x close

9 เหตุผลลึก ๆ ที่ทำให้คุณกินจุได้อย่างไม่น่าเชื่อ !

          ก็ถึงว่าทำไมกินจุได้เบอร์นี้ ไม่อิ่มสักที มันเป็นเพราะแบบนี้นี่เอง...รู้แล้วรีบแก้เลย



           บ่อยครั้งก็เคยสงสัยพฤติกรรมการกินของตัวเองอยู่ในใจเหมือนกัน ว่าบางวันทำไมรู้สึกอยากกินนั่นกินนี่ ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอสักที แถมบางทีก็รู้สึกอิ่มตื้อแล้ว แต่ความอยากก็ยังไม่หมดไปง่าย ๆ ชนิดที่เรียกว่ากินได้ทั้งวันไม่หยุดปากเลยล่ะ ถ้าสาว ๆ เองก็มีอาการคล้ายอย่างนี้เช่นกัน ก็ลองมาดูกันดีกว่าว่า เหตุผลลึก ๆ ที่เปลี่ยนให้เราเป็นคนกินเก่งขนาดนี้มีอะไรบ้าง ซึ่งตามที่ เว็บไซต์ฮัฟฟิงตันโพสต์ เขาบอกมา ก็เป็นเหตุผลตัวการทั้ง 9 ข้อนี้เลย

9 เหตุผลลึก ๆ ที่ทำให้คุณกินจุได้อย่างไม่น่าเชื่อ !

 1. นอนน้อย
           
          ตัวการที่ทำให้เราตื่นขึ้นมาพร้อมกับความหิวโหย จนท้องส่งเสียงประท้วงดังโครกครากไม่ใช่อะไรที่ไหน แต่เป็นการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอของเราเอง โดยเหตุผลทางการแพทย์ก็อธิบายว่า ทุกครั้งที่เราไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเกรลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สามารถกระตุ้นความหิวของเราให้เพิ่มขึ้น อีกทั้งการที่ร่างกายรู้สึกอยากกินของหวาน ๆ หรืออาหารประเภทแป้งก็เพราะว่า ร่างกายที่อ่อนเพลีย ต้องการพลังงานจากอาหารประเภทนี้ไปกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้น ดังนั้นคนที่นอนน้อยเป็นประจำก็เลยมีโอกาสเป็นโรคอ้วนสูงนั่นเอง
 
 2. กินอาหารเยอะจัดมาก่อน
           
          เมื่อวันก่อนไปกินบุฟเฟ่ต์กับเพื่อนมาซะเต็มคราบ แต่วันนี้ก็ยังรู้สึกหิวบ่อยแบบแปลก ๆ อยู่ดี นั่นก็เป็นเพราะว่า ระดับน้ำตาลในร่างกายเกิดความปรวนแปรชั่วคราว โดยเฉพาะกับคนที่จัดหนักอาหารประเภทแป้งมาก่อน ระดับร่างกายจะปรวนแปรหนักจนสมองเข้าใจไปเองว่าท้องคุณไม่อิ่ม ก็เลยเรียกร้องอาหารแบบไม่หยุดหย่อนเลยล่ะจ้า
 
 3. หิวมากก่อนประจำเดือนจะมา
           
PMS

          ผู้หญิงทุกคนรู้ดีว่า ก่อนจะเป็นวันนั้นของเดือน ร่างกายเราจะส่งสัญญาณมาเตือนด้วยอาการปวดหลัง เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว หงุดหงิด และที่สำคัญ กินจุมาก ๆ อีกต่างหาก ซึ่งเหตุผลทางการแพทย์ก็อธิบายเอาไว้ว่า ก่อนที่ประจำเดือนจะมา ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนออกมาเยอะกว่าปกติ และเจ้าฮอร์โมนตัวนี้ก็มาพร้อมกับอาการ PMS ต่าง ๆ และเมื่ออารมณ์ของเราปรวนแปร ก็เป็นไปได้สูงว่าจะคลายความหงุดหงิดด้วยการหาของอร่อยมากิน กิน กิน จริงไหมล่ะ
 
 4. เลี่ยงมื้อเช้า หรือกินไม่ถูก
           
          มื้อเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด เพราะจะช่วยเติมพลังงานให้เรามีแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปได้จนถึงเที่ยงวัน และสารอาหารที่ร่างกายควรจะได้รับในมื้อแรกของวัน ก็ควรจะเน้นเป็นโปรตีนหลัก ๆ ไฟเบอร์ และไขมันได้เล็กน้อย เนื่องจากโปรตีนจะอยู่ท้องเราได้มากกว่า ช่วยให้เราหิวได้ช้าลง มื้อกลางวันจะได้กินได้น้อยลงด้วย แต่ถ้าคุณเลี่ยงมื้อเช้าขึ้นมาเมื่อไร หรือกินแค่ผลไม้ นม กาแฟ หรือน้ำผลไม้แก้วเดียว ร่างกายจะต้องการพลังงานเพิ่มอีก 300-400 กิโลแคลอรี ซึ่งก็ไม่ต้องเดาเลยว่าตลอดทั้งวันจะนึกอยากกินจุบกินจิบมากแค่ไหน
 
 5. ผลข้างเคียงจากยาที่กินเป็นประจำ
          
          แพทย์ได้บอกว่า ยาเกือบทุกชนิดตั้งแต่ยารักษาโรคข้ออักเสบ ไปจนถึงยาแก้แพ้ จะมีผลข้างเคียงในเรื่องกระตุ้นความหิวของร่างกายเราเกือบทั้งนั้น เหตุผลนี้จึงทำให้คุณต้องหาอาหารมาตอบสนองอาการหิวของตัวเองอยู่ตลอด โดยเฉพาะคนที่ต้องกินยาเป็นประจำ อาการหิวบ่อยก็จะอยู่คู่กับคุณตลอดไป แต่สำหรับคนที่กินยารักษาอาการป่วยแค่ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหยุดรับประทานยา พฤติกรรมการรับประทานอาหารก็จะกลับมาเป็นปกติ

 6. ดื่มเครื่องดื่มไดเอต หรือปราศจากน้ำตาล
           

เครื่องดื่มไดเอต

          เครื่องดื่มไดเอต ที่ไม่มีน้ำตาล แต่ใส่สารให้ความหวานแทนน้ำตาล จะเข้าไปสั่งการสมองให้รู้ว่า แคลอรีอยู่ในการควบคุมของเจ้าเครื่องดื่มไดเอตนะ ฉะนั้นสมองก็เลยเข้าใจไปว่า ขณะนี้ร่างกายไม่ได้รับแคลอรีที่เพียงพอ จึงสั่งการให้เราเกิดความหิว เพื่อที่จะได้รับประทานอาหารเพิ่มแคลอรีเข้าไปนั่นเอง
 
 7. กระหายน้ำจนคอแห้ง
           
          หลายครั้งร่างกายก็ไม่ได้รู้สึกหิวเท่าไร แต่รู้สึกคอแห้งจนกระทั่งเกิดความรู้สึกกระหายน้ำมากกว่า เราก็จะคิดไปเองว่าตอนนี้เราหิว และต้องการหาอะไรกินให้ชุ่มคอ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ชี้แจงว่า อาการกระหายน้ำ ก็คล้าย ๆ กับการที่ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งก็หมายความว่า เมื่อร่างกายเกิดความกระหายมาก ๆ ก็จะดึงแคลอรีที่เหลืออยู่ในร่างกายมาหล่อเลี้ยงแทน และทันทีที่เราถูกดึงพลังงานไปใช้ ร่างกายก็จะต้องการอาหารเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานให้ร่างกายนำไปใช้ต่อไป
 
 8. รู้สึกเบื่อ
           
          เมื่อเรารู้สึกเบื่อหน่าย สมองก็จะสั่งการให้ร่างกายหลั่งสารโดพามีน (dopamine) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นอารมณ์ ความรู้สึก ที่มีส่วนให้ร่างกายเกิดความเคยชินว่า การรับประทานอาหารคือความสุขอย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกเบื่อ ๆ เครียด ๆ เจ้าโดพามีนก็จะทำหน้าที่กระตุ้นความหิวกระหาย ทำให้เราต้องหาของอร่อย ๆ มากินแก้เบื่อ แต่ถ้าไม่อยากน้ำหนักตัวเพิ่ม ก็หากิจกรรมสร้างสรรค์อย่างอื่น เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือที่น่าสนใจทำแทนก็ได้นะ

 9. ความเครียด
          
ปวดหัว

          ความเครียดก็ไม่ต่างอะไรกับความรู้สึกเบื่อ ที่เมื่อเกิดความรู้สึกทั้งสองอย่างนี้ขึ้นมาเมื่อไร ร่างกายก็เหมือนจะรู้สึกหิว หรืออยากกินของอร่อย ๆ และอาหารหวานมากขึ้นเมื่อนั้น ก็เลยทำให้เราเกิดความรู้สึกหิวโหยอยู่บ่อย ๆ ฉะนั้นอย่าปล่อยให้ตัวเองเครียดกันดีกว่าเนอะ ที่สำคัญนอกจากความเครียดจะพาให้หน้าแก่แล้ว ยังทำให้เราเสี่ยงมีหุ่นที่อวบอ้วนอีกต่างหาก
 
          เป็นยังไงกันบ้างคะ ได้รู้สาเหตุที่กระตุ้นความอยากอาหารของเรากันไปแล้ว ตรงกับสิ่งที่คาด ๆ ไว้กันบ้างหรือเปล่า แต่ไม่ว่าจะหิวแค่ไหน ถ้าเราเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ แทนอาหารประเภทแป้งขัดสี ไขมัน น้ำตาล หรือของพาให้อ้วนทั้งหลาย น้ำหนักก็คงขึ้นไม่ได้ง่าย ๆ หุ่นเราก็น่าจะเป๊ะเหมือนเดิมด้วยเนอะ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 เหตุผลลึก ๆ ที่ทำให้คุณกินจุได้อย่างไม่น่าเชื่อ ! อัปเดตล่าสุด 2 กันยายน 2563 เวลา 11:58:38 71,616 อ่าน
TOP