เปิดตำราอายุวัฒนะ สุขภาพดีแบบไทย จีน อินเดีย (Lisa)
แพทย์แผนตะวันออกอย่างไทย จีน และอายุรเวทของอินเดีย ขึ้นชื่อและเป็นที่ยอมรับมานับพันปี เพราะเน้นที่การป้องกันมากกว่าการรักษา แถมยังสอดคล้องกับแนวทางธรรมชาติ แล้วถ้าเรารู้จักดึงไอเดียเด็ด ๆ มาปรับใช้ล่ะ อย่างนี้จะดีสักแค่ไหน
อย่ารอให้ป่วยแล้วต้องไปหาหมอเลย คนฉลาดรู้ดีว่าการดูแลตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอต่างหากคือกุญแจของความสุขและชีวิตที่ยืนยาว เช่นเดียวกับแนวทางแพทย์แผนตะวันออกที่บอกอยู่เสมอว่า ถ้ารู้จักใช้ชีวิตให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ เรื่องป่วยน่ะ ไม่ต้องพูดถึง
แพทย์แผนจีนบอกว่า…
ในคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง ซึ่งเป็นเอกสารต้นแบบทางแพทยศาสตร์ของจีนมีคำกล่าวว่า "ผู้ฉลาดจะไม่รักษาแต่โรคที่กำเริบแล้วอย่างเดียว แต่ต้องรักษาโรคที่ยังไม่กำเริบขึ้นด้วย เพราะหากรอให้เจ็บป่วยแล้วจึงค่อยรับประทานยารักษา เปรียบได้กับกระหายน้ำแล้วจึงไปขุดบ่อหรือเปิดศึกกับศัตรูแล้วจึงค่อยมาสร้างอาวุธ" รู้อย่างนี้แล้วลองแอบขโมย 10 ไอเดียง่าย ๆ แบบชาวจีนเหล่านี้มาปรับใช้ดูสิ สุขภาพจะได้แข็งแรงขึ้น
1. ลองหายใจให้เต็มปอด เข้าทางจมูก ออกทางปากแบบ "เข้าไม่ให้เศษขนเข้าจมูก ออกไม่ให้ขนสั่นไหว"
2. ผู้สูงอายุไม่ควรกินข้าวใหม่ แต่ควรกินข้าวเก่าเพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ
3. คนอายุน้อย เลือดและพลังยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ไม่ควรหมกมุ่นเรื่องกามารมณ์
4. วัยหนุ่มสาวกำลังแข็งแกร่ง เลือดและพลังสมบูรณ์ อย่าประมาทใช้ร่างกายไปชกต่อยทะเลาะวิวาท
5. วัยสูงอายุเลือดและพลังถดถอย ต้องควบคุมความอยากรู้และความประมาณตน ไม่คาดหวังหรือตั้งความหวังอะไรมากเกินไปจึงจะมีสุข
6. การนั่งสมาธิหรือการสงบอารมณ์ ช่วยควบคุมการไหลเวียนของเลือดและพลังให้เกิดการรวมศูนย์เพื่อนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
7. ออกท่องเที่ยวชมธรรมชาติ ภูเขา ลำธาร ทะเล ดอกไม้ ต้นไม้ เห็นการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ต้นไม้เกิดใหม่ ดอกไม้ร่วงหล่น ใบไม้ผลัดใบ จะทำให้เข้าใจกฎเกณฑ์แห่งชีวิตมากขึ้น
8. พบปะสังสรรค์กับผู้คนและเพื่อนสนิท เพื่อทำให้เกิดสภาพสังคมแวดล้อมที่ส่งเสริม เป็นกำลังใจ เป็นที่พึ่งพิงช่วยเหลือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ต่างกัน
9. คนที่ยังคำนึงถึงผลประโยชน์และชื่อเสียง ยากที่จะดูแลสุขภาพได้ดีเพราะกลไกพลังแปรปรวนตลอดเวลา
10. ควรนอนช่วง 21.00-06.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาหยินที่ร่างกายต้องการพักผ่อน หากนอนดึกตื่นสายแค่ไหนก็ได้ประโยชน์ถึงแค่ 06.00 น. เท่านั้น ดังนั้นคนที่นอนกลางวันทำงานกลางคืนสุขภาพจะไม่ดี
แพทย์แผนไทยบอกว่า…
ปรัชญาการรักษาโดยแพทย์แผนไทยมีอยู่ว่า "มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ดังนั้น การดำรงชีวิต การป้องกันโรค และการรักษาโรคต่าง ๆ ในแนวทางธรรมชาติบำบัดจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงและหายจากโรคได้อย่างถาวรมากขึ้น"
1. ทฤษฎีการนวดฝ่าเท้า มีความเชื่อว่าอวัยวะทั่วร่างกายเชื่อมต่ออยู่กับเท้า ฉะนั้น การนวดฝ่าเท้าจึงเป็นการกระตุ้นให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้อย่างสมดุล
2. ผักดองของไทยก็มีแลคโตบาซิลลัส ที่ช่วยย่อยอาหาร ทำให้ขับถ่ายดี เหมือนที่มีในนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต และอาจจะดีกว่าเพราะได้วิตามินและเกลือแร่จากผักด้วย
3. การอบสมุนไพรหรือซาวน่าแบบไทย ๆ ช่วยขับสารพิษออกทางเหงื่อ ทั้งยังช่วยนำพาสารอาหารมาเลี้ยงผิวหนังให้ดูสดใสเปล่งปลั่งขึ้นด้วย
4. แป้งเท้ายายม่อมที่นำมาใช้ทำขนมไทย อย่างขนมชั้น เปียกปูน เต้าส่วน ข้าวเกรียบปากหม้อและบัวลอย เป็นต้นนั้น เมื่อกินแล้วมีสรรพคุณทำให้อารมณ์และจิตใจสมดุล รู้สึกสดชื่น และแก้เบื่ออาหารได้
5. ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยนำผงฟ้าทะลายโจรมาพอกหน้าจะสามารถรักษาอาการสิวอักเสบ บวมแดงได้
6. งานวิจัยยืนยันว่าถ้ากินขมิ้นชันทุกวัน จะช่วยป้องกันมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคในระบบทางเดินอาหาร
7. เปลี่ยนจากน้ำสลัดหวานข้นแบบฝรั่งมาเป็นแบบไทยที่ช่วยต้านโรคหวัด ด้วยส่วนผสมสมุนไพร ใบกะเพราสด ขิงแก่ ฟักทองนึ่ง ตะไคร้ ขมิ้น หัวหอมแดง ดอกอัญชัน ใบสะระแหน่ นำมาปั่นรวมกัน ตามด้วยน้ำส้ม มัสตาร์ด น้ำส้มสายชูและน้ำมะนาว แล้วปั่นต่อ ก่อนมารวมกับน้ำตาล นมถั่วเหลือง และนมข้นไขมันต่ำ ใช้ตะกร้อตีรวมจนเป็นเนื้อเดียวกัน ตบท้ายด้วยน้ำมันรำข้าว
8. ผักตำลึงช่วยรักษาโรคเบาหวาน โดยใช้เถาแก่หนึ่งกำมือนำมาต้มกับน้ำ หรือจะใช้น้ำคั้นจากผลดิบดื่มวันละ 2 รอบเช้า-เย็น จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและเพิ่มระดับอินซูลิน
9. กระแจะจันทน์เครื่องหอมประทินผิว ที่สาวไทยในอดีตจะมีวางติดไว้บนโต๊ะเครื่องแป้งนั้น มีสรรพคุณแก้ฝ้า แก้สิว รักษาผิวพรรณ และทำให้ผิวขาวสดใส
10. สำรับอาหารพื้นบ้านให้คุณค่าครบถ้วน ตามอาหารหลัก 5 หมู่คือมีคาร์โบไฮเดรตจากข้าว มีโปรตีนจากปลา มีน้ำมันและไขมันจากะทิ ถั่วงา มีพืชผักนานาชนิดเป็นแหล่งวิตามินและเกลือแร่
แพทย์แผนอายุรเวทบอกว่า…
อายุรเวท (Ayurveda) เป็นคำในภาษาสันสกฤตหมายถึงศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต แพทย์ฮินดูยึดหลักการรักษานี้ตั้งแต่เมื่อห้าพันปีมาแล้วโดยเน้นให้ความสำคัญกับสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด
1. อาหารที่รับประทานควรมีครบทั้ง 6 รสชาติ คือเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด โดยไม่มีการใช้สารปรุงแต่งรสชาติใด ๆ ทั้งสิ้น การเน้นรสใดรสหนึ่งมากเกินไปจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เช่น กินหวานทำให้ตามัว กินเค็มทำให้ผมขาว
2. เมื่อเตรียมอาหารควรมีความรัก ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความรู้สึกดีต่อกัน หลีกเลี่ยงการทำอาหารตอนโกรธ ฉุนเฉียว หรือขณะที่อารมณ์ไม่ดี
3. คนธาตุน้ำและธาตุดิน เหมาะกับการออกกำลังประเภทเดินเร็ว
- คนธาตุไฟ ควรลดความร้อนในตัวด้วยการออกกำลังแบบไม่เร็วหรือช้าเกินไป เช่น เดินเล่นในสวนที่มีต้นไม้หรือใต้แสงจันทร์
- ส่วนคนธาตุลม เน้นการออกกำลังแบบผ่อนคลายและทำให้สงบ เช่น โยคะ (ธาตุในที่นี้เน้นที่ลักษณะเฉพาะบุคคลแบบอินเดีย (Dosha) ไม่ใช่ราศีเกิด)
4. เพิ่มจำนวนสเปิร์ม และเสริมสมรรถภาพทางเพศได้ด้วยกะหล่ำแรดิชประมาณ 3-5 กรัม ปอกเปลือกแล้วปั่นผสมน้ำตาลนิดหน่อย แบ่งกินวันละสองครั้ง หลังตื่นตอนเช้าและก่อนเข้านอน
5. ปิดรับพลังงานลบ ทำจิตใจให้ปลอดจากความโกรธ อิจฉา เครียด โลภ เกลียด เศร้า และอารมณ์ด้านลบอื่น ๆ การสวดภาวนาและทำสมาธิช่วยได้ รวมทั้งไม่นินทาผู้อื่นและเลือกทำแต่สิ่งที่นำความสุขมาให้
6. คงน้ำหนักตัวที่เหมาะสมตามดัชนี BMI การอ้วนหรือผอมไปไม่ดีทั้งนั้น
7. นมอุ่น ๆ สักแก้วก่อนนอน จะช่วยให้หลับสบาย ทำให้ลืมความเครียดและความกังวลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาตลอดทั้งวัน
8. การกำหนดลมหายใจเข้าออก (ปราณายามะ) เป็นการฝึกหายใจที่นำพาให้เกิดสติและความสดชื่นจากภายใน
9. การนอนกลางวันไม่ดีต่อสุขภาพ
10. การบังคับตัวเองไม่ให้หาว จาม เรอ ผายลม หรืออาการทางธรรมชาติของร่างกายต่าง ๆ เป็นผลให้เกิดความผิดปกติของสุขภาพตามมา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก