เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
UN สำรวจระดับความสุขทั่วโลก ไทย มีความสุขลำดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์-มาเลย์ อารมณ์ดีลำดับ 8 ของโลก
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กรมสุขภาพจิต นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวเรื่อง "ความสุขคนไทย : เราจะทำอะไรกันได้บ้าง" ว่า เมื่อปี 2555 สหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันความสุขสากล (The International Day of Happiness) ดังนั้น ในปี 2556 จึงเป็นการจัดวันความสุขสากลครั้งแรก
โดยรายงานว่าด้วยความสุขโลกของสหประชาชาติได้สำรวจระดับความสุขใน 156 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า ความร่ำรวยเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งของความสุขเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น เสรีภาพทางการเมือง ความเข้มแข็งของเครือข่ายสังคม การไม่มีคอร์รัปชั่น ส่วนความสุขในระดับบุคคล การมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีความมั่นคงในอาชีพการงานและครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญของการมีความสุข
นพ.วชิระ กล่าวว่า ยูเอ็นระบุว่า ประเทศไทยมีความสุขอยู่ในลำดับที่ 52 ของโลก เป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ที่อยู่ที่ลำดับ 33 และมาเลเซีย อยู่ที่ 51 แต่มีระดับความมีอารมณ์ดีเป็นลำดับที่ 8 ของโลก และระดับการมีอารมณ์เสียน้อยเป็นลำดับที่ 14 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก ได้แก่ รายได้ การมีงานทำ ความสัมพันธ์ที่ดี และความไว้วางใจกันในชุมชน การมีค่านิยมที่เอื้อต่อความสุขและศาสนา สุขภาพกาย สุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว การศึกษา และความเท่าเทียมทางเพศและสังคม
ด้าน น.ส.รัจนา เนตรแสงทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลความสุขของคนไทยต่อเนื่อง 5 ปี พบว่าแนวโน้มคนไทยมีระดับความสุขเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ โดยจากคะแนนเต็ม 45 คะแนน ล่าสุด ในปี 2555 พบว่าคะแนนความสุขของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 33.59 คะแนน
จังหวัดที่มีความสุขมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. จังหวัดนครพนม 36.70 คะแนน
2. จังหวัดพิจิตร 36.39 คะแนน
3. จังหวัดตรัง 36.15 คะแนน
4. จังหวัดชัยภูมิ 35.92 คะแนน
5. จังหวัดกระบี่ 35.79 คะแนน
ส่วนจังหวัดที่มีความสุขน้อยที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
1. จังหวัดสมุทรสงคราม 26.92 คะแนน
2. จังหวัดสมุทรปราการ 29.81 คะแนน
3. จังหวัดสระแก้ว
4. จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดหนองคาย
5. จังหวัดกาญจนบุรี
ส่วน กทม. มีความสุขอยู่อันดับที่ 65 ได้ 32.15 คะแนน เพราะความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้น และการไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก