น้ำเกลือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เราได้ยินชื่อกันมานาน หลายคนอาจจะสงสัยว่าจริง ๆ แล้วน้ำเกลือนั้นทำมาจากอะไรกันแน่ ทำมาจากน้ำสะอาดผสมเกลือหรือเปล่า บางคนก็ถึงกับแอบชิมน้ำเกลือเลยก็มีเพราะสงสัยมานาน แต่รสชาติที่ได้ก็กลับไม่เค็มอย่างที่คิด ทำให้ยิ่งสงสัยกันยิ่งกว่าเดิม ขอบอกเลยว่าไม่ต้องไปแอบชิมน้ำเกลือให้เสียเวลาแล้วนะ วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับน้ำเกลือให้มากขึ้น ไขข้อข้องใจให้กระจ่างเสียทีว่า น้ำเกลือคืออะไรกันแน่ แล้วเมื่อไรที่เราจะต้องใช้น้ำเกลือ ต้องป่วยอย่างเดียวหรือเปล่าถึงจะได้รับน้ำเกลือ แล้วมีเรื่องอะไรที่เราต้องระมัดระวังในการใช้่น้ำเกลือบ้างล่ะ?
น้ำเกลืออะไร
น้ำเกลือ ไม่ใช่น้ำผสมเกลือแต่อย่างใด แถมยังไม่มีรสชาติเค็มอย่างที่หลาย ๆ คนหวังอีกด้วย เพราะจริง ๆ แล้ว น้ำเกลือนั้นผลิตมาจากองค์ประกอบเกลือแร่ต่าง ๆ เช่น โซเดียมคลอไรด์ ไบคาร์บอนเนต และฟอสเฟตบางชนิด เช่น โพแทสเซียม นอกจากนี้ยังมีน้ำตาล ซึ่งน้ำตาลนั้นจะถูกแบ่งย่อยอีกเป็นอีกหลายชนิด และขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำตาลที่แตกต่างกันค่ะ นอกจากนี้น้ำเกลือยังแบ่งออกเป็นอีก 3 ประเภทคือ น้ำเกลือประเภทที่ต้องให้ทางสายยาง น้ำเกลือประเภทประเภทชงดื่ม และน้ำเกลือแร่ที่นักกีฬานิยมดื่มหลังจากการออกกำลังกายค่ะ
น้ำเกลือแร่แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร
เราทราบกันแล้วว่า น้ำเกลือ หรือ น้ำเกลือแร่ นี้มีทั้งหมด 3 ประเภท ซึ่งบางคนอาจจะสงสัยว่าทั้ง 3 ประเภทนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งขอบอกเลยค่ะว่าน้ำเกลือทุกประเภทใช้เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและแร่ธาตุบางชนิดในร่างกาย โดยน้ำเกลือที่ให้ผ่านสายยางที่เราเห็นกันจะใช้ในกรณีที่แพทย์สั่งเท่านั้น ส่วนน้ำเกลือแบบที่ชงดื่มจะใช้ในกรณีที่เกิดอาการท้องร่วงเท่านั้น ไม่สามารถใช้แทนเครื่องดื่มเกลือแร่ที่ดื่มหลังออกกำลังกายได้ รวมทั้งเครื่องดื่มเกลือแร่ก็เช่นกันค่ะ นั่นก็เป็นเพราะว่าเกลือแร่แบบผงและเครื่องดื่มเกลือแร่จะมีปริมาณแร่ธาตุบางชนิด อาทิเช่น โซเดียม และโพแทสเซียมในปริมาณที่แตกต่างกันค่ะ ส่วนน้ำเกลือที่ให้ผ่านสายยางนั้น จะเป็นน้ำเกลือที่มีความใกล้เคียงกับปริมาณเกลือแร่ในเลือดค่ะ
ชนิดของน้ำเกลือ น้ำเกลือมีกี่แบบกันแน่
น้ำเกลือมีหลายชนิด แต่ที่มีการใช้เป็นประจำนั้นจะมีอยู่ 4 ชนิด ดังนี้
1. นอร์มัลซาไลน์ (Normal Saline Solution หรือ NSS)
น้ำเกลือชนิดนี้เป็นน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นของเกลือ 0.9 % เทียบเท่ากับความเข้มข้นของเกลือในเลือดของคนที่มีสุขภาพปกติ
2. 5% เดกซ์โทรส (5% Dextrose in water หรือ 5% D/W)
น้ำเกลือชนิดนี้เป็นน้ำเกลือชนิดที่ไม่มีเกลือแร่ผสม แต่เป็นน้ำเกลือที่มีน้ำตาลเดรกซ์โทรสความเข้มข้น 5% ผสมแทน เหมาะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือมีการอดอาหาร
