สธ. สั่งทุกโรงพยาบาลสำรองเซรุ่มแก้พิษงู 7 ชนิด ช่วงหน้าฝน


งูกัด

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          สธ. สั่งทุกโรงพยาบาลสำรองเซรุ่มแก้พิษงู 7 ชนิด ช่วงหน้าฝน น้ำท่วม พร้อมแนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด เตือน ห้ามโปะน้ำแข็ง พอกสมุนไพร กินแอสไพริน ขันชะเนาะเด็ดขาด

          เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2557 นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกหนัก หลายพื้นที่มีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง จึงได้กำชับให้สถานบริการในสังกัดทุกแห่งเตรียมความพร้อมป้องกันสถานบริการไม่ให้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พร้อมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม

          ทั้งนี้ในช่วงที่มีน้ำท่วมอาจทำให้ประชาชนได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมาอยู่ในบ้านเรือนได้ โดยเฉพาะงูพิษที่หากถูกกัดจะทำให้เสียชีวิต ซึ่งจากสถิติของปีที่ผ่านมาจะมีคนถูกงูกัดประมาณ 7,000-8,000 ราย และร้อยละ 50 ถูกกัดในช่วงหน้าฝนและน้ำท่วม

          ด้วยเหตุนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงได้สั่งให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนในสังกัด สำรองเซรุ่มแก้พิษงู 7 ชนิดที่พบบ่อย คือ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้ พร้อมให้การดูแลรักษาประชาชนทันที รวมทั้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันสัตว์มีพิษและงูกัด และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการเสียชีวิต

          ขณะที่นายแพทย์อนุรักษ์  อมรเพชรสถาพร  ผู้อำนวยการสำนักการสาธารณสุขฉุกเฉิน ให้คำแนะนำและการปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัดดังนี้

          1. ขอให้ตั้งสติ อย่าตกใจเกินไป

          2. สังเกตรอยแผลที่ถูกกัด หากเป็นงูพิษลักษณะรอยแผลเขี้ยวงูจะมีขนาดเล็กคล้ายถูกเข็มตำ โดยปกติจะมี 2 รอยอยู่คู่กัน แต่บางครั้งอาจจะเห็นเพียงรอยเดียวหากถูกกัดที่ปลายมือหรือปลายเท้า 

          3. ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ไม่กรีดแผล ดูดแผล ใช้ไฟหรือไฟฟ้าจี้แผล โปะน้ำแข็ง พอกสมุนไพร ดื่มเหล้า กินยาแก้ปวดที่มีแอสไพริน เนื่องจากจะยิ่งเพิ่มโอกาสติดเชื้อ ทำให้เนื้อตาย ไม่ได้เป็นการช่วยรักษาผู้ป่วย

          4. ไม่ขันชะเนาะ เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดเป็นเนื้อตายได้

          5. โทรแจ้งหน่วยแพทย์กู้ชีพ หมายเลข 1669 หรือให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที โดยพยายามเคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะที่ถูกกัดให้น้อยที่สุด เพื่อชะลอพิษงูซึมเข้าสู่ร่างกายช้าลง

          6. หากเป็นไปได้ควรนำซากงูที่กัดไปให้แพทย์ดูด้วย


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. สั่งทุกโรงพยาบาลสำรองเซรุ่มแก้พิษงู 7 ชนิด ช่วงหน้าฝน อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2557 เวลา 15:55:23 3,942 อ่าน
TOP
x close