนเดิมแต่ปริมาณลดลงและให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
 
           อย่างไรก็ตาม จากการเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษพบว่า ตลอดทั้งปี 2554 มีผู้ป่วย 100,534 ราย สำหรับปี 2555 ตั้งแต่ 1 มกราคม–26 มีนาคม พบผู้ป่วย 26,811 ราย เสียชีวิต 1 ราย พบภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ป่วยสูงสุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราการป่วยสูงสุด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ รองลงมาเป็นอุบลราชธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น และพิษณุโลก ตามลำดับ
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมควบคุมโรค เผย 10 เมนูอันตรายหน้าร้อน อัปเดตล่าสุด 31 มีนาคม 2555 เวลา 11:55:17
TOP
x close