โรครุมเร้าแน่ หากอ่านหนังสือจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
          
          อ่านหนังสือจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอนที่ใคร ๆ ก็รู้ดีว่าไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะแสงสีฟ้าจากจออิเล็กทรอนิกส์ทำร้ายดวงตาของเรา แต่จะมีสักกี่คนที่ฉุกคิดว่า เรานอนไม่พอ ป่วยง่ายขึ้น ก็เพราะเจ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้นี่แหละ
 
          การเล่นเฟซบุ๊ก แชทไลน์ อัพรูปลงอินสตราแกรม ฟังเพลงในยูทูบ ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมบันเทิงใจก่อนนอนของใครหลายคน มิหนำซ้ำบางคนยังแอบนอนเล่นตอนปิดไฟมืดแล้วด้วย ทั้งที่ก็รู้ดีว่ากำลังทำพฤติกรรมที่บ่อนทำลายสุขภาพอยู่ กระปุกดอทคอมจึงอยากนำเสนอข้อมูลดี ๆ จากเว็บไซต์ Telegraph.com ช่วยเตือนให้เพลา ๆ พฤติกรรมเหล่านี้ให้น้อยลงหน่อย เพราะแค่การนอนเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เพียงวันละ 1 ชั่วโมงก็สามารถทำให้เรากลายเป็นผู้ป่วยหลายโรครุมเร้าได้โดยไม่รู้ตัว เริ่มสงสัยกันแล้วใช่ไหมว่าเพราะอะไร ไปหาคำตอบกันเลยจ้า
 
          รู้หรือไม่ว่า อวัยวะภายในของเราก็มีกระบวนการทำงานตามเวลาเหมือนกัน เรียกว่า นาฬิกาชีวิต (Biology Clock) โดยจะขับเคลื่อนไปตามปริมาณการรับรู้แสงด้วยกลุ่มเซลล์ที่มีชื่อว่า SCN เป็นกลุ่มเซลล์ขนาดเล็กในส่วนของสมองไฮโปทาลามัส มีความยาวเชื่อมต่อกับจอประสาทตา ทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์รับรู้แสงเมลาน็อปซิน (Melanopsin) ช่วยควบคุมระบบการทำงานของอวัยวะภายในและต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ในร่างกายให้ขับเคลื่อนไปตามธรรมชาติ เช่น สร้างสมดุลอุณหภูมิของร่างกาย ควบคุมความดันเลือด ควบคุมการเต้นของหัวใจ และปรับสมดุลวงจรการหลับ และตื่น เป็นต้น ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่ถึงเวลากลางคืนแล้ว แต่ยังมีแสงอื่นมากระทบกับจอประสาทตาของเราอยู่ ร่างกายก็จะปรับระบบการทำงานให้เป็นไปตามการรับรู้แสงนั้น ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้แสงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ดีต่อเรา โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนนอน


 
          จากผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด เผยว่า คนที่มีพฤติกรรมการนอนอ่านหนังสือจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอนติดต่อกันนาน 3 คืนต่อสัปดาห์ มีแนวโน้มที่ร่างกายจะอ่อนแอง่ายกว่าคนที่ไม่เคยมีพฤติกรรมแบบนั้นเลย ทีมนักวิจัยจึงได้ทำการทดลองกับอาสาสมัคร 12 คนในห้องแล็บเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยแบ่งเป็นสัปดาห์หนึ่งอ่านหนังสือบนกระดาษธรรมดา และอีกสัปดาห์หนึ่งอ่านหนังสือจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เมื่อครบในแต่ละสัปดาห์จะมีการเจาะเลือดไปตรวจระดับฮอร์โมนเมลาโทนินในร่างกายเพื่อวัดผล 
 

          ผลทดลองในครั้งนี้สรุปได้ว่า ผลตรวจเลือดของอาสาสมัครในสัปดาห์ที่อ่านหนังสือจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์นั้น ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเมลาโทนินต่ำกว่าปกติ  เกิดจากการที่ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานไม่เป็นปกติ เป็นเพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ขัดขวางการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินให้น้อยลงจากเดิม ทำให้นอนหลับไม่สนิทในตอนกลางคืน

          นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังคงพบข้อมูลอีกว่า ร้อยละ 90 ของชาวอเมริกันมีพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอนโดยเฉลี่ยแล้ว 1 ชั่วโมง อย่างน้อย 2-3 คืนต่อสัปดาห์ จึงทำให้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับในตอนกลางคืน เช่น นอนไม่หลับ และหลับไม่สนิทดี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสุขภาพของชาวอเมริกันเมื่อ 50 ปีก่อนจะพบว่า สุขภาพของคนอเมริกันทุกวันนี้อ่อนแอลงกว่าแต่ก่อนมาก ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบมาจากการนอนหลับไม่เพียงพอสะสมมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลงไปทีละน้อย สามารถเจ็บป่วยเป็นโรคได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ภาวะโลหิตจาง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น และโรคในกลุ่มเมตาบอลิก ซินโดรม เช่น  โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคเบาหวาน เป็นต้น

          เมื่อรู้ผลเสียที่จะตามมาจากการอ่านหนังสือบนจออิเล็กทรอนิกส์แบบนี้แล้ว ก็อย่าลืมปรับพฤติกรรมก่อนนอนกันด้วยนะคะ หากใครยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เราขอแนะนำว่าอาจเริ่มจากการหยุดเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดก่อนเข้านอนประมาณ 1 ชั่วโมง หากนอนไม่หลับก็ให้นอนหลับตาเฉย ๆ อย่างนั้นไว้ก่อน เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้เพิ่มเวลานอนให้ร่างกายเราได้แล้ว










เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรครุมเร้าแน่ หากอ่านหนังสือจากหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2560 เวลา 16:05:23 1,358 อ่าน
TOP
x close