HELLO ! ต่อ ติด...โรคอันตราย (Twenty-four Seven)
โทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของชีวิตที่ขาดไม่ได้ไปแล้วในโลกวันนี้ด้วยข้อดีมากมายทั้งในแง่ฟังก์ชัน และความสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่จะให้มีคุณสมบัติเลิศเลออย่างไร ก็อย่าลืมว่ามันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของร่างกายของเราโดยธรรมชาติ
และนี่แหละคือข้อสำคัญที่ละเลย หลายคนเรียกได้ว่า กิน อยู่ หลับ นอนกับหูเครื่องและหูฟังแทบ 24 ชั่วโมง โดยไม่รู้ว่าทุกครั้งที่คุณ Hello นั้น กำลัง ต่อ ติด กับอันตรายร้ายแรงของสุขภาพในแบบ Pre-Paid และนี่คือความจริงที่ต้องรู้ พร้อมวิธีป้องกัน
คุยไป ปวดหลังไป
ผลการศึกษาของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย พบว่า หากคุยโทรศัพท์ขณะที่กำลังเดิน จะทำให้คนเราเกิดอาการปวดหลังขึ้นมาได้ ทั้งนี้เนื่องจากวิธีหายใจที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะร่างกายมนุษย์ถูกออกแบบมาให้หายใจออกเวลาที่เท้าแตะพื้น เพื่อช่วยป้องกันการกระแทกของกระดูกสันหลัง
ดังนั้น การพูดและการเดินไปพร้อม ๆ กันจะทำให้รูปแบบการหายใจตามธรรมชาติเสียไป จนส่งผลอันตรายต่อกระดูกสันหลัง เพราะขณะที่คุยโทรศัพท์และเดินไปพร้อม ๆ กัน สมองจะให้ความสำคัญกับการคุยโทรศัพท์มากกว่า จึงสั่งการไปที่ปากมากกว่ากล้ามเนื้อลำตัว ทำให้เสี่ยงต่อการปวดหลังได้มากขึ้น
นอกจากการคุยโทรศัพท์แล้ว คนที่เดินคุยกับคนอื่นก็เสี่ยงต่อการปวดหลังเช่นกัน แต่คนที่คุยโทรศัพท์มีโอกาสเสี่ยงมากกว่า เพราะมักใช้เวลาเดินคุยนานกว่า และนอกจากเดินโทรศัพท์นาน ๆ ทำให้ปวดหลัง นักวิจัยยังพบอีกว่า การถือโทรศัพท์แนบหูนาน ๆ ก็ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เพราะมันจะเพิ่มอาการแน่นตึงบริเวณไหล่และทำให้เกิดความเจ็บปวดขึ้นมาได้
TALK นาน ๆ ระวังหลับสะดุ้ง
ปกติการนอนของคนเราจะแบ่งเป็นขั้น ๆ โดยเริ่มหลับจากการหลับตื้น ๆ 1, 2, 3, 4 ไปสู่การหลับระดับลึก และเปลี่ยนขั้นจากหลับลึกเป็นหลับตื้น 4, 3, 2, 1 อย่างนี้หลายรอบ แต่ละรอบใช้เวลาประมาณ 90 นาที ขั้นที่เรียกว่าหลับตื้นคือ "ขั้นที่ 1-2" ขั้นที่เรียกว่าหลับลึกคือ "ขั้น 3-4" ซึ่งเป็นการนอนหลับที่ทำให้ร่างกายพักผ่อน สร้างและซ่อมแซมส่วนสึกหรอได้ดี
แต่คณะนักวิจัยจากสถาบันคาโรลินสกาสวีเดน และมหาวิทยาลัยเวย์น สหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาพบว่า คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินมีความเสี่ยงที่จะนอนระยะลึก (Deeper Stages) ได้ช้าลง และสั้นลง ทำให้ร่างกายพักผ่อนได้น้อยลง และการใช้โทรศัพท์ช่วงกลางคืนยังมีส่วนกระตุ้นระบบประสาทมากเกินทำให้ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) หรือฮอร์โมนแห่งการพักผ่อนนอนหลับถูกรบกวน
วิธีลดความเสี่ยงที่สำคัญคือ ให้ใช้โทรศัพท์ช่วงกลางคืนให้น้อยลง โดยเฉพาะช่วงก่อนนอน 1-4 ชั่วโมง
ต่อ ติด โรคอันตราย
การคุยโทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้ติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะความร้อนจากโทรศัพท์จะเข้าไปอยู่ในหู ทำให้เกิดอาการคัน ซึ่งเมื่อเกิดอาการแล้วตัวเรายังคงแคะ หรือเกาก็จะทำให้ผิวหนังเป็นแผล เชื้อโรคต่าง ๆ จึงสามารถเข้าสู่แผลได้ง่ายขึ้น ทำให้ช่องหูเป็นสิวหรืออักเสบ นอกจากนี้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์ยังเป็นตัวการทำลายเส้นประสาทในรูหู และเซลล์สมองทำให้เป็นเนื้องอกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การศึกษายังพบว่าผลเสียของโทรศัพท์มือถืออาจมาจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงคลื่นวิทยุโดยตรง ซึ่งคุณสามารถลดความเสี่ยงได้ โดยการใช้โทรศัพท์ให้น้อยลง ใช้เครื่องต่อ "สมอลล์ทอล์ค" (Small Talk) เพราะจะช่วยป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
หูพัง เพราะหูฟัง
การใช้หูฟังฟังเพลงติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความดันของคลื่นเสียง ซึ่งจะทำลายเซลล์ประสาทหูและเซลล์ขนในหู และถ้าได้ยินเสียงเหมือนแมงหวี่ร้อง หรือเสียงวิทยุจูนผิดคลื่นตลอดเวลา แสดงว่าเริ่มมีอาการประสาทรับเสียงเสื่อม ควรรีบปรึกษาแพทย์
นอกจากนี้ หูฟังที่ใช้ฟังเพลง ยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรค ซึ่งจะทำให้เป็นโรคหนองในหู และการอักเสบในช่องหูได้ ควรทำความสะอาดด้วยการนำสำลีจุ่มแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือวันละ 2 ครั้ง เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค
ฟัง MP3 กับมือถือคู่ใจอย่างไรไม่เสี่ยงโรคหู
เลือกฟังเพลงในช่วงเวลาที่ต้องการเท่านั้น เพื่อเป็นการช่วยหยุดพักการทำงานของหู
เปิดเสียงในเครื่องเล่นเอ็มพี 3ให้มีระดับความดังเพียงแค่ครึ่งเดียวของระดับเสียงที่เครื่องมีอยู่
หลีกเลี่ยงการใช้หูฟังร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจจะทำให้ติดเชื้อโรคได้
ควรเปลี่ยนฟองน้ำและทำความสะอาดหูฟังเป็นประจำ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก