เชื้ออีโบลา ระบาดหนักทวีปแอฟริกาไม่ใช่ครั้งแรก ตามไปย้อนรอยข้อมูลการระบาดของไวรัสอีโบลาในอดีต
ข่าวเชื้ออีโบลา ไวรัสมรณะกำลังระบาดในหลายประเทศของทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันตก ได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เพราะอีโบลาเป็นโรคร้ายที่ยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน เมื่อเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 80-90% โดยจากข้อมูลวันที่ 1 สิงหาคม 2557 โรคมรณะนี้ได้คร่าชีวิตคนทั่วโลกไปแล้วกว่า 700 คน และยังมีผู้ป่วยอีกนับพันคน
อย่างไรก็ตาม การระบาดของเชื้ออีโบลาครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้มีรายงานการระบาดปรากฏขึ้นแล้วในอดีต โดยการระบาดครั้งสำคัญ ๆ ที่ผ่านมามีดังนี้
พ.ศ. 2504-2505 : ประเทศเอธิโอเปีย
พบหลักฐานการตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อโรคอีโบลา ในช่วงที่มีการระบาดของไข้เหลือง
พ.ศ. 2515 : ประเทศซาอีร์ (ในปัจจุบันคือ ประเทศคองโก)
พบแพทย์รายหนึ่งป่วยด้วยโรคอีโบลา หลังผ่าศพผู้ป่วยรายหนึ่งที่เสียชีวิต
พ.ศ. 2519 : ประเทศซูดาน
พบการระบาดของโรคอีโบลาช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน มีผู้ป่วย 284 ราย เสียชีวิต 151 ราย เท่ากับมีอัตราการป่วยเสียชีวิตถึงร้อยละ 53
พ.ศ. 2519 : ประเทศซาอีร์ (ในปัจจุบันคือ ประเทศคองโก)
พบการระบาดของโรคอีโบลาช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม มีผู้ป่วย 318 ราย เสียชีวิต 280 ราย เท่ากับมีอัตราการป่วยเสียชีวิตถึงร้อยละ 88
พ.ศ. 2519 : ประเทศอังกฤษ
ในเดือนพฤศจิกายน มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการรายหนึ่งของอังกฤษป่วยด้วยโรคอีโบลา และได้รับการรักษาจนหาย
พ.ศ. 2520 : ประเทศซาอีร์ (ในปัจจุบันคือ ประเทศคองโก)
พบผู้ป่วยโรคอีโบลาเป็นเด็ก 1 ราย และเสียชีวิต
พ.ศ. 2522 : ประเทศซูดาน
ในเดือนกันยายน-ตุลาคม พบผู้ได้รับเชื้ออีโบลา จำนวน 34 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 22 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 65
พ.ศ.2532-2533 : เมือง Reston รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา
เชื้อไวรัสอีโบลา สายพันธุ์ Reston ถูกค้นพบในลิงที่ถูกนำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์
พ.ศ. 2535 : ประเทศอิตาลี
เชื้อไวรัสอีโบลา สายพันธุ์ Reston ถูกค้นพบในลิงที่ถูกนำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์
พ.ศ. 2537 : ประเทศกาบอง
พบผู้ป่วย 52 ราย เสียชีวิต 31 ราย คิดเป็นอัตราการป่วยเสียชีวิตร้อยละ 60
พ.ศ. 2537 : ประเทศโกตดิวัวร์
ในช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน พบลิงชิมแปนซี 12 ตัว จาก 40 ตัว ป่วยและตาย ขณะที่ผู้ที่ทำการผ่าซากลิงชิมแปนซีก็ติดเชื้ออีโบลาจากลิง จากรักษาตัวจนหาย
พ.ศ. 2538 : ประเทศซาอีร์ (ในปัจจุบันคือประเทศคองโก)
ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม พบผู้ป่วยอีโบลา 315 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 254 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 81
พ.ศ. 2539 : ประเทศกาบอง
ช่วงเดือนมกราคม-เมษายน พบผู้ป่วย 31 ราย เสียชีวิต 21 ราย อัตราการป่วยตายร้อยละ 68
พ.ศ. 2539 : ประเทศกาบอง
ช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม พบผู้ป่วย 60 ราย เสียชีวิต 45 ราย อัตราการป่วยตายร้อยละ 75 ทั้งนี้ ผู้ป่วย 1 รายเดินทางไปประเทศแอฟริกาใต้ และแพร่เชื้อไวรัสไปยังพยาบาลรายหนึ่ง ซึ่งต่อมาเสียชีวิต
พ.ศ. 2539 : รัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา
ในเดือนเมษายน เชื้อไวรัสอีโบลา สายพันธุ์ Reston ถูกค้นพบในลิงที่ถูกนำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์
พ.ศ. 2543-2544 : ยูกันดา
เกิดการระบาดครั้งแรกในประเทศยูกันดา กินเวลานานราว 5 เดือน มีผู้ป่วย 425 คน และเสียชีวิต 224 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 53
พ.ศ. 2544-2545 : ประเทศซาอีร์ (ในปัจจุบันคือประเทศคองโก)
พบผู้ป่วยจำนวน 59 คน เสียชีวิต 44 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 75
พ.ศ. 2544-2545 : ประเทศกาบอง
พบผู้ป่วยจำนวน 65 คน เสียชีวิต 53 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 82
พ.ศ. 2546 : ประเทศซาอีร์ (ในปัจจุบันคือประเทศคองโก)
เกิดการระบาดช่วงเดือนมกราคม-เมษายน พบผู้ป่วย 143 คน เสียชีวิต 128 คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 90
พ.ศ. 2546 : ประเทศซาอีร์ (ในปัจจุบันคือประเทศคองโก)
เกิดการระบาดอีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พบผู้ป่วย 35 คน เสียชีวิต 29 คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 83
พ.ศ. 2547-2555
ยังคงพบการระบาดในหลายประเทศที่เคยระบาดมาแล้วก่อนหน้านี้ เช่น คองโก ยูกันดา ซูดาน
พ.ศ. 2557 : ทวีปแอฟริกาตะวันตก
พบผู้ป่วยโรคอีโบลาในหลายประเทศทางทวีปแอฟริกาตะวันตก โดยพบมากที่สุดใน 3 ประเทศ คือ กินี, เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิต ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2557 อยู่ที่ 729 ราย ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ทั้งนี้ สถานการณ์ครั้งนี้ทำให้องค์การอนามัยโลกต้องสั่งเฝ้าระวัง และควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ลุกลามไปยังทวีปอื่น ๆ โดยมีข้อมูลระบุว่าการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาครั้งนี้รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กระทรวงสาธารณสุข