3. 5% เด็กซ์โทรสในนอร์มัลซาไลน์ (5% Dextrose in NSS หรือ 5% D/NSS)
น้ำเกลือชนิดนี้เป็นคือน้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเดกซ์โทรสความเข้มข้น 5% มักใช้ในเด็กที่มีภาวะขาดน้ำ ช็อก อดอาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือเด็กที่เป็นไข้เลือดออก
4. 5% เดกซ์โทรสใน 1/3 นอร์มัลซาไลน์ (5% Dextrose in 1/3 NSS)
น้ำเกลือชนิดนี้จะมีน้ำตาลเดกซ์โทรสเข้มข้น 5% ผสมกับน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.3 % ซึ่งเป็นน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นเพียง 1 ใน 3 ของน้ำเกลือนอร์มัลซาไลน์ ใช้สำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะขาดน้ำ ช็อก อดอาหาร หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และห้ามใช้ในเด็กเล็ก รวมทั้งผู้ที่มีภาวะหัวใจวาย ไตวาย ความดันโลหิตสูง หรือร่างกายบวม ยกเว้นในบางรายที่มีภาวะขาดเกลือค่ะ
ทำไมต้องให้น้ำเกลือ? คนเราให้น้ำเกลือเพื่ออะไรกันแน่
ต้องขอบอกเลยว่าน้ำเกลือไม่ได้ช่วยให้คนเราสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น หรือบำรุงสุขภาพแต่อย่างใด เพราะจริง ๆ แล้วสาเหตุที่ต้องให้น้ำเกลือก็เนื่องจากผู้ที่ป่วยหรือสูญเสียน้ำในร่างกายมากเกินไปจะมีปริมาณเกลือแร่ในร่างกายต่ำ จนอาจจะทำให้เกิดการอ่อนเพลีย ซึมเศร้า และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ การให้น้ำเกลือก็เพื่อไปเติมปริมาณเกลือแร่ และแร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกายให้กลับคืนสู่ระดับปกติของร่างกายค่ะ
น้ำเกลือควรใช้เมื่อไร
สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องรู้ก็คือ น้ำเกลือไม่ใช่ยาบำรุงร่างกาย และไม่ใช่ยาบำรุงเลือด ดังนั้นไม่ใช่ทุกกรณีเสมอไปที่เมื่อป่วยแล้วจำเป็นจะต้องได้รับน้ำเกลือ ซึ่งน้ำเกลือประเภทนี้จะให้คนไข้โดยการใช้เข้มเจาะเข้าไปที่เส้นเลือดดำแล้วค้างไว้เพื่อให้น้ำเกลือเข้าสู่ร่างกายได้สะดวก โดยปกติแล้วแพทย์จะเป็นผู้สั่งให้ใช้น้ำเกลือก็ต่อเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) จากอาการท้องเดิน, อาเจียนอย่างรุ่นแรง และโรคหอบ
- ภาวะช็อก (Shock) จากการเสียน้ำ หรือเสียเลือดเป็นจำนวนมาก
- ภาวะหมดสติ หรือช่วงที่ไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้
- ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อันมีสาเหตุมาจากการอดอาหารเป็นเวลานาน หรือผู้ที่มีอาการติดเหล้า นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาเกินขนาดก็จำเป็นจะต้องได้รับน้ำตาลเช่นกัน
- ผู้ป่วยที่จำเป็นจะต้องอดอาหารและน้ำก่อนทำการผ่าตัด
- ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาผ่านหลอดเลือดน้ำวันละหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้สะดวกในการฉีดยา
ประโยชน์ของการให้น้ำเกลือ
กาให้น้ำเกลือผ่านทางสายยางเข้าสู่เส้นเลือดนั้นมีประโยชน์เพื่อช่วยรักษาสมดุลของน้ำและสารน้ำในร่างกาย รวมทั้งรักษาสมดุลของความเป็นกรดด่างของเกลือแร่ในร่างกายอีกด้วย นอกจากนี้ในกรณีที่ร่างกายสูญเสียพลังงานอย่างหนัก น้ำเกลือก็สามารถช่วยทดแทนพลังงานได้ชั่วคราวอีกด้วย ทำให้ร่างกายไม่อ่อนเพลียค่ะ
ข้อควรระวังในการใช้น้ำเกลือ
แม้น้ำเกลือจะช่วยในการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วย แต่ห้ามใช้ในผู้ที่ป่วยด้วยโรคหรืออาการบางชนิดค่ะ นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังอื่น ๆ ดังนี้
1. ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคไตวาย โรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีอาการร่างกายบวม ภาวะน้ำคั่งในปอด หรือปอดบวมน้ำ
2. ควรรักษาความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ให้น้ำเกลือ เพราะหากอุปกรณ์ที่ใช้ในการให้น้ำเกลือไม่สะอาด อาจจะทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้
3. ควรระมัดระวังในเรื่องของฟองอากาศ เพราะหากในสายน้ำเกลือมีฟองอากาศ ฟองอากาศเหล่านั้นก็จะเข้าไปในหลอดเลือดดำและเข้าสู่หัวใจซึ่งทำให้เป็นอันตรายได้
4. ควรเลือกน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นของเกลือเท่ากับความเข้มข้นของเกลือในเลือด เพราะหากร่างกายได้รับเกลือแร่ที่มีความเข้มข้นเกินไปอาจจะทำให้เสียชีวิตได้
5. หากมีอาการไข้และหนาวสั่น ให้หยุดให้น้ำเกลือ และรีบฉีดยาแก้แพ้ทันทีเพื่อความปลอดภัยค่ะ
ให้น้ำเกลือตอนป่วยทำให้อ้วนหรือเปล่านะ
หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่าการให้น้ำเกลือเวลาที่ป่วยอาจจะทำให้อ้วนขึ้นได้ เลยพาลทำให้เวลาป่วยนี่แทบไม่อยากจะให้พยาบาลเจาะสายน้ำเกลือกันเลย ซึ่งจริงแล้วเป็นความเชื่อที่ผิดเลยล่ะค่ะ เพราะการให้น้ำเกลือนั้นไม่ได้ทำให้อ้วนขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากน้ำเกลือนั้นจะถูกให้เพื่อทดแทนพลังงานแก่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ที่มีความรู้สึกว่าอ้วนขึ้นนั้นก็เป็นเพราะว่าปริมาตรของเหลวในร่างกายเพิ่มขึ้นจนร่างกายขับออกไม่ทันเท่านั้นเองค่ะ ซึ่งถ้าหากหยุดให้น้ำเกลือร่างกายก็จะขับของเหลวออก อาการบวมที่เรารู้สึกก็จะหายเป็นปกติ แต่อาการบวมน้ำเกลือก็เกิดขึ้นได้น้อย เพราะแพทย์และพยาบาลนั้นจะมีการเฝ้าระวังเรื่องการบวมน้ำเกลือและภาวะแทรกซ้อนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วค่ะ
ได้รู้จักน้ำเกลือมากขึ้นแล้วแบบนี้ คงคลายข้อสงสัยกันไปได้มากเลยใช่ไหมล่ะ ยังไงก็อย่าลืมนะคะว่าน้ำเกลือไม่ใช่ยาบำรุงร่างกาย หากไม่จำเป็นก็อย่าใช้เลยจะดีกว่า แล้วก็อย่าซื้อมาใช้เองโดยที่แพทย์ไม่ได้เป็นผู้สั่งหรือดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอันตรายอาจจะเกิดขึ้นได้ จะทำอะไรอยู่ใกล้มือหมอดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : Thailabonline.com, หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล