กอด...ลดความดันแต่เพิ่มความจำ (ไทยโพสต์)
การกอดคนที่คุณรักไม่เพียงเป็นวิธีการสร้างความผูกพันที่ดี แต่ผลวิจัยใหม่ยังชี้ว่ามันมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยช่วยลดความดันเลือดและเพิ่มพูนความจำได้อีกด้วย
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ฮอร์โมนออกซิโทซินจะหลั่งเข้าสู่กระแสเลือดเมื่อคุณกอดเพื่อนเอาไว้แน่น ๆ ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้ช่วยลดความดันโลหิต ลดความเครียดและความกังวล รวมถึงช่วยพัฒนาความสามารถในการจำ อย่างไรก็ตาม ตามผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเวียนนา คุณก็ควรเลือกคนที่คุณจะกอดสักนิด เพราะการกอดคนที่คุณไม่ได้รู้จักดีตามมารยาทอาจก่อให้เกิดผลตรงกันข้ามได้
ออกซิโทซิน คือ ฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมพิทูอิทารี และเป็นที่รู้จักในฐานะฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มความผูกพัน พฤติกรรมทางสังคม และความใกล้ชิดระหว่างพ่อ แม่ ลูก และคู่รัก ระดับฮอร์โมนออกซิโทซินที่เพิ่มสูงขึ้นสามารถพบได้ในความสัมพันธ์ที่เป็นจริง สำหรับผู้หญิง ฮอร์โมนจะถูกผลิตระหว่างการคลอดบุตรและให้นมอีกด้วย เพื่อเสริมสร้างความผูกพันระหว่างแม่และเด็ก
นอกจากนี้ การกอดยังช่วยทำให้บุคลิกภาพของคุณอ่อนโยนขึ้น นักวิจัยกล่าวว่า คนที่กอดคนที่พวกเขารักบ่อย ๆ จะมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
นักประสาทสรีรวิทยา ยูร์เกิน ซันด์คูห์เลอร์ กล่าวว่า "อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ดีจะเกิดขึ้นหากคนคู่นั้นไว้ใจซึ่งกันและกัน มีความรู้สึกถึงความสัมพันธ์เกิดขึ้นร่วมกัน และสัญญาณถูกส่งออกมาอย่างสอดคล้อง แต่หากพวกเขาไม่รู้จักกัน หรือพวกเขาไม่ได้อยากกอดกันจริง ๆ ก็จะไม่เกิดผลดีแบบนั้นขึ้นมา"
เมื่อเราได้รับการกอดที่ไม่พึงปรารถนาจากคนแปลกหน้า หรือแม้กระทั่งคนที่เรารู้จัก ฮอร์โมนจะไม่ถูกหลั่งออกมา และระดับความกังวลจะพุ่งสูงขึ้น
ซันด์คูห์เลอร์ กล่าวว่า "สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความเครียดอย่างแท้จริง เนื่องจากพฤติกรรมรักษาระยะห่างตามปกติของเราถูกเพิกเฉย ในสถานการณ์เหล่านี้ เราจะหลั่งฮอร์โมคอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนของความเครียดออกมา การกอดเป็นเรื่องดี แต่ไม่ว่าจะนานหรือบ่อยแค่ไหน ความเชื่อใจคือสิ่งที่สำคัญที่สุด"
ดังนั้น ซันด์คูห์เลอร์จึงออกปากเตือนถึงโครงการที่แพร่หลายไปทั่วโลกอย่างการกอดฟรี (free hugs) ซึ่งคนคนหนึ่งจะออกมาให้คนแปลกหน้าตามที่สาธารณะกอด โดยกล่าวว่า ผู้คนจะได้รับประโยชน์ก็ต่อเมื่อทุก ๆ คนที่เข้าร่วมเข้าใจตรงกันว่านี่คือความสนุกรูปแบบหนึ่งที่ไม่มีพิษภัย มิฉะนั้นมันอาจจะกลายเป็นภาระทางอารมณ์และความเครียดแทน
เขากล่าวว่า "ทุกคนคุ้นเคยกับความรู้สึกเช่นนั้นจากการใช้ชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น หากมีคนที่เราไม่รู้จักเข้าใกล้เราเกินไปโดยไม่ทราบสาเหตุ การล่วงละเมิด พฤติกรรมรักษาระยะห่างดังกล่าวย่อมถูกมองว่าน่ากระอักกระอ่วน หรือแม้กระทั่งเป็นการคุกคามอีกด้วย"
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก