x close

วิจัยเผย คนทั่วโลกตีคุณค่าอาหารเกินจริง


อาหาร


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ศูนย์วิจัยแมสซิฟ เฮลธ์ (Massive Health) ในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ผู้ผลิตแอพพลิเคชั่น The Eatery สำหรับบันทึกภาพอาหารที่ทานแต่ละวันของคนทั่วโลก ได้เปิดเผยผลสำรวจน่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการทานอาหารของคนทั่วโลกว่า คนทั่วโลกมักทานอาหารที่มีประโยชน์เฉพาะในมื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อเย็น ส่วนตอนกลางคืนนั้น มักส่งท้ายด้วยการทานอาหารขยะหรือจังก์ฟู้ด แถมยังคิดว่าอาหารที่ทานเข้าไปนั้นมีประโยชน์เกินจริงอีกด้วย

          โดยศูนย์วิจัยแมสซิฟ เฮลธ์ ได้เปิดเผยผลการวิจัยพฤติกรรมการทานอาหารของคนทั่วโลกออกมาในรูปแบบแผนภูมิภาพ หรืออินโฟกราฟฟิก หลังวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเมนูอาหารของผู้ใช้แอพพลิเคชั่น The Eatery กว่า 7.68 ล้านคน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ในช่วงระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-พฤษภาคม) ซึ่งข้อมูลหลัก ๆ พบว่า ในแต่ละวัน คนทั่วโลกก็จะทานอาหาร 3 มื้อ ในเมนูแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ แต่ในมื้อดึกซึ่งเป็นมื้อที่ไม่จำเป็นนี้ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเพิ่มพลังงานส่วนเกินให้กับร่างกายตัวเองด้วยอาหารประเภทจังก์ฟู้ด ที่เต็มไปด้วยไขมันและน้ำตาล


ครัวซองต์


          และที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือผู้คนส่วนใหญ่ตีคุณค่าอาหารที่พวกเขาทานในแต่ละมื้อนั้นมากเกินจริง โดยไม่รู้เลยว่าอาหารที่ทานเข้าไปนั้นมีประโยชน์น้อยกว่าที่คิดถึง 12.4% ขณะที่ข้อมูลอื่น ๆ ที่น่าสนใจจากผลวิจัยนั้น มีดังต่อไปนี้

           72% ของคนทั่วโลกตีคุณค่าอาหารที่พวกเขาทานเข้าไปมากเกินจริง

           ผู้คนที่ทานมังสวิรัติ หรืออาหารชีวจิต มีสุขภาพดีกว่าผู้คนที่ทานอาหารทั่วไปเพียง 21.9% โดยเฉลี่ย

           อาหารเย็นของคนส่วนใหญ่ มีคุณค่าต่อสุขภาพน้อยกว่าอาหารเช้าถึง 15.9%

           ผู้คนที่ไม่ทานอาหารเช้า มักทานอาหารมากกว่าคนที่ทานอาหารเช้า 6.8%

           วันที่ผู้คนมีพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด คือ วันอาทิตย์ เพราะนอกจากพวกเขาจะตื่นสายแล้ว อาหารที่ทานเข้าไปยังไม่มีคุณค่าต่อสุขภาพอีกด้วย

           ผู้คนส่วนใหญ่ทานอาหารนอกบ้านถึง 74% และทานอาหารที่บ้านเพียง 26% เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่การทานอาหารที่ปรุงเองที่บ้านนั้น จะทำให้ได้รับประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าถึง 12.7%

           เมนูอาหารที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในโลก ได้แก่ สลัด ไก่ ชีส ข้าว ชา กาแฟ นม ไข่ แอปเปิ้ล ซุป โยเกิร์ต และขนมปัง ตามลำดับ

           เพื่อนมีผลกระทบต่อพฤติกรรมการทานอาหารของคนเราถึง 34.5%

           คู่สามีภรรยามีโอกาส 37% ที่จะอ้วน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอ้วน

           พี่น้องที่อยู่ด้วยกันมีโอกาส 40% ที่จะอ้วน หากคนใดคนหนึ่งอ้วน

           เพื่อนที่ไปไหนมาไหนด้วยกัน มีโอกาสถึง 57% ที่จะอ้วน หากคนใดคนหนึ่งอ้วน เพราะเรามีโอกาสทานอาหารเหมือนเพื่อน มากกว่าคนอื่น ๆ

อาหาร


          ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยแมสซิฟ เฮลธ์ ได้เปิดเผยข้อมูลน่าสนใจที่ได้จากหลากหลายงานวิจัยเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการและพฤติกรรมการทานอาหาร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้คนทั่วโลก ดังต่อไปนี้

           การทานอาหารในตอนเช้า ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าการทานอาหารจานเดียวกันในตอนบ่ายหรือเย็น

           แม้ว่า "สลัด" จะเป็นชื่อที่พูดถึงเมื่อไรก็ทำให้นึกว่ามันเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย เพราะสลัดบางชนิดมีพลังงานสูงถึง 500-976 แคลอรี เทียบเท่ากับอาหารอุดมไขมันจานใหญ่ ซึ่งสลัดที่เข้าข่ายพลังงานสูง ได้แก่ สลัดมันฝรั่ง โคลสลอว์ และสลัดไข่ ส่วนสลัดที่มีคุณค่าต่อสุขภาพมากที่สุดนั้น ก็คือสลัดที่ทำจากผักสด และมีน้ำสลัดน้อย ๆ นั่นเอง

           งานวิจัยชิ้นหนึ่งแนะนำว่า ควรกินอาหารเช้าที่มีไฟเบอร์สูง เพราะจะช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด และทำให้รู้สึกอิ่มไปทั้งวัน

           ควรทานอาหารเช้าให้ได้ในทุกเช้า เพื่อป้องกันการทานอาหารมื้ออื่น ๆ ในปริมาณที่มากขึ้น สรุปแล้วการไม่ทานอาหารเช้าทำให้คุณทานอาหารมากกว่าเดิมเสียอีก

           ควรใส่ใจพฤติกรรมการทานอาหารในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะคุณมีโอกาสนอนเพลินจนลืมทานอาหารเช้า แล้วทำให้ทานมากขึ้นในมื้ออื่น ๆ และยังมีแนวโน้มทานอาหารไร้ประโยชน์ เช่น อาหารขยะ เบียร์ หรือเหล้า มากกว่าวันอื่น ๆ ด้วย

           หากคุณมีเพื่อน พี่น้อง สามีหรือภรรยาที่เป็นคนอ้วน ไม่ได้แนะนำให้คุณหย่าร้างหรือเลิกคบกับพวกเขา แต่ขอให้ชวนกันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพในปริมาณที่เหมาะสม ทั้งนี้ ไม่ใช่แต่คุณเท่านั้นที่จะเป็นคนที่มีสุขภาพดี คุณยังช่วยเปลี่ยนให้พวกเขามีสุขภาพดีขึ้นด้วย

          เอ้า รู้อย่างนี้แล้ว เรามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารเพื่อสุขภาพของตัวเองพร้อม ๆ กันเลยดีไหม?


 เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย     





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิจัยเผย คนทั่วโลกตีคุณค่าอาหารเกินจริง อัปเดตล่าสุด 20 มิถุนายน 2555 เวลา 16:50:08
TOP