อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนประชาชนในภาคใต้ ระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยา หลังพบผู้ป่วยจำนวน 243 ราย แนะหมั่นกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุก ๆ 7 วัน
วันนี้ (20 พฤษภาคม 2556) นายแพทย์วิฑูรย์ เหลืองดิลก นายแพทย์สาธารณสุข จ.ตรัง ได้แจ้งเตือนให้ประชาชนทุกพื้นที่เร่งเฝ้าระวังและตรวจสอบจุดเก็บน้ำกิน-น้ำใช้ ทั้งภายในและภายนอกบ้าน เป็นประจำอย่างน้อย ๆ ทุก 7 วัน เพื่อป้องกันการเพาะพันธุ์ไข่ของลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก โดยขณะนี้รายงานการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกของ จ.ตรัง ขณะนี้พบผู้ป่วยแล้ว จำนวน 243 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
โดยพบจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดใน อ.เมืองตรัง รองลงมาคือ อ.หาดสำราญ และ อ.กันตัง ตามลำดับ สำหรับกลุ่มอายุผู้ป่วยในปี 2556 ขณะนี้พบในทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด จะอยู่ในช่วง อายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี และกลุ่มอายุ 5-9 ปี ตามลำดับ
ขณะที่นายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ออกมาเตือนการระบาดของโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ในหลายพื้นที่ของภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.ตรัง, จ.สตูล, จ.ชุมพร และ จ.สุราษฎร์ธานี พบเชื้อไวรัสชนิดนี้สูงถึงร้อยละ 39 อีกทั้งยุงลายบางตัวยังติดเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิด ได้แก่ เชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งทำให้เกิดไข้เลือดออกและเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา
นอกจากนี้ ผลจากการวิจัยยังเผยว่า ไม่จำเป็นว่ายุงต้องไปกัดผู้ป่วยแล้วจึงจะมีเชื้อ และเชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้ ยังสามารถถ่ายทอดจากแม่ยุงไปยังลูกยุงได้ด้วย ดังนั้นประชาชนต้องหาวิธีการป้องกันการกัดของยุงลาย ซึ่งนอกจากจะใส่เสื้อผ้ามิดชิดแล้ว ยังต้องชโลมยาทากันยุงให้ทั่วส่วนที่โผล่พ้นเสื้อผ้า เป็นต้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก