x close

สธ.เตือน ด้วงก้นกระดก-ด้วงน้ำมัน พิษแรงถึงตาบอด-ตาย


ด้วงก้นกระดก
ด้วงก้นกระดก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          สธ.เตือน ด้วงก้นกระดก-ด้วงน้ำมัน ขับสารพิษรุนแรง ถึงขั้นตาบอด และเสียชีวิตได้ ระบุช่วงหน้าฝนเป็นช่วงขยายพันธุ์ พบมากตามกองมูลสัตว์ พื้นดิน และกองไม้ นอกจากนี้ยังมักเข้ามาเล่นแสงไฟในบ้านเรือนชาวบ้าน เผยวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากโดนพิษให้รีบล้างน้ำ เช็ดด้วยแอมโมเนียทันที

          วันนี้ (11 พฤษภาคม) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์  รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า จากกรณีที่มีรายการหนึ่งได้สัมภาษณ์ผู้ที่เคยสัมผัสกับพิษของ "ด้วงก้นกระดก" ที่เพียงแค่สัมผัสแมลงชนิดนั้นก็ทำให้เกิดแผลผุพองขนาดใหญ่ ซึ่งจากการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์พบว่า ด้วงก้นกระดก หรือแมลงก้นกระดก หรือแมลงเฟรชชี่ จะพบมากในช่วงฤดูฝน โดยแมลงชนิดนี้ต้องการความชื้นเพื่อการขยายพันธุ์

          นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ขอเตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากแมลงมีพิษดังกล่าว เนื่องจากถ้าถูกสัมผัสตัวของมัน มันก็จะปล่อยสารพิษที่มีชื่อว่า "สารเพเดอริน" ออกมา ซึ่งจะส่งผลให้บริเวณที่สัมผัสเกิดแผลพุพอง ผิวหนังไหม้แดง ปวดแสบปวดร้อน มีไข้ และถ้าถูกพิษบริเวณดวงตาอาจจะทำให้ตาบอดได้

          รมช.สาธารณสุข ยังกล่าวอีกว่า สำหรับลักษณะทางกายภาพของแมลงก้นกระดกนั้น เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก มีความยาวเพียง 4-7 มิลลิเมตร มีลักษณะจำเพาะคือ ปีกคู่แรกแข็งและสั้น มีสีมันวาว ปีกคู่สองมีขนาดใหญ่ แต่จะมองไม่เห็นเด่นชัด ลำตัวเล็กเรียว ส่วนท้องยาวโผล่ออกมานอกปีก สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย โดยมันจะชอบงอส่วนท้องขึ้น ๆ ลง ๆ เมื่อเกาะอยู่กับที่ ทั้งนี้ แมลงก้นกระดกมีลักษณะสีสันต่างกัน แต่ชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทย คือตัวที่มีส่วนท้องเป็นสีส้ม ชาวบ้านชอบเรียกแมลงชนิดนี้ว่า ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นกระดก หรือด้วงก้นงอน ตามลักษณะของท้องที่งอขึ้น ๆ ลง ๆ  สำหรับแหล่งเพาะพันธุ์ของมัน จะอยู่ตามบริเวณพื้นดินชื้น เช่น ตามกองมูลสัตว์ พื้นดิน ในกองไม้ และชอบบินเข้ามาเล่นแสงไฟในบ้านเรือน

          นพ.สุรวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีด้วงน้ำมัน ซึ่งเป็นแมลงปีกแข็งเช่นเดียวกับด้วงก้นกระดก แต่มีขนาดใหญ่กว่า มีลำตัวยาว 3-3.5 เซนติเมตร ปีกคู่หน้ามีแถบสีเหลืองสลับดำอย่างละ 3 แถบ ชาวบ้านเรียกว่า ด้วงไฟถั่ว หรือด้วงไฟเดือนห้า ส่วนอันตรายของแมลงชนิดนี้คือ ชาวบ้านมักคิดว่าเป็นแมลงที่กินได้จึงนำไปรับประทาน ซึ่งถ้ารับประทานมากกว่า 3 ตัวขึ้นไป อาจจะทำให้เสียชีวิตได้ โดยจะมีอาการคออักเสบ กลืนอาหารลำบาก ปวดท้อง คลื่นไส้ อุจจาระร่วง อาเจียนเป็นเลือด ความดันโลหิตลดลง ปัสสาวะเป็นเลือด สลบ และเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลว แต่ถ้าหากด้วงน้ำมันโดนรบกวน มันก็จะขับของเหลวสีเหลืองอ่อนที่มีสารพิษแคนทาริดิน (cantharidin) ออกจากข้อต่อส่วนขาของมัน และถ้าพิษโดนผิวหนังก็ทำให้เกิดตุ่มพุพองอักเสบ อย่างไรก็ตาม สารพิษของมันไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ถึงแม้ว่าผู้รับประทานจะนำด้วงน้ำมันไปผ่านความร้อนด้วยวิธีใดก็ตาม

          ท้ายนี้ นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า สำหรับแมลง 2 ชนิดนี้ โดยปกติจะไม่กัดคน แต่ถ้าบังเอิญถูกแมลงไต่ตามร่างกาย แล้วไปทุบตีมันทำให้ลำตัวแตก สารพิษของมันก็จะถูกขับออกมา เป็นเหตุทำให้เกิดอาการดังกล่าว อย่างไรก็ดี ถ้าหากร่างกายสัมผัสถูกพิษให้รีบล้างน้ำให้สะอาด เช็ดด้วยแอมโมเนียทันที และไม่ควรสัมผัสบริเวณที่ถูกพิษ เพราะจะลุกลามและติดเชื้อซ้ำ ทางทีดีควรจะไปพบแพทย์ ส่วนวิธีป้องกันคือ ให้ลดความสว่างของแสงไฟเวลากลางคืน หรือปิดมุ้งลวดป้องกันแมลงให้มิดชิด เนื่องจากแมลงดังกล่าว มักจะเข้ามาเล่นแสงไฟในตอนกลางคืน


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ.เตือน ด้วงก้นกระดก-ด้วงน้ำมัน พิษแรงถึงตาบอด-ตาย อัปเดตล่าสุด 11 พฤษภาคม 2555 เวลา 16:20:41 1,827 อ่าน
TOP