อย. เฝ้าระวัง เก็บตรวจขนมเด็กทันที หลังมีข่าวลือผสมยาบ้า (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
แชร์ว่อนเน็ต ขนมเด็กชื่อ สตอเบอรี่ควิก วางขายตามโรงเรียนผสมยาบ้า ล่าสุด อย. เก็บตัวอย่างตรวจแล้วไม่พบสารเสพติด ขอประชาชนอย่าตื่น แนะผู้ปกครองดูแลบุตรหลานใกล้ชิด สอนลูกหลานอย่าซื้อขนมสีฉูดฉาด
จากกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ และการเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์ เรื่อง ยาเสพติด (เมล็ดกลมสีชมพูที่ระเบิดในปาก) ในโรงเรียน เตือนให้พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก ๆ ระวังยาเสพติดรูปแบบใหม่ที่มาในลักษณะขนม รู้จักกันในชื่อ "สตอเบอรี่ควิก" มีลักษณะเป็นก้อนใส ๆ ขนาดเล็ก เมื่อใส่ปากจะส่งเสียงซ่าและค่อย ๆ ระเบิด มีกลิ่นเหมือนสตรอว์เบอร์รี และอาจพบในกลิ่นช็อกโกแล็ต เนยถั่ว โคล่า เชอรี่ องุ่น ส้ม ซึ่งจะแจกให้เด็ก ๆ ตามโรงเรียน และเมื่อเด็ก ๆ รับประทานเข้าไปจะถูกนำส่งโรงพยาบาลในสภาพที่น่ากลัวนั้น
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า หลังทราบข่าว ดังกล่าว อย. มิได้นิ่งนอนใจ ได้ให้เจ้าหน้าที่รีบตรวจสอบเฝ้าระวัง และได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะดังกล่าว โดยตรวจสอบด้วยชุดทดสอบเบื้องต้นหาสารเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน โคเดอีน และเฮโรอีน ซึ่งผลการตรวจสอบปรากฏว่า ไม่พบสารเสพติดดังกล่าวในผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด จึงขอให้ผู้บริโภคที่ทราบข่าวลือนี้ อย่าได้ตื่นตระหนก
อย่างไรก็ตาม อย. จะส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ ส่วนประกอบ เช่น สีที่ใช้ในการผสมอาหาร วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่างละเอียดต่อไป อีกทั้ง อย. จะได้ ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยในการ บริโภค
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขนมลักษณะดังกล่าวเป็นอาหารประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมในกลุ่ม เด็ก ๆ และวัยรุ่นเป็นอย่างมาก ผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้คำแนะนำและให้ความรู้แก่บุตรหลานเกี่ยวกับการบริโภคขนมหวานรวมถึงลูกอมอย่างถูกต้อง เพราะการบริโภคมาก ๆ อาจทำให้ฟันผุ หรือได้รับน้ำตาลมากเกินไป อาจทำให้เป็นโรคอ้วน และไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว
นอกจากนี้ควรตักเตือนบุตรหลานของท่าน อย่าได้ซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ขนม หรือลูกอม ที่มีสีสันฉูดฉาด เนื่องจากสีที่ผสมลงในอาหาร อาจเป็นสีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และถ้าสะสมในร่างกาย มากขึ้นอาจทำให้เกิดอาการพิษจากโลหะหนัก เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก
ทั้งนี้ อย. ก็ขอแนะนำให้พิจารณาฉลากให้ถี่ถ้วนก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารใด ๆ โดยฉลากต้องมีข้อความภาษาไทยที่แสดงรายละเอียดครบถ้วน เช่น ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า น้ำหนัก สุทธิ ส่วนประกอบสำคัญ วันเดือนปีที่ผลิต และ/หรือวันเดือนปีที่หมดอายุ เป็นต้น รวมทั้งควรสังเกตภาชนะบรรจุจะต้องสะอาด ไม่มีรอยฉีกขาด ถ้าเป็นพลาสติก ส่วนที่สัมผัสกับขนมจะต้องไม่มีสี
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ขนมรวมถึงลูกอมปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อย่าใส่สีหรือสารอันตรายใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายลงในผลิตภัณฑ์เป็นอันขาด มิฉะนั้นจะได้รับโทษตามกฎหมาย อาทิ กรณีการใช้สีสังเคราะห์ในอาหารไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 281) พ.ศ. 2547 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท กรณีตรวจพบสิ่งที่น่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เข้าข่ายเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม อย. จะดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวังเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาตรวจ วิเคราะห์คุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขอให้ผู้บริโภคช่วยเป็นหูเป็นตาแทน อย. หากพบการผลิต หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่คาดว่าผิดกฎหมาย ขอได้โปรดแจ้งร้องเรียนมายัง อย. ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล 1556@fda.moph.go.th หรือส่งจดหมายไปที่ ตู้ ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004
นอกจากนี้ ยังสามารถเดินทางมาร้องเรียนด้วยตัวเองพร้อมตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาที่ ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สุขภาพ อย. อาคาร 1 ชั้น 1 ได้ทุกวันในเวลาราชการ เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด อีกทั้งเพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก