เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก "ความรู้สนุก ๆ แบบหมอแมว"
"โรคไข้เลือดออก" เป็นอีกโรคที่มาพร้อมหน้าฝนทุก ๆ ปี ถึงแม้ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมารณรงค์การกำจัดลูกน้ำยุงลาย ต้นตอสำคัญของโรคนี้ แต่ดูเหมือนว่า ความรุนแรงของไข้เลือดออกจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ เมื่อลองเทียบกับสถิติผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นข้อน่าสังเกตว่า เพราะอะไรทำไมโรคนี้ยังคงระบาดและส่อแววว่าจะรุนแรงมากขึ้น...
ส่วนเมื่อวานนี้ (16 กรกฎาคม) หน้าแฟนเพจ "ความรู้สนุก ๆ แบบหมอแมว" หรือที่โลกออนไลน์รู้จักกันในนามว่า "หมอแมว" ได้โพสต์ข้อความฝากไปยังพิธีกรชื่อดังอย่าง "สรยุทธ สุทัศนะจินดา" เพื่อหวังจะเป็นสื่อกลางในการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ในเรื่องการกำจัดยุงลายแบบถูกวิธี.... โดยมีข้อความดังนี้
"จดหมายเปิดผนึกเรื่องไข้เลือดออกถึง คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา
เรียนคุณสรยุทธที่นับถือ
ผมเชื่อว่าคุณสรยุทธคงได้อ่านข่าวเกี่ยวกับไข้เลือดออกในประเทศไทย และคงรู้สึกเหมือนกับหลาย ๆ คนว่าปัญหาไข้เลือดออกในปีนี้มีมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ มี 67,899 คน และเสียชีวิต 71 คน ในขณะที่ ณ ช่วงนี้ของปีที่แล้ว ผู้ป่วยสะสมมี 21,289 คน และเสียชีวิต 25 คน
คุณสรยุทธ เคยสงสัยหรือไม่ ว่าทำไมทั้งที่ปัญหาไข้เลือดออกเป็นปัญหาที่มีในไทยมาเกินกว่า 20 ปีแล้ว เราก็ทราบเหตุของปัญหาว่าเป็นโรคที่ติดต่อจากยุง การรณรงค์ก็มีเป็นระยะ ๆ ทุกปี ความรู้เราก็เชื่อว่าทุกคนทุกบ้านมีกัน เรารู้ว่าถ้าจะกำจัดลูกน้ำยุงลาย ต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ให้ได้มากที่สุด คว่ำโอ่งไห ทำลายแหล่งเก็บเพาะพันธุ์ยุง แต่ทำไมปัญหายุงลายและไข้เลือดออกจึงยังมากกันอยู่
ผมเองทำงานในฐานะแพทย์มาประมาณ 8 ปี มีโอกาสได้ไปสัมผัสกับการทำงานรณรงค์การกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลายบ้าง จึงขอสรุปปัญหาว่า "คนส่วนใหญ่รู้วิธีกำจัดยุงลาย แต่ไม่เข้าใจ"
ผมเคยพบว่าคนที่รับแจกจ่ายทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย มีจำนวนมากที่ไม่ยอมใช้ เพราะกลัวเรื่องสารเคมี กลัวเรื่องอันตราย บ้างก็บอกว่าไม่มีเวลาใส่ เวลามีผู้ป่วยไข้เลือดออกมา พบว่าญาติผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย โทษการไม่ยอมมาพ่นหมอกควันของรัฐว่าเป็นสาเหตุของการที่มียุงมาก แต่ตนเองไม่มีการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำเลย
เคยได้อ่านเรื่องราวการบ่นของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายท่าน ที่บ่นว่า เมื่อมีการรณรงค์กำจัดลูกน้ำ หลายบ้านไม่ยอมให้มีการพ่นหมอกควัน ไม่ยอมให้เช็กลูกน้ำ ไม่ยอมให้เข้าไปทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบริเวณบ้าน หลายบ้านบอกว่าจะจัดการเอง และเมื่อมีคนเป็นไข้เลือดออก กลับมาเช็กซ้ำก็พบว่าลูกน้ำยังอยู่ตามปกติ
เคยเดินสำรวจแหล่งน้ำขังตามซอยในกรุงเทพฯ ละแวกโรงพยาบาล อยู่ในชุดหมอ เจอลูกน้ำตามกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์ หรือแหล่งน้ำขัง ก็เอาทรายอะเบทที่เตรียมมาหย่อนลงไป ยังถูกคนไล่ ทั้งที่ผมใส่ทรายตรงถนนสาธารณะ ไม่ได้เข้าไปในบ้านใคร (เขาคงจะมองว่าผมทำตัวลับ ๆ ล่อ ๆ กระมัง)
การจัดการกับไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยรู้ แต่ไม่เข้าใจถึงความสำคัญ และนำไปสู่การไม่ทำ และถ้าหากผมจะขอเสียมารยาท ...ผมเชื่อว่าในช่วง 7 วันที่ผ่านมา เกินกว่า 90% ของคนที่อ่านจดหมายเปิดผนึกนี้ ไม่ได้สำรวจและทำลายแหล่งลูกน้ำยุงในบริเวณใกล้ ๆ บ้าน ทั้งที่เป็นระยะเวลาที่ควรจะทำหากต้องการป้องกันไข้เลือดออกจริง ๆ
**ผมจึงอยากจะขอเสนอแนะโครงการเล็ก ๆ ที่ผมเชื่อว่าคุณสรยุทธ ทำได้ และจริง ๆ แล้วคุณสรยุทธ คือคนไม่กี่คนในประเทศไทยที่มีพลังพอที่จะทำโครงการนี้ได้ และจะทำได้ดียิ่งกว่าหน่วยงานภาครัฐ**
ปัญหา "รู้ข้อมูล แต่ไม่ทำ" คือปัญหาที่พบทั่วโลก งานวิจัยในส่วนอื่นของโลกที่มีปัญหาโรคระบาดจากยุงก็บอกตรงกันว่า ผู้คนในชุมชน ทราบวิธีการกำจัดยุง ทราบว่าจะทำอย่างไร แต่คนส่วนใหญ่ไม่ทำ ไม่ว่าจะทั้งจากที่คิดว่าไม่มีประโยชน์ ไม่มีเวลา และไม่คิดว่าเป็นหน้าที่ของตน
ในต่างประเทศจึงมีการให้เด็กนักเรียนในชุมชนทำหน้าที่คอยสอดส่องหาลูกน้ำและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยทำเป็นโครงการในโรงเรียนของชุมชน เด็กก็คือเด็กในชุมชน ผลที่ได้น่าพอใจตรงที่เมื่อคนที่กำจัดลูกน้ำคือเด็กในชุมชน ซึ่งเมื่อเด็ก ๆ เป็นคนทำและมีการประชาสัมพันธ์ คนในชุมชนจะไม่ต่อต้าน ... เด็กก็เห็นหน้ากันประจำ อยู่ในละแวกบ้าน ความไว้วางใจให้เข้ามาในบริเวณบ้านก็มากกว่าการให้ผู้ใหญ่ไปทำ ความครอบคลุมพื้นที่ก็มากกว่าการให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐหรืออาสาสมัครเข้าไปทำ และเมื่อเด็กเป็นคนลงมือทำหรือขอร้องให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ ผู้ใหญ่ก็ยอมทำมากกว่า
ผมมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนร่วมงานที่มาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ เธอบอกว่ามีโครงการแบบนี้ในเขตโรงพยาบาลที่เธอทำงานอยู่ และหลังจากเริ่มโครงการได้ไม่นาน ผู้ป่วยไข้เลือดออกก็ลดลงอย่างชัดเจน แต่นั่นคืออำเภอ ๆ เดียว
****สิ่งที่ผมอยากจะขอ ให้คุณสรยุทธ ทำเพื่อช่วยสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการป้องกันไข้เลือดออกในประเทศไทยนั่นคือ
อยากขอให้ทางรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เป็นสื่อกลางในการรณรงค์การกำจัดลูกน้ำยุงลายโดยเด็กนักเรียนระดับประเทศครับ ****
ผมอยากให้ทางรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เด็กนักเรียน (และครู) ในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ร่วมกันทำกิจกรรมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ให้นักเรียนไปทำกิจกรรมไปตามบ้านเพื่อไปค้นหายุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ ให้นักเรียนทำกิจกรรมให้ความรู้ในชุมชน ใส่ทรายอะเบทในบ้านตนเอง หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
จากนั้น ให้ครูอาจารย์นักเรียน ถ่ายเป็นคลิปสั้น ๆ ส่งไปที่รายการเรื่องเล่าเช้านี้ แล้วนำกิจกรรมที่เด็ก ๆ ทำมาออกรายการช่วงเช้า ๆ
การทำเป็นกิจกรรมและมีการถ่ายทอดรายงานข่าวออกมา นอกจากจะทำให้เด็ก ๆ เกิดความรู้สึกร่วมและอยากทำกิจกรรมนี้ ยังสามารถทำให้ประชาชนที่เข้าถึงรายการทีวีได้ทราบว่าทางโรงเรียนในละแวกบ้านของตน ความรู้สึกเป็นส่วนร่วมของสังคมและความร่วมมือน่าจะมากกว่าการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือพยาบาลไปทำ
ความจริงแล้ว การทำกิจกรรมแบบนี้ มีประปรายตามจังหวัดต่าง ๆ ตามโรงเรียนต่าง ๆ แต่การป้องกันไข้เลือดออก ต้องทำพร้อมกันทุกพื้นที่ในชุมชน จะมาทำบ้านใครบ้านมันหรือทำแค่หมู่บ้านเดียวไม่ได้ ดังจะเห็นว่าหลาย ๆ บ้านที่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำแทบตาย แต่ยุงก็บินมาจากบ้านอื่น ดังนั้น เราต้องทำทั้งประเทศ
งานป้องกันไข้เลือดออก เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน และต้องทำกันทุกคนแต่เนื่องจากมันเป็นงานที่ทำไปแล้วผลสัมฤทธิ์ไม่ได้เห็นตอนนั้น จึงมีน้อยคนนักที่จะทำได้ด้วยกำลังของตนเพียงคนเดียว
ผมเชื่อว่าคุณสรยุทธมีความตั้งใจที่ดีเพื่อสังคมไทย และเชื่อว่าคุณสรยุทธมี "พลัง" ที่จะทำให้สิ่งนี้เป็นไปได้จริง ผมจึงหวังว่าคุณสรยุทธและทีมงาน เรื่องเล่าเช้านี้ จะได้มีโอกาสเห็นจดหมายฉบับนี้ และทำอะไรบางอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และหวังว่าเมื่อถึงช่วงปลายปี 2556 นี้ การป่วยเป็นไข้เลือดออก ที่ตลอดปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า และหน่วยงานภาครัฐคาดว่าจะสูงเช่นนี้ไปตลอดปี ... จะลดจำนวนลงมาด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคน
ขอแสดงความนับถือ
ปล. ทั้งหมดนี้เป็นการเสนอแนะอย่างบริสุทธิ์ใจที่อยากเห็นสังคมไทยปลอดภัยไร้ไข้เลือดออก ผมเชื่อว่าหากคุณสรยุทธและทีมงานทำ จะมีนักวิชาการ แพทย์ และผู้ทำงานทางสาธารณสุขจำนวนมากพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างแน่นอน"