ปรับวิถีชีวิตสมดุล ห่างไกลโรคไม่ติดต่อ


เคล็ดลับสุขภาพ


ปรับวิถีชีวิตสมดุล ห่างไกลโรคไม่ติดต่อ (สสส.)
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th

          เมื่อการดำรงชีวิตของประชากรโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ย่อมต้องส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ประชากรทั่วโลกเจ็บป่วยด้วย "โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง"

          ล่าสุด ข้อมูลองค์การอนามัยโลก เผยว่าประชาชนทั่วโลกมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อมากถึงปีละ 36 ล้านคน คิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตทั้งหมด
         
          ทั้งนี้ นายแพทย์วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้จัดการแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ ให้ข้อมูลว่า โรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases) หรือ NCDs คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติหรือความเสื่อมโทรมของร่างกายและจิตใจ ไม่สามารถที่จะติดต่อไปหาบุคคลอื่นได้ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคความดันเลือดต่าง ๆ เป็นต้น

          "หลาย ๆ ประเทศให้ความสำคัญของโรคไม่ติดต่อเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่รวมถึงประเทศที่กำลังพัฒนาจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยโรคติดต่อลดลงเหลือเพียง 3 โรคใหญ่ คือ โรคเอดส์ วัณโรค และไข้เลือดออก แต่โรคไม่ติดต่อกำลังมีบทบาทในการเป็นภัยต่อสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง"

          สำหรับกลุ่มเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ วัยทำงาน เพราะมีความเครียด ขาดการออกกำลังกาย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง แต่ปัจจุบันวัยเด็กเริ่มเป็นอีกวัยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เด็กไทยมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนมากขึ้น และเด็กที่อ้วนเมื่อเติบโตก็จะเป็นคนอ้วน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เบาหวาน ซึ่งขณะนี้เด็กไทยที่เป็นโรคเบาหวานก็มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ

          "โรคไม่ติดต่อ เกิดจากพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ไม่ถูกต้อง และอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งไม่มีการติดต่อและแพร่กระจายของโรคแต่สามารถป้องกันได้ หากรู้เข้าใจ และปฏิบัติตนในการดูแลสุขภาพได้ถูกต้องเพราะจะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การเกิดโรคได้"


ออกกำลังกาย


          การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคไม่ติดต่อ ผู้จัดการแผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ บอกว่า ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ด้วยการมีวิถีชีวิตที่สมดุล ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนี้
         
          1. เลือกกินอาหารอย่างมีสติ รับประทานอาหารในปริมาณที่พออิ่ม เลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ ปรุงรสชาติหวานและเค็มน้อย โดยวันหนึ่งควรรับประทานผักและผลไม้ที่รสไม่หวาน เมื่อซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีฉลากโภชนาการ ควรเลือกที่มีปริมาณเกลือ และน้ำตาลต่ำ
        
          2. ออกกำลังกายให้สมดุลกับปริมาณอาหารที่เรารับประทานในแต่ละวัน ในวันหนึ่งควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที ถ้าไม่มีเวลาออกกำลังกายได้นานในแต่ละครั้ง ก็ใช้การออกกำลังกายสะสม เช่น ช่วงเช้าออกกำลังกายได้ 10 นาที ช่วงเย็นออกเพิ่มอีกสัก 20 นาที
        
          3. สำหรับคนทำงาน ควรหาเวลาว่างลุกเดินหรือออกกายบริหาร เช่น บริหารคอ แขน ขา พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ เดินขึ้นบันได 1-2 ชั้นแทนการขึ้นลิฟต์
         
          4. ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคซึ่งบุหรี่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด เกิดจากสารนิโคตินในบุหรี่ ซึ่งเป็นสารที่มีพิษ และอันตรายทำให้หัวใจ หลอดเลือด ส่วนเหล้าก่อให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งเต้านมในผู้หญิง และมะเร็งรังไข่ ซึ่งในผู้ชายส่วนใหญ่ที่เป็นนักดื่มมักป่วยเป็นมะเร็งตับ
         
          5. ด้านจิตใจ ควรทำจิตใจให้แจ่มใส กรณีเครียดจากการทำงาน ให้หาทางผ่อนคลาย เช่น เมื่อทำงานที่ต้องใช้สายตานาน ๆ ให้หลับตาสักครู่ หรือมองสำรวจสิ่งรอบ ๆ ตัว โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียว อาจฟังเพลง นั่งสมาธิ หรือหาที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ในการระบายความเครียด หรือหาทางออกในการแก้ปัญหา อย่าปล่อยให้เกิดความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานาน สร้างเสริมชีวิตครอบครัวให้มีความสุขเพราะการมีครอบครัวดีมีความอบอุ่น เป็นการรักษาสุขภาพจิตเบื้องต้น
       

สุขภาพจิต

 
          นอกจากนี้ นพ.วิชช์ ย้ำว่า การมีวิถีชีวิตที่รีบเร่ง ประกอบกับมีการออกกำลังกายน้อยลง แต่มีความเครียดเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังซึ่งเป็นโรคที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น

          "การรักษาพยาบาลถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใส่ใจสุขภาพ รู้จักการกินให้ถูก รู้จักออกกำลังกายให้เหมาะสม และรู้จักสร้างเสริมสุขภาพจิตให้ดี เพราะร่างกายของเราไม่มีใครดูแลได้ดีไปกว่าตนเองแน่นอน"

          การมีวิถีชีวิตที่สมดุลวิถี เป็นหนทางสู่สุขภาพดี ฉะนั้นการหันมาใส่ใจในวิถีชีวิต โดยปรับให้เกิดความสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ย่อมช่วยให้ "ตัวเรา" ห่างไกล "โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง" ได้เป็นแน่
 
 

 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก


 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปรับวิถีชีวิตสมดุล ห่างไกลโรคไม่ติดต่อ อัปเดตล่าสุด 20 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 17:03:08 3,517 อ่าน
TOP
x close