อาหารสีดำมากคุณประโยชน์ดีต่อสุขภาพ
BLACK FOOD FOR GOOD HEALTH (รักลูก)
เรื่อง : แม่ลอง ตรวจสอบข้อมูลโดย ผศ.สุวรรณี อาจหาญณรงค์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีหกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
มื้อคุณภาพฉบับนี้ ชวนคุณมากินอาหารสีดำกันค่ะ ฟังแล้วอย่าเพิ่งยี้...ด้วยสีที่ไม่น่ากินนะคะ เพราะอาหารสีดำเมื่อนำมาปรุงร่วมกับอาหารอื่น ๆ แล้ว ก็ดูสวยและน่ากินได้ ที่สำคัญหากคุณได้อ่านประโยชน์ของอาหารสีดำเหล่านี้แล้วละก็ คุณจะต้องอึ้งว่าอาหารสีเข้ม ๆ นั้นมีคุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพขนาดนี้เชียวหรือ !
1. ผลไม้ และธัญพืชพืชสีดำ
แบล็คเบอร์รี
บ้านเราอาจะหากินยากหน่อยนะคะ แต่ว่าเจ้าผลไม้สีดำ ๆ ม่วง ๆ ชนิดนี้อุดมไปด้วยเส้นใยอาหารสูง ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจหลอดเลือดและมะเร็งลำไส้ได้ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างและพื้นฟูคอลลาเจน ทำให้ผิวหนังเราไม่เหี่ยวย่นเร็วก่อนวัยอันควร และยังมีวิตามินซี วิตามินอี และกรดเอลลาจิก ที่ช่วยบำรุงผิวให้สวยอีกด้วยล่ะ ใครไม่อยากแก่ห้ามพลาดนะคะ
ถั่วดำ
ถั่วดำถือว่าเป็นถั่วที่มีสารต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด เป็นแหล่งโปรตีน เส้นใยอาหาร และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ดีมากอีกด้วย ถั่วดำช่วยให้ระบบทางเดินอาหารดี ช่วยสร้างสมดุลของน้ำตาลในเลือด ไม่ให้เพิ่มหรือลดลงอย่างรวดเร็ว และสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ยิ่งไม่ควรพลาดค่ะ เพราะถั่วดำมีโฟเลต วิตามินบี 6 และแมกนีเซียมสูง มีคุณสมบัติในการรักษาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระมีธาตุเหล็กสูง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงที่เป็นตัวนำออกซิเจนไปสู่ทารกในครรภ์หากคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ค่ะ
องุ่นดำ
ผลจาการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิซิกน อกว่า องุ่นดำช่วยป้องกันโรคหัวใจ ช่วยลดความดันโลหิต และช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้ด้วย และยังมีสารต้านอนุมูอลิสระที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม ช่วยชะลอความชรา ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง สดใส ช่วยป้องกันการเสื่อมของเส้นประสาทสมอง ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสันเมื่ออายุมากขึ้นได้
งาดำ
อุดมไปด้วยวิตามินบีที่ช่วยบำรุงประสาท ดังนั้นการกินงาเป็นประจำ จะทำให้หลับสบายไม่อ่อนเพลีย ไม่เป็นโรคเหน็บชาหรืออาการปวดเส้นตามแขนขา ช่วยให้เจริญอาหาร และท้องไม่ผูกด้วย ทั้งยังช่วยควบคุมโคเลสเตอรอล ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดมีประโยชน์สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวานนะคะ เพราะจะช่วยลดความเข้มข้นของน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้
พริกไทยดำ
มีฤทธิ์ในการช่วยกระตุ้นประสาท ช่วยทำให้เจริญอาหาร ทำให้ลิ้นของผู้สูงอายุรับรสได้ดียิ่งขึ้น ช่วยรักษาโรคกระเพาะและลำไส้ลดการเกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหาร กระตุ้นความรู้สึกอยากกินอาหาร และในพริกไทยดำยังมีวิตามินซีที่ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการและแก้อาการไอ หอบหืด สะอึก แก้หวัด และลดไข้
2. ข้าว
ข้าวเหนียวดำ
อุดมไปด้วยวิตามิน ไม่ว่าจะเป็น วิตามิน เอ ที่ช่วยบำรุงสายตา วิตามินบี1 บี2 บี6 ช่วยบำรุงระบบประสาทส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และวิตามินอี ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย ช่วยในการหมุนเวียนโลหิต
ข้าวกล้องสีนิล
มีเส้นใยอาหารสูง และมีน้ำตาลต่ำ เนื่องจากเวลาที่เรากินเข้าไปแล้ว ข้าวจะเปลี่ยนจากแป้งเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดช้ากว่าการกินข้าวที่ขัดขาว จึงส่งผลให้อ้วนน้อยกว่า นอกจากนี้ยังช่วยต้านมะเร็ง และลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยค่ะ
3. เนื้อสัตว์
ไก่ดำ
เป็นอาหารบำรุงเลือดสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์และคนสูงอายุ มีประโยชน์ในแง่ช่วยขับฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen) ได้ ความดำของไก่ดำนั้นเกิดจากสาร "ไมอานิน" ที่มีสรรพคุณทางยาที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายคนเรา ยิ่งมีสีดำมากก็มีประโยชน์มากค่ะ และเนื้อไก่ดำนั้นยังมีไขมันต่ำมากกว่าเนื้อไก่ทั่วไป มีธาตุเหล็กสูงช่วยบำรุงเลือด ส่วนมากนิยมนำไปตุ๋นร่วมกับเครื่องยาจีน จะช่วยบำรุงสมอง เพิ่มสมรรถนะการทำงานของร่างกายและเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย
4. อาหารที่ผ่านการแปรรูปแล้ว
เบอร์เกอร์ดำ เส้นพาสต้าดำ
อาหารพวกนี้ไม่ได้เป็นสีดำตามธรรมชาติค่ะ แต่ผ่านการปรุงให้เป็นสีดำด้วยน้ำหมึกที่อยู่ในตัวปลาหมึก และเจ้าน้ำหมึกที่ว่าก็มีประโยชน์นะคะ เพราะจะมีโปรตีน ไขมันและเกลือแร่ (โดยเฉพาะเหล็ก) ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ
เฉาก๊วย
ช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับเสมหะ แก้คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ช่วยลดไข้แก้ตัวร้อน เป็นอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ มีเส้นใยอาหาร และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้หากนำต้นเฉาก๊วยมาต้มให้เดือดแล้วนำน้ำเฉาก๊วยมาดื่มเป็นประจำจะช่วยลดอาการโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานได้อีกด้วย
อาหารสีดำที่กล่าวมานั้นจะมีประโยชน์มากยิ่งขึ้นไปอีก ถ้ากินร่วมกับอาหารสีอื่น ๆ ให้หลากหลาย ครบ 5 สี เพื่อให้ได้ทั้งรสชาติที่อร่อย และได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน และสารต้านอนุมูลอิสระค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 31 ฉบับที่ 378 กรกฎาคม 2557