ใส่ใจการกินสักนิด พิชิตมะเร็งเต้านม (สสส.)
เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th
เดือนตุลาคมของทุกปี ทั่วโลกถือให้เป็นเดือนแห่งการรณรงค์มะเร็งเต้านม และวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา ยังเป็นวันรณรงค์ต่อต้านและช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (Metastatic Breast Cancer Awareness Day) โดยองค์กรด้านมะเร็งต้องการให้ประชากรทั่วโลก หันมาดูแล เอาใจใส่สุขภาพเต้านมของตนเองให้มากขึ้น
"เมื่อเป็นมะเร็งเต้านม มักจะมีการให้ยาเคมีบำบัด หรือที่เรียกกันว่า ยาคีโม ซึ่งเป็นวิธีรักษาทางการแพทย์ ที่ไม่ให้เกิดโรคซ้ำขึ้นอีก แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรปฏิบัติหลังจากได้รับการรักษาแล้วคือ การดูแลสุขภาพด้านโภชนาการอย่างเหมาะสม" อ.แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการบำบัดและผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนวิถีการกินสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม
อ.แววตา ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การกินอาหารมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะป้องกันไม่ให้มะเร็งเต้านมเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งเราสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มจากการรักษาน้ำหนักตัวให้สัมพันธ์กับส่วนสูง ไม่อ้วนหรือผอมไป ควรหลีกเลี่ยงการกินขนมหวานและน้ำตาล โดย 1 วัน ควรกินไม่เกิน 4-6 ช้อนชา และควรเป็นน้ำตาลที่ไม่ขัดสี
ถ้ากินน้ำตาลมาก ๆ จะส่งผลให้ไขมันชนิดที่เรียกว่า ไตรกลีเซอไรด์เพิ่มสูงขึ้น และทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล หรือ ไขมันไม่ดี (LDL cholesterol) ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น คอเลสเตอรอลชนิดเอชดีแอล หรือ ไขมันดี (HDL cholesterol) ก็จะลดน้อยลง
ไขมันดี / ไม่ดี อยู่ที่ไหน ?
อ.แววตา อธิบายว่า คอเลสเตอรอลเป็นไขมันที่มีทั้งไขมันดี (HDL cholesterol) ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมได้ และไขมันไม่ดี (LDL cholesterol) ถ้ามีมากก็เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม และยังเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันอีกด้วย
ผู้ป่วยควรเลือกกินอาหารที่มีกรดไขมันดี และไม่อิ่มตัว เป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน และควรกินอาหารที่ให้คุณสมบัติเหมือนไขมันทดแทนบ้าง เช่น เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ อะโวคาโด เม็ดมะม่วงหิมพานต์
แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภททอดนอกบ้าน เพราะส่วนใหญ่ใช้น้ำมันปาล์ม น้ำมันทอดซ้ำ และน้ำมันที่ได้จากสัตว์ อย่างน้ำมันหมู ซึ่งมีไขมันไม่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้
"ไม่กินไขมันเลยได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะมีวิตามินบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันมะเร็ง อย่างเช่น วิตามินบี เอ ซี ซึ่งวิตามินเหล่านี้ต้องการไขมันในการดูดซึม แต่ควรกินไขมันในปริมาณน้อย ๆ นั่นคือ ตลอดทั้งวันควรบริโภคไขมันไม่เกิน 30% ของความต้องการร่างกายทั้งหมด" อ.แววตา เสริม
โภชนาการ กับ มะเร็งเต้านม
นักโภชนาการบำบัดคนเก่ง แนะนำว่า ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมควรกินผักผลไม้หลากสี อย่างน้อยวันละ 200-300 กรัม และธัญพืชไม่ขัดสี อย่างน้อยวันละ 1 มื้อ เพราะธัญพืชไม่ขัดสี มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากทั้งโปรตีน วิตามินบี ไฟเบอร์ เกลือแร่ต่าง ๆ รวมทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระด้วย ส่วนอาหารที่มีโปรตีนก็มีความจำเป็นไม่น้อยเหมือนกัน โปรตีนที่มีไขมันน้อย เช่น ไข่ขาว เนื้อปลาต่าง ๆ อกไก่ไม่มีหนัง ไข่แดง ไม่ควรเกิน 3 ฟองต่อสัปดาห์
ส่วนอาหารหมักดอง อาหารปิ้ง ย่าง รมควันต่าง ๆ เนื้อสัตว์ หรือโปรตีนที่มีไขมันและคอเรสเตอรอลสูง อย่างเช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำหวาน น้ำอัดลม เป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ส่วนน้ำผลไม้ ดื่มได้แต่ต้องไม่แยกกาก นมวัวควรเลือกชนิดพร่องไขมัน และดื่มไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน
"อาหารอีกหนึ่งชนิดที่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมควรหลีกเลี่ยงคือ ถั่วเหลือง หรืออาหารที่มีส่วนผสมของถั่วเหลือง เนื่องจากมีสารเคมีที่เรียกว่า "ไอโซฟลาโวน" ที่มีมากในถั่วเหลือง หรือเรียกได้ว่าเป็น "เอสโตรเจน" ธรรมชาติ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านยารักษามะเร็งเต้านม และอาจจะกระตุ้นทำให้เกิดโรคซ้ำได้" นักโภชนาการบำบัดคนเก่ง บอกเพิ่มเติม
นอกจากนี้ อ.แววตา ยังแนะนำเมนูอาหารสำหรับผู้เป็นมะเร็งเต้านมซึ่งประกอบด้วย ข้าวซ้อมมือ ผัดผักรวมมิตร ที่มีผักคะน้า แครอท เห็ด ปลาช่อนย่าง หรือน้ำพริกปลาช่อน ปลาทะเลนึ่งซีอิ๊ว ยำไข่ขาวต้ม ผัดฟักทองไข่ขาว และแกงเลียงผักรวม ส่วนผลไม้กินได้ทั้ง กล้วย แตงโม มะละกอ มะม่วง ส้ม เพราะมีวิตามินเอสูง
ออกกำลังกาย คลายเครียด สำคัญไม่แพ้กัน
"คนเป็นมะเร็งเต้านมต้องควบคุมน้ำหนัก ต้องเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี เพราะเป็นปัจจัยที่ลดการเกิดซ้ำของมะเร็งได้ โดยผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป จึงแนะนำให้ออกกำลังกายด้วยการเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเอ็กเซอร์ไซส์ (Aerobics Exercise) ที่ช่วยให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก และเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายผลิตไขมันดีเพิ่มขึ้นด้วย" อ.แววตา แนะนำ
อ.แววตา ทิ้งท้ายเพิ่มเติมอีกว่า ด้านสุขภาพจิต และความเครียดมีความสำคัญไม่น้อย เพราะความเครียดทำให้คอเรสเตอรอลชนิดไม่ดีสูงขึ้น เมื่อใดก็ตามที่เราหดหู่ จะทำให้กินอะไรไม่ลง สุขภาพก็จะทรุดโทรม คนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญ ควรให้กำลังใจ เมื่อผู้ป่วยได้รับกำลังใจที่ดี เขาก็จะรู้จักดูแลตัวเองให้ดี รู้สึกรักและเห็นคุณค่าของตัวเอง
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก