กรมวิทย์ฯ สุ่มตรวจกะปิภาคใต้พบใส่สีต้องห้ามเกินครึ่ง เสี่ยงหน้าบวม-ท้องเดิน-ชา แนะผู้บริโภคเลือกกะปิสีสันไม่ฉูดฉาด
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2555 นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เปิดเผยข้อมูลการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์กะปิของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 ตรัง ในปี พ.ศ. 2552-2554 ซึ่งเก็บตัวอย่างกะปิจากจังหวัดกระบี่ ตรัง ระนอง รวม 88 ตัวอย่าง พบว่า มีการใช้สี 52 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 59.1 เป็นสีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร 49 ตัวอย่าง ซึ่งถ้าหากสีเหล่านี้สะสมอยู่ในร่างกายในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
โดย นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2555 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 ตรัง ได้เก็บตัวอย่างกะปิในเขตเทศบาลเมือง 6 จังหวัด คือ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล จำนวน 86 ตัวอย่าง ผลการตรวจคุณภาพด้านเคมี พบว่าผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 47.7 ไม่ผ่านร้อยละ 52.3 โดยมีสาเหตุคือ พบสีโรดามีน ร้อยละ 50, สีซันเซ็ต เยลโลว์ เอฟซีเอฟ ร้อยละ 9.3, สีเอโซรูบีน ร้อยละ 9.3 และสีปองโซ 4 อาร์ ร้อยละ 1.1 ส่วนผลการทดสอบกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกพบผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง
ทั้งนี้ สีโรดามีน บี อาจทำให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง หน้าบวม อาเจียน ท้องเดิน อาการชา เพลีย และอ่อนแรงคล้ายเป็นอัมพาต การทำงานของระบบทางเดินอาหาร ไต และตับเสีย สีบางชนิดอาจทำให้เกิดมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีอันตรายจากสารอื่นที่ติดมาเนื่องจากการสังเคราะห์หรือจากกระบวนการผลิตที่แยกเอาสารเจือปนออกไม่หมด เช่น แคดเมียม ปรอท ตะกั่ว สารหนู โครเมียม พลวง และเซเรเนียม ซึ่งพิษของโลหะหนักเหล่านี้อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
ทางด้าน น.ส.ธาริยา เสาวรัญ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 ตรัง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุการพบสีในกะปิ พบว่าเกิดจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกะปิ ได้แก่ กุ้งหมัก และเคย มีการใส่สีถึงร้อยละ 55.5 ดังนั้น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จึงแจ้งให้ผู้ผลิตเลือกซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพมีใบรับรอง และจัดทำฐานข้อมูลของแหล่งซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพ รวมทั้งให้คำแนะนำการผลิตกะปิตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารขั้นต้น เพื่อให้กะปิมีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมทั้งได้นำข้อมูลนี้เผยแพร่ไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศเพื่อเป็นข้อมูลเฝ้าระวังและพัฒนาการผลิตกะปิในภูมิภาคต่าง ๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้บริโภคและผู้ประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ควรเลือกซื้อกะปิที่ไม่ผสมสีและหลีกเลี่ยงไม่ซื้ออาหารที่มีสีฉูดฉาด
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก