นกเขาขันฟื้นได้อย่างไร (กรุงเทพธุรกิจ)
ข้อมูลจาก นพ.ไพโรจน์ อภัยบัณฑิตกุล ศัลยแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลปิยะเวท
การไม่ยอมแข็งตัวของอวัยวะเพศ หรือแข็งตัวได้ไม่นานพอ เป็นปัญหาโลกแตกของสุภาพบุรุษ ที่พบมากถึง 30% ศัลยแพทย์เผยถึงหนทางรักษาในหลากรูปแบบ
การไม่ยอมแข็งตัวของอวัยวะเพศ หรือแข็งตัวได้ไม่นานพอซึ่งเป็นปัญหาที่พบมากถึง 30 % ในหนุ่มไทย ชายที่อายุ 40 ปีขึ้นไปที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัว โดยมีถึงสองในสามที่มีปัญหาในระดับปานกลางถึงรุนแรง มีผู้กำลังเผชิญกับโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มากกว่า 3 ล้านคน
นพ.ไพโรจน์ อภัยบัณฑิตกุล ศัลยแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่าการที่อวัยวะเพศชายจะแข็งตัวขึ้นได้นั้น ต้องมีหลายระบบทำงานร่วมประสานกัน
เริ่มจากการมีสิ่งเร้ามากระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศก่อน แล้วสมองก็จะส่งสัญญานไปยังอวัยวะเพศผ่านทางระบบประสาท ทำให้มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อควบคุมการไหลเวียนของเลือดเข้าอวัยวะเพศชาย ในขณะเดียวกันหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศจะขยายตัวขึ้นเป็นสองเท่า ทำให้เลือดไหลมาคั่งอยู่ภายในอวัยวะเพศ และเลือดก็ถูกกักไว้โดยเนื้อเยื่อรอบ ๆ เป็นผลให้มีการแข็งตัวของอวัยวะเพศ
ถ้ามีอะไรก็ตามที่มาขัดขวางขบวนการเหล่านี้ จะส่งผลให้เกิดการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศทั้งสิ้น
ตั้งแต่โรคของร่างกาย โรคของจิตใจ หรือแม้แต่ผลจากยาบางชนิด หมอจึงต้องถามประวัติทางการแพทย์อย่างละเอียด โดยเฉพาะประวัติส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์คำถามจะเจาะลึกมาก อาจจะต้องพาภรรยามาด้วย เพื่อช่วยตอบเพื่อให้ได้รายละเอียดมาก และแม่นยำที่สุด
พ้นจากการซักถามประวัติ หมอจะตรวจร่างกาย โดยจะมีการตรวจอวัยวะเพศ และตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก มีการเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ และอุจจาระหรืออาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมอย่างอื่นเพื่อค้นหาสาเหตุเป็น พิเศษเฉพาะรายไป
ผลจากการสำรวจชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไปที่มีปัญหา(ED) การไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บ ได้แก่ โรคเบาหวาน-Diabetes มีโอกาสเกิด (ED) 70-75% โรคเบาหวานร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง Hypertension มีโอกาสเกิด (ED) 80-85% โรคเบาหวานร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ Cardiovascular disease มีโอกาสเกิด (ED) 95-100%
ถ้าหากตรวจพบว่าถ้าป่วยเป็นโรคทางกาย หมอจะรักษาโรคที่นั้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี การดื่มเหล้ามากเกินไป การกินยาลดความดันบางชนิด ซึ่งเมื่อหมอได้แก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว ปัญหาเรื่องการแข็งตัวน่าจะหมดไป
แต่ถ้ายังไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป แล้วการดำเนินการขั้นต่อไปจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ว่าวิธีใดเหมาะสม จะใช้ยาหรือวิธีการบำบัดต่าง ๆ การใช้ยา อาจจะจำเป็นในบางราย และไม่ควรจะวินิจฉัยตัวเอง และซื้อยามาใช้เอง เช่น ฮอร์โมน
มีการใช้ฮอร์โมนเพศเสริมในผู้ที่พบว่า ปัญหานี้เกิดจากระดับฮอร์โมนเพศชายที่ต่ำเกินไป หรืออาจใช้อุปกรณ์สูญญากาศ เป็นท่อพลาสติกสำหรับใช้สวมอวัยวะเพศที่อ่อนตัว แล้วค่อย ๆ ดูดลมออกทำให้ภายในท่อเป็นสูญญากาศ ส่งผลให้มีเลือดไหลมายังอวัยวะเพศมากขึ้น จนอวัยวะเพศแข็งตัว เมื่อแข็งได้ที่แล้วก็ใช้ห่วงยางรัดไว้ที่โคนของอวัยวะเพศไม่ให้เลือดไหลออก แล้วถอดท่อพลาสติกออกก็เป็นอันพร้อมใช้การได้ทันทีอวัยวะเพศแบบฝัง
ถ้าวิธีข้างต้นไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ การฝังอวัยวะเพศเทียมก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งแก้ปัญหาได้ แต่รายละเอียดเจาะลึก คงต้องไปคุยกับศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะศัลยกรรม หลอดเลือด การผ่าตัดแก้ไขปัญหาของหลอดเลือดดำ และหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงอวัยวะเพศ อย่างน้อยก็จะได้ผ่อนคลายความกังวล หรืออาจเป็นการแนะนำให้ผู้ป่วยฝึกอะไรบางอย่างซึ่งจะช่วยให้ร่วมรักได้นานขึ้น
โรคทุกชนิด ไม่ว่าเฉียบพลัน หรือเรื้อรังจะทำให้ความต้องการทางเพศลดลงได้ ไม่ว่าจะเป็นเพียงไข้หวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงการป่วยหนัก ๆ เช่น เป็นโรคหัวใจหรือมะเร็ง
ในทางกลับกัน ถ้าร่างกายแข็งแรงขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการออกกำลังและกินอาหารอย่างเหมาะสม ตลอดจนกินยา อย่างถูกต้องตามเวลา (ในกรณีที่มีโรคประจำตัว) ย่อมจะมีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น ฤทธิ์ของยา ไม่ว่าจะเป็นยาลดความดัน ยาคลายเครียด ยารักษาภาวะซึมเศร้า ล้วนแต่ลดความต้องการ ความเครียด ไม่ว่าจะมาจากเรื่องใด เรื่องแฟน เรื่องงาน เรื่องครอบครัว หรือเรื่องเศรษฐกิจ ก็ล้วนแต่ลดความต้องการทางเพศลงได้ทั้งสิ้น
และเมื่อสามารถแก้ปัญหาที่มากวนใจเหล่านี้ได้ ความต้องการทางเพศก็จะกลับมาดีเหมือนเดิม
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